รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 31 สิงหาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 31, 2009 12:26 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 31 ส.ค. 2552

Summary

1. IMF ชี้การเมือง-ศก.โลกฉุดGDP ไทยปี 52 ติดลบร้อยละ 3 ต่อปี

2. ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 52 หดตัวร้อยละ 10

3. อัตราการว่างงานญี่ปุ่นในเดือนก.ค. 52 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 ต่อปี

Highlight
1. IMF ชี้การเมือง-ศก.โลกฉุดGDP ไทยปี 52 ติดลบร้อยละ 3 ต่อปี
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยแพร่ผลการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ว่า ความถดถอยของไทยผ่อนคลายลงแล้วในไตรมาส 2 จากการใช้จ่ายภาครัฐประกอบกับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ เพื่อการส่งออกปรับตัวดีขึ้น โดยแผนรัฐบาลชุดปัจจุบันที่จะใช้เงินอีก 1.06 ล้านล้านบาท จนถึงปี 55 เพื่อกระตุ้นการบริโภค ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดขยายตัว หลังจากครึ่งแรกปี 52 ได้ดำเนินการตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.17 แสนล้านบาทไปแล้ว อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 52 จะหดตัวเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่วิกฤติปี 40 ที่ไม่เกินร้อยละ -3.0 ต่อปี โดยเป็นการขาดดุลงบประมาณของรัฐเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.5 ของ GDP ส่วนปี 53 คาดเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวเพียงร้อยละ 1.0 ต่อปี ทั้งนี้ ยังเตือนว่า อุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแอ ความต้องการซื้อในต่างประเทศซบเซา ขณะที่ฐานะทางการคลังที่เริ่มมีความเสี่ยงจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ล้วนมีความสำคัญทำให้แนวโน้มการขยายตัวในอนาคตลดลง จึงเสนอแนะให้ไทยเดินหน้าโครงการลงทุนระยะ 3 ปี ของภาครัฐ เพื่อช่วยสนับสนุนอุปสงค์ในประเทศให้ฟื้นตัวได้ช่วงที่เหลือของปีนี้
  • จากการประมาณ ณ เดือน มิ.ย. 52 สศค.คาดว่า GDP ในปี 52 หดตัวลงที่ร้อยละ -3.0 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ -3.5 ถึง -2.5 ต่อปี ) โดยเป็นผลจากปัจจัยลบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่กระทบต่อการส่งออกและอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกของปี 52 หดตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ -6.0 ต่อปี อย่างไรก็ตาม บทบาทของภาคการคลังจากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งจะผลักดันโครงการลงทุนเพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน ฟื้นความเชื่อมั่น และช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวและกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 รวมถึงจะมีส่วนช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 53-55 ขยายตัวมากขึ้นที่ประมาณร้อยละ 1.3 จากกรณีฐาน
2. ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 52 หดตัวร้อยละ 10
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ในปี 52 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยือนกรุงเทพฯ ลดลงร้อยละ 2.1 จากปีก่อนหน้า หรือมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 35 ล้านคน ก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนประมาณ 305.0 พันล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับปี 51 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติซึ่งมีสัดส่วนเกือบร้อยละ 30 มีแนวโน้มลดลงประมาณร้อยละ 9.5 โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน และญี่ปุ่น ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยที่มากระทบค่อนข้างสูง และส่งผลให้รายได้จากด้านการท่องเที่ยวลดลงร้อยละ 9.8
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนก.ค.52 มีการปรับตัวดีขึ้นเช่นกันจากจำนวนเดินทางเข้าทั้งสิ้น 1.12 ล้านคน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -12.5 ต่อปี นับเป็นจำนวนที่กลับขึ้นมาแตะที่ระดับ 1 ล้านคน นับจากเดือนพ.ค.52 หลังจากที่ประสบปัญหาภายในทางการเมืองและผลจากโรคระบาดไข้หวัด 2009 โดยได้รับปัจจัยบวกจากกลุ่มเอเชียใต้และกลุ่มยุโรปซึ่งเป็นช่วงฤดูการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวประกอบกับเป็นกลุ่มประเทศที่มีความอ่อนไหวต่ำจากเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งนี้ จากแบบจำลองภาคการท่องเที่ยวของ สศค. คาดว่าปัจจัยด้านการเมืองและปัญหาไข้หวัดใหญ่ 2009 จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศในปี 52 มีทั้งสิ้น 13.0 ล้านคน ลดลงร้อยละ -10 จากปี 51 และสร้างรายได้เข้าประเทศ 468 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 20 ต่อปี
3. อัตราการว่างงานญี่ปุ่นในเดือนก.ค. 52 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 ต่อปี
  • สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานอัตราการว่างานของญี่ปุ่นในเดือน ก.ค. ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.7 จากเดิมร้อยละ 5.5 สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เดือน เม.ย. ปี 46 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อติดลบเพิ่มมากขึ้น มาอยู่ที่ร้อยละ -2.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ ต่ำสุดตั้งแต่ปี 2514
  • สศค.วิเคราะห์ว่า แม้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 52 จีดีพีญี่ปุ่นจะเติบโตถึงร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าทั้งปี (Q-o-Q Annualized) ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการขยายตัวของภาคการส่งออกไปประเทศจีน อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคอุปสงค์ภายในประเทศซึ่งเห็นได้จากการหดตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยในไตรมาสที่ 2 หดตัวร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจจะทรุดตัวเพิ่ม โดยมีสาเหตุมาจาก ในปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นมีจำนวนหนี้สาธารณะแล้วกว่าร้อยละ 190 ต่อจีดีพี ทำให้มาตรการเพิ่มเติมของภาคการคลังนั้นเป็นไปได้ยาก ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันก็อยู่ที่ระดับต่ำที่ร้อยละ 0.1 ต่อปี ก็เป็นข้อจำกัดอีกประการในดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ