Global Economics Report: Europe

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 25, 2009 11:48 —กระทรวงการคลัง

Outlook: Europe

  • เศรษฐกิจยุโรป ได้ส่งสัญญาณผ่านพ้นจุดต่ำสุดของวิกฤตเศรษฐกิจโลกแล้ว
  • สาเหตุที่เศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของภาครัฐที่ทำให้ภาคการบริโภคและการลงทุนกระเตื้องขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของต่างประเทศที่เป็นปัจจัยบวก (Positive Externality) ทำให้การส่งออกของยุโรปขยายตัวดีขึ้น
  • อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยุโรป เริ่มเผชิญความเสี่ยงจากอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงข้อจำกัดทางการคลังในประเทศต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถใช้มาตรการการคลังกระตุ้นได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้การส่งออกสินค้าทุนโดยรวมและภาคการบริโภค รวมถึงเศรษฐกิจของยุโรปชะลอลงได้
ภาพรวมเศรษฐกิจยุโรปในปัจจุบัน

นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า เศรษฐกิจยุโรปได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดของวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้แล้ว สะท้อนได้จาก GDP ของเศรษฐกิจยุโรป (Eurozone) ในไตรมาสที่ 2 (ตัวเลขเบื้องต้น) หดตัวที่ร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หดตัวลดลงอย่างมากจากไตรมาสแรกที่หดตัวร้อยละ -2.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งสาเหตุหลักของการหดตัวน้อยลงเกิดจากการที่เศรษฐกิจเยอรมนีและฝรั่งเศส ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 และ 2 ในเศรษฐกิจยุโรปตามลำดับ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ขยายตัวสูงกว่าที่ตลาดคาดที่ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Q-o-Q) จากไตรมาสก่อนที่หดตัวที่ร้อยละ -3.5 และ -1.3 ต่อปีตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

ขณะที่เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของเศรษฐกิจยุโรปพบว่าเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นมาจากการขยายตัวของภาคการส่งออกที่ทำให้ GDP ในไตรมาส 2 (Contribution to GDP Growth) ขยายตัวร้อยละ 0.3 ต่อปีและการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 ต่อปี

ทั้งนี้ในส่วนของภาคการส่งออกที่ขยายตัว น่าจะมาจากความต้องการตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอันเป็นผลจากการที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลต่าง ๆ โดยเฉพาะรัฐบาลจีนที่เป็นปัจจัยบวก (Positive Externality) นำไปสู่การส่งออกสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้น เห็นได้จากตัวเลขการส่งออกจากยุโรปไปยังจีนที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 ในครึ่งปีแรกของปี 2552

นอกจากนั้น การส่งออกสินค้าทุนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นนั้นทำให้ภาคการผลิตเริ่มพลิกฟื้นขึ้น เห็นได้จากดัชนีชี้วัดภาคการผลิตต่าง ๆ ล่าสุดที่เริ่มมีสัญญาณพื้นตัว เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) เดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 46.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 42.6 และเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2551

นอกจากปัจจัยการส่งออกที่ขยายตัวขึ้นแล้ว สศค. คาดว่าสาเหตุหนึ่งที่ภาคการผลิตขยายตัวดีขึ้นน่าจะเป็นเพราะผู้ประกอบการระบายสินค้าคงคลังออกไป (Destock) เป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็วในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ในขณะที่สัญญาณเศรษฐกิจและคำสั่งซื้อที่ปรับตัวดีขึ้นทำให้ผู้ผลิตเริ่มผลิตเพื่อสะสมสินค้าคงคลังอีกครั้ง (Restock) ซึ่งเป็นผลทำให้ดัชนีชี้วัดภาคการผลิตต่าง ๆ เริ่มพลิกฟื้นอีกครั้ง โดยเฉพาะในเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าทุนเพื่อส่งออกเป็นหลัก เห็นได้จากผลผลิต ภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing Output) และ ยอดสั่งซื้อใหม่ (New Orders) ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากหดตัวลงมากในช่วงที่ผ่านมา

ในขณะเดียวกันภาคการบริโภคเอกชนก็ส่งสัญญาณการฟื้นตัวด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาเป็นรายประเทศพบว่ามีความแตกต่างกันในเรื่องของอัตราการเจริญเติบโตของการบริโภคภาคเอกชน โดยการบริโภคเอกชนของสเปนและอิตาลี ซึ่งมีภาคการบริโภคเป็นสัดส่วนที่ใหญ่สุดของประเทศปรับตัวลดลง แต่การบริโภคภาคเอกชนของประเทศ

เยอรมนีและฝรั่งเศสปรับตัวดีขึ้น โดยตัวเลขการบริโภคภาคครัวเรือน(Household Consumption) ของประเทศฝรั่งเศสในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ต่อปี สูงกว่าไตรมาสก่อนหน้า ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Q-o-Q Annualized) สะท้อนจากโดยตัวเลขการบริโภคสินค้าอุตสาหกรรม (Manufactured Goods) ของฝรั่งเศสในเดือนมิถุนายนที่ขยายตัวร้อยถึงร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าซึ่งการขยายตัวของภาคการบริโภคของทั้งเยอรมนีและฝรั่งเศสมีส่วนช่วยทำให้ GDP ของทั้งสองประเทศขยายตัวดีขึ้น ในขณะที่ GDP ของสเปนและอิตาลียังคงหดตัวต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งของการขยายตัวดีขึ้นของการบริโภคภาคเอกชนนั้นน่าจะเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆของรัฐบาลโดยเฉพาะของประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศส อาทิ “cash-for-clunkers” หรือโครงการแลกรถยนต์เก่าที่กินน้ำมันมากเพื่อซื้อรถยนต์ใหม่โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐของทางการเยอรมนี ที่ไปกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน

ความเสี่ยงของเศรษฐกิจยุโรปในระยะต่อไป

สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าเศรษฐกิจยุโรปเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นแต่นักเศรษฐศาสตร์หลายฝ่ายมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปในครั้งนี้ยังคงมีความเปราะบางอยู่ โดยเฉพาะในภาคการจ้างงานในบางประเทศเห็นได้จากการที่อัตราการว่างงานของสเปนและเบลเยี่ยมยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ร้อยละ 17.9 ของกำลังแรงงานรวมในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ในกรณีของสเปน และร้อยละ 11.3 ของกำลังแรงงานรวมในกรณีของเบลเยี่ยม

นอกจากนั้น การที่ทางการเยอรมนีและฝรั่งเศสได้มีมาตรการเข้าสนับสนุนค่าจ้างแรงงานของลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งมีจำนวนประมาณ 1.4 ล้านคน และส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ ในขณะที่โครงการ “cash-for-clunkers” ที่ทำให้ยอดขายรถยนต์ และการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว ซึ่งหากมาตรการดังกล่าวสิ้นสุดลง ขณะที่ภาคเศรษฐกิจจริงโดยเฉพาะภาคการบริโภคมิได้ขยายตัวอย่างยั่งยืน แต่เป็นเพียงการ Restock สินค้าคงค้างดังที่กล่าวข้างต้น อาจทำให้เศรษฐกิจกลับมาหดตัวอีกครั้ง รวมถึงอัตราการว่างงานโดยรวมอาจปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้งได้ และทำให้รายได้สุทธิ (Disposable Income) ของผู้บริโภคลดลง ส่งผลกระทบต่อการบริโภค และอาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังของเยอรมนีและฝรั่งเศส รวมถึงเศรษฐกิจยุโรปโดยรวม เป็นไปได้ยากขึ้น

ความเสี่ยงอีกประการหนึ่ง คือ การที่ฐานะการการคลังของประเทศสเปนและอิตาลีที่ปรับตัวลดลงจากการทำนโยบายการคลังแบบผ่อนคลายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการลดภาษีและการใช้จ่ายของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเห็นได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP (Public debtto-GDP ratio) ของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะประเทศอิตาลี ณ ช่วงสิ้นปี 51 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 104.1 ต่อ GDP ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

ขณะที่ สศค. คาดการณ์ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในปี 2552 จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 115.2 ต่อ GDP ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจของประเทศอิตาลีกลับมาหดตัวลงอีกครั้งจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น อัตราการว่างงานที่ยังคงสูง ก็จะทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นไปได้ยากขึ้น

กล่าวโดยสรุป จากภาวะเศรษฐกิจที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจยุโรป (Eurozone) ได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดของภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว ทำให้เป็นไปได้ว่าลักษณะการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจยุโรปจะรอดพ้นจากการหดตัวอย่างต่อเนื่องยาวนาน (หรือที่เรียกว่า U-shape หรือ L-shape) และกำลังเข้าสู่สภาวะฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม สศค. วิเคราะห์ว่า การฟื้นตัวครั้งนี้ยังคงมีความเปราะบาง เนื่องจากเผชิญกับความเสี่ยงหลายประการ ทั้งจากอัตราการว่างงานที่ยังคงสูง รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั้งในยุโรปเองและต่างประเทศ ที่อาจเผชิญข้อจำกัดทางการคลังในอนาคตทำให้ไม่สามารถกระตุ้นได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งความเสี่ยงทั้งสองอาจทำให้

การส่งออกสินค้าทุนโดยรวมและภาคการบริโภคของยุโรปที่ขยายตัวในไตรมาสนี้ อาจจะชะลอลงในอนาคต

Source: Fiscal Policy Office / www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ