รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 17-21 สิงหาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 24, 2009 12:04 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week

รายจ่ายรัฐบาลเดือน ก.ค.52 รัฐบาลเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 164.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.2 โดยเป็นผลมาจากการเบิกจ่ายงบลงทุนได้ค่อนข้างสูง ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณประกอบด้วยรายจ่ายประจำจำนวน 128.6 พันล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.0 และรายจ่ายลงทุนจำนวน 30.1 พันล้านบาทขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 61.6 เนื่องจากโครงการกองทุนเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชนได้มีการเบิกจ่ายในเดือนนี้ถึง 5.0 พันล้านบาทและกรมทางหลวงชนบทได้มีการเร่งเบิกจ่ายถึง 3.1 พันล้านบาท สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 52 (ต.ค. 51 —ก.ค. 52) รัฐบาลเบิกจ่ายจำนวนทั้งสิ้น 1,578.1 พันล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.1ต่อปี โดยเป็นรายจ่ายในส่วนของงบประมาณประจำปีจำนวน 1,467.1 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 75.2ของกรอบวงเงินงบประมาณ 1,951.7 พันล้านบาท เมื่อรวมรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปีวงเงิน 1.16 แสนล้านบาท

มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปดอลลาร์สหรัฐ ในเดือน ก.ค. 52 หดตัวที่ร้อยละ -25.7 ต่อปี ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -25.9ต่อปี โดยเป็นผลจากปริมาณการส่งออกที่หดตัวถึงร้อยละ -22.7 ต่อปีในขณะที่ราคาหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -3.9 ต่อปี ผลจากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว และราคาสินค้าส่งออกสำคัญลดลง ในส่วนของมูลค่านำเข้าสินค้ารวมในรูปดอลลาร์สหรัฐ ในเดือน ก.ค. 2552 หดตัวร้อยละ-32.5 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -29.3 ต่อปี ผลจากการนำเข้าที่หดตัวในทุกหมวดสินค้า สืบเนื่องจากการลดนำเข้าวัตถุดิบตามคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกที่ลดลง อุปสงค์ภายในประเทศที่ยังคงชะลอตัว ทั้งการบริโภคและการลงทุน และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้าเดือนก.ค. 52 เกินดุล 0.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ก.ค. 52 หดตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ -13.3 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -2.9 ต่อปี เนื่องจากการหดตัวของรายได้เกษตรกร ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่เหลือของปีจะปรับตัวดีขึ้นตาม โดยในปี 52 คาดว่าปริมาณจำหน่ายรถจักยานยนต์จะหดตัวที่ร้อยละ -12.0 ต่อปี (7 เดือนแรกปี 52 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวที่ร้อยละ -12.9 ต่อปี)

Economic Indicators: Next Week

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ก.ค. 52 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -8.0 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ที่หดตัวร้อยละ -6.8 ต่อปี เนื่องจากปัจจัยฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อตัดผลทางฤดูกาลออกไปแล้ว คาดว่าดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากผลผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณการส่งออกสินค้าที่ปรับตัวดีขึ้นในเดือน ก.ค. 52 โดยเฉพาะในหมวดสินค้า อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนก.ค. 52 คาดว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 1.0 ล้านคน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -12.0 ต่อปี หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -15.9 ต่อปี และนับเป็นจำนวนที่กลับขึ้นมาแตะที่ระดับ 1 ล้านคน นับจากเดือนพ.ค.52 หลังจากที่ประสบปัญหาภายในทางการเมืองและผลจากโรคระบาดไข้หวัด 2009 โดยคาดว่าได้รับปัจจัยบวกจากกลุ่มยุโรปซึ่งเป็นช่วงฤดูการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวประกอบกับเป็นกลุ่มประเทศที่มีความอ่อนไหวต่ำจากเหตุการณ์ต่างๆ

Foreign Exchange Review

ค่าเงินสกุลหลักของประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแทบทุกสกุลยกเว้นค่าเงินเยนและค่าเงินยูโร

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและค่าเงินเยนในช่วงสัปดาห์นี้มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆส่วนใหญ่ตามกระแสความต้องการของสินทรัพย์ในสกุลที่ปลอดภัย (safe haven) อันได้แก่ดอลลาร์สหรัฐและเยนที่มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความกังวลในสัปดาห์นี้ได้แก่การประกาศตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือน ส.ค. (University of Michigan Consumer confidence index) ที่ปรับตัวลดลงมาอย่างมากที่ระดับ 63.2 จุด เป็นการปรับตัวลดลงมาจากระดับ 66.0 จุดในเดือน ก.ค.และเป็นการปรับตัวสวนทิศทางกับที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 69.0 จุด ทั้งนี้ การปรับตัวดังกล่าวเป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบ 5 เดือนหลังจากที่มีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและส่งผลให้นักลงทุนเกิดความวิตกต่อการฟื้นตัวในภาคการบริโภคของสหรัฐฯซึ่งมีสัดส่วนใหญ่ถึงขนาดร้อยละ 70 ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมาได้ส่งผลให้เกิดกระแสความต้องการเข้าไปถือสินทรัพย์เสี่ยงมาก (risk appetite) ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯนั้นมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจอาจไม่ฟื้นตัวมากดังคาด ตลาดจึงเริ่ม กังวลและเริ่มขายสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐโดยปัจจัยสนับสนุนค่าเงินยูโรในสัปดาห์นี้ได้แก่การประกาศตัวเลขเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนี (ZEW Survey) ในเดือน ส.ค.ที่ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 56.1 จุดจากระดับ 39.5 จุดและสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 45.0 จุด ตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจเยอรมนีและยูโรที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับตัวเลข GDP ของเยอรมนีและยูโรในสัปดาห์ก่อนที่ขยายตัวได้ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ในขณะเดียวกัน ค่าเงินปอนด์สเตอลิงค์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐหลังจากที่พรรคฝ่ายค้านของอังกฤษแสดงความกังวลว่ารัฐบาลอังกฤษเผชิญกับความเสี่ยงที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ในขณะที่ภาระหนี้อาจปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าระดับ58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 53 ประกอบกับผู้ว่าการธนาคารอังกฤษ (BOE) และคณะกรรมการการประชุมต้องการเพิ่มขนาดการทำมาตรการเพิ่มสภาพคล่องแบบพิเศษอีก 86 พันล้านปอนด์ ซึ่งบ่งชี้ถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจทางด้านการเงินของอังกฤษที่อาจยังมีอยู่

ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นสูงสุดเมื่อเทียบกับค่าเงินภูมิภาคที่ร้อยละ 0.12 นับจากช่วงสัปดาห์ก่อนหน้าและแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.03 นับจากช่วงต้นเดือน

อัตราการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทดังกล่าวเป็นการเคลื่อนไหวที่แข็งค่าขึ้นมากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆแทบทุกสกุลยกเว้นดอลลาร์สิงค์โปร์เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าในขณะที่หากพิจารณาเปรียบเทียบกับช่วงต้นเดือนจะพบว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาคแทบทุกสกุล ทั้งนี้ สาเหตุที่ค่าเงินในภูมิภาคสกุลอื่นๆ อ่อนค่าลงนั้นมาจากปัจจัยความเสี่ยงที่มีมากขึ้น (risk aversion) และส่งผลให้นักลงทุนโยกย้ายเงินทุนออกจากสกุลเงินที่มีความเสี่ยงสูงกว่า (high yielding) อาทิตลาดหลักทรัพย์และสกุลเงินในภูมิภาคไปลงทุนในสินทรัพย์และสกุลเงินที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าอาทิดอลลาร์สหรัฐและเยนส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคแทบทุกสกุลอ่อนค่าลง อย่างไรก็ตาม การที่ดุลการค้าของไทยยังคงเกินดุลและเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่องได้ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 12 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐปอนด์สเตอร์ลิงค์ ยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลีดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 21 ส.ค. 52 แข็งค่าขึ้นจากค่าเงิน ณ วันที่ 1 ม.ค. 52 ที่ร้อยละ 1.96 และแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 1.94

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน (ร้อยละ 5.7) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 4.2) เปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 3.8) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 2.5) สิงคโปร์ (ร้อยละ 2.4) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 2.1) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 2.1) วอนเกาหลี (ร้อยละ 0.6)ยูโร (ร้อยละ 0.3) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับ ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ -9.5) และรูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ -5.7) หยวน (ร้อยละ -2.3) ตามลำดับ

Foreign Exchange and Reserves

ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 14 ส.ค.52 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) เพิ่มขึ้นสุทธิ 1.82 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 136.66 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำนวน 0.64 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Forward Obligation จำนวน 1.18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐสาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินในภาวะที่ตลาดโลกมีความผันผวน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในตลาดหลักทรัพย์พบว่าต่างชาติมีการขายสุทธิเล็กน้อยหลังจากที่นักลงทุนโยกย้ายเงินทุนออกไปลงทุนในสินทรัพย์และสกุลเงินที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า เช่น ดอลลาร์สหรัฐและเยน ทั้งนี้ การไหลออกของเงินทุนประกอบกับการเข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินของธปท.มีมากกว่าความต้องการขายเงินดอลลาร์สหรัฐโดยรวม จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า (7 ส.ค. 52) จาก 33.93 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 33.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในสัปดาห์นี้

Major Trading Partners’ Economies: This Week

ยอดบ้านใหม่เริ่มสร้าง (Housing Starts) และใบขออนุญาตก่อสร้าง(Building Permits) ของสหรัฐฯ เดือนก.ค.52 อยู่ที่ 581,000 และ 560,000 หลัง ตามลำดับ หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -1.0 และ -1.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หดตัวลงจากเดือนมิ.ย.ที่ขยายตัวร้อยละ 6.5 และร้อยละ 10.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ตามลำ ดับ (ตัวเลขปรับปรุง)อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างที่อยู่อาศัยสำ หรับครอบครัวเดี่ยว ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ครั้งนี้ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า บ่งชี้ว่าสถานการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯเริ่มแสดงสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น

ดุลการค้าของกลุ่มประเทศยูโรโซนในเดือน มิ.ย. 52 เกินดุล 4.6 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุล 2.1 พันล้านยูโร โดยมูลค่าการส่งออกและนำเข้าในเดือน มิ.ย. 52 หดตัวร้อยละ -22.2 และร้อยละ -25.6 ต่อปี ตามลำดับ และเมื่อทอนผลทางฤดูกาลแล้วพบว่า การส่งออกหดตัวร้อยละ -0.1 จากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่การนำเข้าไม่ขยายตัวทั้งนี้ ประเทศที่มีดุลการค้าและการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าได้แก่ เยอรมันและฝรั่งเศส

อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 2 ปี 52 หดตัวร้อยละ-6.4 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากไตรมาสแรกที่หดตัวร้อยละ -8.8 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้วพบว่า ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากไตรมาสก่อนหน้า(%qoq) เป็นเครื่องชี้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว สาเหตุที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นในไตรมาส 2 ปี 52 นี้ปรับตัวดีขึ้น เนื่องมาจากการส่งออกที่ขยายตัวร้อยละ 6.3 จากไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะในหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 จากไตรมาสก่อนหน้า จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ช่วยกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการซื้อรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

GDP ฮ่องกงไตรมาส 2 ปี 52 หดตัวที่ร้อยละ -3.8 ต่อปี หดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -7.8 ต่อปี อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณารายไตรมาส เศรษฐกิจฮ่องกงจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ทำให้ฮ่องกงหลุดพ้นจากภาวะถดถอยทางเทคนิคแล้ว เมื่อพิจารณาด้านอุปสงค์ พบว่า การบริโภคภาคเอกชนยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -1.0 ต่อปี การลงทุนหดตัวร้อยละ -14.0 ต่อปี การส่งออกหดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -12.4 ต่อปี ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี

ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจไต้หวันในไตรมาสที่ 2 ปี 52 หดตัวที่ร้อยละ -7.5 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาส 1 ปี 52 ที่หดตัวถึงร้อยละ -10.1 ต่อปี (ตัวเลขปรับปรุง) และเป็นอัตราการหดตัวที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 51 โดยหากพิจารณารายไตรมาสแล้ว เศรษฐกิจไต้หวันจะเติบโตถึงร้อยละ 20.7 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (%qoq annualized) เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจไต้หวันพ้นภาวะถดถอยทางเทคนิคและน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยการบริโภคภาคเอกชนหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -5.5 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนภาครัฐขยายตัวสูงถึงร้อยละ14.9 ต่อปี

การส่งออกไม่รวมน้ำมันของสิงคโปร์ในเดือนก.ค. 52 หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 ที่ร้อยละ -8.5 ต่อปี หดตัวในอัตราที่ชะลอลงกว่าเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -11.1 ต่อปี อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับเดือนก่อนหน้าจะขยายตัวที่ร้อยละ 6.1 จากที่เคยหดตัวร้อยละ -5.1 ในเดือนมิ.ย. 52โดยสัดส่วนใหญ่มาจากสินค้าประเภทเวชภัณฑ์ที่เติบโตถึงร้อยละ 57 ต่อปีจากเดือนก่อนหน้าที่เติบโตร้อยละ 1.1 ต่อปี

ยอดค้าปลีกของประเทศสิงคโปร์ในเดือนมิ.ย. 52 หดตัวที่ร้อยละ -8.2 ต่อปี หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -10.4 ต่อปี และเป็นการหดตัวเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าจะเติบโตที่ร้อยละ 2.3 เร่งขึ้นจากเดือนพ.ค.ที่เติบโตร้อยละ 0.7 สะท้อนถึงการใช้จ่ายที่ค่อยๆฟื้นตัวตามเศรษฐกิจของประเทศสิงคโปร์

ยอดขายสินค้าอุตสาหกรรมของมาเลเซียเดือนมิ.ย.52 หดตัวร้อยละ-25.5 ต่อปี ใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -25.6 ต่อปี เป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 นอกจากนี้จำ นวนผู้ที่ทำ งานและค่าจ้างในภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ -7.8 และ -6.9 ต่อปี ตามลำดับ บ่งชี้ถึงภาคอุตสาหกรรมของมาเลเซียที่ยังคงซบเซา จากผลพวงของวิกฤตเศรษฐกิจโลก

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ