รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 21 สิงหาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 21, 2009 11:25 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 ส.ค. 2552

Summary

1. ธปท. ออกพันธบัตรออมทรัพย์ 5 หมื่นล้าน อายุ 4 ปี ให้ดอกเบี้ย 3.5% อายุ 7 ปี

2. การลงทุนในภาคใต้ตอนบนทรุดหนัก

3. เศรษฐกิจไต้หวันเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวในไตรมาส 2 ปี 2552

Highlight
1. ธปท. ออกพันธบัตรออมทรัพย์ 5 หมื่นล้าน อายุ 4 ปี ให้ดอกเบี้ย 3.5% อายุ 7 ปี
  • นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. เตรียมเสนอขายพันธบัตรออมทรัพย์ วงเงิน 5 หมื่นล้านบาทในวันที่ 3-7 ก.ย. 52 โดยพันธบัตรรุ่นอายุ 4 ปี กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ที่ร้อยละ 3.50 ในขณะที่พันธบัตรรุ่นอายุ 7 ปี กำหนดอัตราออกเบี้ยแบบขั้นบันได โดยปีที่ 1-2 ให้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ปีที่ 3-4 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ปีที่ 5-6 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 และปีที่ 7 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การออกพันธบัตรออมทรัพย์ในครั้งนี้ของ ธปท. จะเป็นการบริหารสภาพคล่องในตลาดเงินของประเทศให้เหมาะสม เนื่องจากล่าสุด ณ สิ้น เม.ย. 52 สภาพคล่องส่วนเกินอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านบาท ดังนั้น การออกพันธบัตรออมทรัพย์ของ ธปท. ครั้งนี้คาดว่าจะไม่กระทบต่อสภาพคล่องในระบบมากนัก นอกจากนี้ ยังเป็นทางเลือกการออมเงินของผู้ต้องการลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์อีกทางหนึ่ง
2. การลงทุนในภาคใต้ตอนบนทรุดหนัก
  • ผอ.ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 6 (BOI) เปิดเผยว่า การลงทุนในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 52 (เดือน ม.ค. - ก.ค.) มีโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจำนวน 24 โครงการ งบลงทุน 4,128 ล้านบาท ลดลงกว่าปี 51 ที่มีการลงทุน 12,352 ล้านบาท เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ การท่องเที่ยวที่ชะลอตัว และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009
  • สศค. วิเคราะห์ว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยหลักทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวในปี 51 และหดตัวลงในไตรมาสแรกปี 52 จึงส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวตามไปด้วย โดยไตรมาสแรกปี 52 การลงทุนภาคเอกชนหดตัวที่ร้อยละ -17.7 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวลดลงมาก และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ระดับต่ำคาดว่าจะส่งผลให้ต้นทุนในการประกอบการลดลง ซึ่งจะเอื้อต่อการลงทุนเอกชนในระยะต่อไปได้ นอกจากนี้ ยังคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 52 เนื่องจากเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (SP2) ที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจะช่วยดึงให้ภาคเอกชนลงทุนเพิ่มขึ้นตาม
3. เศรษฐกิจไต้หวันเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวในไตรมาส 2 ปี 2552
  • GDP ไต้หวันไตรมาสที่ 2 ปี 52 หดตัวที่ร้อยละ -7.54 ต่อปี หดตัวในอัตราชะลอลงจากไตรมาส 1 ปี 52 ที่หดตัวถึงร้อยละ -10.13 ต่อปี (ตัวเลขปรับปรุง) และเป็นอัตราการหดตัวที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2551 ขณะที่หากพิจารณารายไตรมาสพบว่าเศรษฐกิจไต้หวันเติบโตถึงร้อยละ 20.69 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (qoq annualized) เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจไต้หวันน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไต้หวันเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวมาจากทั้งอุปสงค์ภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น และการที่เศรษฐกิจไต้หวันเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีนในระดับสูงทั้งในแง่การค้าและการลงทุน ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนที่เร่งเบิกจ่ายในช่วงครึ่งแรกของปี 52 จึงส่งผลให้ความต้องการสินค้าวัตถุดิบ โดยเฉพาะในหมวดอิเล็กทรอนิกส์จากไต้หวันปรับตัวสูงขึ้น โดยจะเห็นได้จากตัวเลขการส่งออกของไต้หวันมีแนวโน้มดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 ต่อเนื่องถึงเดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ตาม จีนเริ่มมีการชะลอการนำเข้าแล้ว เป็นสัญญาณว่าไต้หวันและประเทศอื่นๆ ในเอเชียที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักจำเป็นต้องกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจให้ผ่านวิกฤตครั้งนี้ได้

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ