รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 24 สิงหาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 24, 2009 11:48 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 ส.ค. 2552

Summary

1. สติกกริทซ์กังวลมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐทำให้เงินเฟ้อสูงในอนาคต

2. คลังประกาศตัวเลขหนี้สาธารณะเดือน มิ.ย. 52 อยู่ที่ร้อยละ 43.4 ต่อจีดีพี

3. เศรษฐกิจยุโรปส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน

Highlight
1. สติกกริทซ์กังวลมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐทำให้เงินเฟ้อสูงในอนาคต
  • นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล นายโจเซฟ สติกกริทซ์ (Joseph Stiglitz) ให้ทรรศนะว่า การครอบครองเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในตอนนี้มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลของสหรัฐและยุโรปทำให้มีเงินดอลลาร์สหรัฐไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกจำนวนมาก นับเป็นเรื่องยากที่ธนาคารกลางของสหรัฐ (FED) จะสามารถดูดซับสภาพคล่องกลับได้ตามต้องการและอาจทำให้เกิดปัญหาการเก็งกำไรค่าเงินทั่วโลกตามมา ดังนั้นควรมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของระบบเงินทุนสำรองทั่วโลกที่ปัจจุบันยึดติดอยู่กับการถือดอลลาร์สหรัฐมากเกินไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในอนาคตเป็นไปได้สูงที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อโลกจะเพิ่มขึ้นจากการที่รัฐบาลสหรัฐใช้มาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ทำให้ต้องออกพันธบัตรเป็นจำนวนมาก รวมถึงเป็นไปได้ว่าอาจจะต้องขอให้ Fed เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล (Monetization of Fiscal Deficit) ซึ่งจะทำให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงและเงินเฟ้อสูง ดังนั้น เพื่อปัญหาดังกล่าว ทางการของประเทศต่าง ๆ จะต้องลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐลง และหันมาถือพันธบัตรสกุลเงินเอเชีย เพื่อลดความไม่สมดุลทางการเงินโลกลง โดยประเทศเอเชียควรจะลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคให้มากขึ้น เพื่อสร้างความสามารถในการผลิต (Productivity) ในระยะยาว ในขณะที่สหรัฐจะต้องลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด รวมถึงจะต้องเก็บออมให้มากขึ้น
2. คลังประกาศตัวเลขหนี้สาธารณะเดือน มิ.ย. 52 อยู่ที่ร้อยละ 43.4 ต่อจีดีพี
  • ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 มิ.ย.52 มีจำนวน 3.831 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.4 ของ GDP ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 2,796 ล้านบาท จากการลดลงของหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง จำนวน 11,446 ล้านบาท จากการปรับลดระดับตั๋วเงินคลังลง จำนวน 16,000 ล้านบาท เพื่อปรับระดับดุลเงินสดให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดรับ - จ่ายของรัฐบาลในเดือนดังกล่าว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การลดลงของหนี้สาธารณะในเดือนมิ.ย. 52 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 43.38 ของ GDP จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับร้อยละ 43.41 ของ GDP นั้น เนื่องจากเป็นการลดลงของหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน และหนี้กองทุนเพื้อการฟื้นฟูฯ ลดลงจำนวน 11.4 2.1 และ 3.2 พันล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสถานะของหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 52 พบว่ายังมีเสถียรภาพที่ดี เนื่องจาก 1) หนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้สกุลเงินบาท ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 90.1 ของหนี้สาธารณะคงค้าง 2) หนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 88.2 ของหนี้สาธารณะคงค้าง และ3) สัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ในเดือน มิ.ย.52 ยังคงอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดสัดส่วนไว้ไม่เกินร้อยละ 50.0 ต่อ GDP
3. เศรษฐกิจยุโรปส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน
  • สำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) รายงานว่า เป็นไปได้สูงว่าเศรษฐกิจยุโรปจะฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 นี้ เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้ผลิตต่อผลกำไรในอนาคตปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Markit’s Composite Purchasing Index (PMI)) สำหรับเขตเศรษฐกิจยูโร (Eurozone) เพิ่มขึ้นในเดือนสิงหาคมถึง 3 จุด มาอยู่ที่ 50 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยน (Turning point) ที่สำคัญระหว่างการหดตัวและการขยายตัวของเศรษฐกิจยุโรป โดยปัจจัยที่สำคัญของการขยายตัวมาจากเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 2 แห่งในยุโรป โดยธุรกิจบริการในเยอรมนีขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน ขณะที่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของฝรั่งเศสมีแนวโน้มดีขึ้นเป็นครั้งแรกนักจากเดือน พ.ค. 51
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจยุโรปเป็นผลจาก (1) ภาคการส่งออกขยายตัว โดยได้รับอานิสงส์จากความต้องการตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะจีน และ (2) ภาคการบริโภคและลงทุนภายในประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะเยอรมนีและฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของยุโรปยังคงมีความเปราะบางสูง จาก (1) อัตราการว่างงานที่ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสเปนที่สูงถึงร้อยละ 17.9 ในไตรมาส 2 (2) ฐานะการการคลังของหลายประเทศที่ตกต่ำ อันเป็นผผลจากการทำนโยบายการคลังแบบผ่อนคลายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการลดภาษีและการใช้จ่ายของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP (Public debt-to-GDP ratio) ของยุโรปบางประเทศ เช่น อิตาลี คาดว่าจะสูงถึงร้อยละ 115.2 ต่อ GDP ณ สิ้นปี 52 นี้ ดังนั้น หากเศรษฐกิจของยุโรปกลับมาหดตัวลงอีกครั้งจะทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นไปได้ยากขึ้น

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ