รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 24-28 สิงหาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 31, 2009 14:25 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 52 มีจำนวนทั้งสิ้น 3,831.3 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 43.38 ของ GDP ลดลงจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 2.8 พันล้านบาท โดยการลดลงสุทธิของหนี้สาธารณะคงค้างที่สำคัญเกิดจากการลดลงของหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงลดลงสุทธิ 11.4 พันล้านบาท ซึ่งรายการที่สำคัญเกิดจากการปรับลดระดับของตั๋วเงินคลังลดลงจำนวน 16.0 พันล้านบาท เพื่อปรับระดับดุลเงินสดให้สอดคล้องกับการเกินดุลเงินสดของรัฐบาลในเดือน มิ.ย. 52 และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯลดลงจำนวน 2.1 และ 3.2 พันล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสถานะของหนี้สาธารณะณ สิ้นเดือน มิ.ย. 52 พบว่ายังมีเสถียรภาพที่ดี เนื่องจาก 1) หนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้สกุลเงินบาท ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 90.1 ของหนี้สาธารณะคงค้าง 2) หนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ88.2 ของหนี้สาธารณะคงค้าง และ3) สัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDPในเดือน มิ.ย.52 ยังคงอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดสัดส่วนไว้ไม่เกินร้อยละ 50.0 ต่อ GDP

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ก.ค. 52 หดตัวร้อยละ-9.0 ต่อปี หดตัวมากกว่าเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -6.6 ต่อปี และเมื่อทอนผลทางฤดูกาลออกแล้วหดตัวร้อยละ -1.4 จากเดือนก่อนหน้า (%mom)เนื่องจากผลผลิตอุตสาหกรรมในบางประเภทหดตัวเพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอาหารและเคมีภัณฑ์ปรับตัวดีขึ้นสำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือน ก.ค. 52 อยู่ที่ระดับ 56.9 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ (ระดับ 61.1 ณ ก.ย. 52)

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม(TISI) เดือน ก.ค. 52 อยู่ที่ระดับ 89.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 83.5 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน โดยเป็นผลมาจากยอดคำสั่งซื้อยอดขาย และราคาขายที่ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ยังคงต่ำกว่าระดับ 100 บ่งชี้ว่าผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น และเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณการฟื้นตัวยังไม่ชัดเจน

นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.ค. 52 มี จำนวนทั้งสิ้น 1.12 ล้านคน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -12.5 ต่อปี หดตัวน้อยกว่าเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -15.9 ต่อปี และนับเป็นครั้งแรกที่จำนวนนักท่องเที่ยวกลับมาแตะระดับ 1 ล้านคน นับจากเดือน พ.ค. 52 ที่ประสบปัญหาทางการเมืองและได้รับผลกระทบจากโรคระบาดไข้หวัดใหญ่ 2009 โดยได้รับปัจจัยบวกจากกลุ่มเอเชียใต้และกลุ่มยุโรปซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว

การประชุม กนง. เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 52 มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี จากการประเมินของ กนง. ที่ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกและตลาดการเงินระหว่างประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดย GDPของประเทศในเอเซียและของไทยในไตรมาสที่ 2 ของปีเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงต่อไปยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ทั้งนี้ กนง. มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ 1.25 ต่อปีโดยไม่สร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ

Economic Indicators: Next Week

ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ก.ค. 52 คาดว่าจะเกินดุลที่ 0.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากดุลบริการที่คาดว่าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ติดลบต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกันนับจากเดือน เม.ย. 52 ตามรายได้จากการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลการค้าเดือน ก.ค. 52 เกินดุลที่ 0.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Foreign Exchange Review

ค่าเงินสกุลหลักของประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแทบทุกสกุลยกเว้นค่าเงินเยนและค่าเงินยูโร

ค่าเงินของประเทศคู่ค้าของไทยส่วนใหญ่ยกเว้นเยนและยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากความต้องการที่จะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง (High Yielding) ในแถบภูมิภาคปรับตัวลดลงโดยเฉพาะในแถบเอเชีย หลังจากที่มีข่าวว่าทางการจีนอาจปรับเพิ่มระดับการตั้งเงินทุนสำรอง (Capital requirements) ของธนาคารพาณิชย์จากร้อยละ 10 มาเป็นร้อยละ 12 ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เกิดความวิตกต่อตลาดหลักทรัพย์ของจีนและเอเชีย ส่งผลให้ความต้องการถือสินทรัพย์ในสกุลที่ปลอดภัย (safe haven) ซึ่งให้ผลตอบแทนในระดับที่ต่ำกว่า (Low Yielding) อันได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐและเยนมีมากขึ้น

ด้านค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจของยุโรปที่ออกมาดีขึ้น อาทิ (1) ตัวเลขภาวะธุรกิจ (IFO business climate) ของเยอรมนีในเดือน ส.ค. ปรับตัวดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 มาอยู่ที่ 90.5 จุด (2) ดัชนีภาคบริการ (PMI Services) เดือน ส.ค. ของเยอรมนีที่ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 54.1 จากระดับ 48.1 ในเดือนก่อน (3) ตัวเลขดัชนีภาคอุตสาหกรรม (PMI Manufacturers) เดือน ส.ค. ของฝรั่งเศสที่ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50.2 จากระดับ 48.1 ในเดือนก่อนและ (4) ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของยูโรโซน (PMI Composites) เดือน ส.ค. ที่ปรับตัวขึ้นมาที่ระดับ 50.0 เพิ่มขึ้นจาก 47.0 ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป และหนุนให้ความต้องการค่าเงินยูโรมีเพิ่มขึ้นและส่งผลให้แข็งค่าขึ้นตามลำดับ ในขณะที่ค่าเงินปอนด์สเตอลิงค์อ่อนค่าลงเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐหลังจากตัวเลขเศรษฐกิจอังกฤษที่ประกาศออกมาอาทิการลงทุนภาคธุรกิจ (business investment) ในไตรมาสที่ 2 ปรับตัวลดลงร้อยละ 10.4 ในขณะที่ตัวเลขยอดขายปลีกในเดือน ส.ค. ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ -17.0 สวนทางกับที่ตลาดคาดไว้ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ -13.0 ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์สเตอลิงค์อ่อนค่าลงตามความเสี่ยงของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอังกฤษที่อาจมีเพิ่มมากขึ้น

ค่าเงินภูมิภาคในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงตามปัจจัยความเสี่ยงที่มีมากขึ้น (risk aversion) จากปัจจัยข้างต้น

ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงที่ร้อยละ -0.03 นับจากช่วงสัปดาห์ก่อนหน้าซึ่งเป็นการอ่อนค่าลงน้อยกว่าแทบทุกสุกุลในภูมิภาค

ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวในช่วงแคบแม้ว่าจะมีเงินทุนไหลเข้ามาจากการเกินดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง และเงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ไทยประมาณ 1,500 ล้านบาท สะท้อนถึงความเป็นไปได้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้าดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้เคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพที่ระดับประมาณ34.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยที่ร้อยละ0.03 จากสัปดาห์ก่อนซึ่งเป็นการอ่อนค่าลงในระดับที่น้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาคนับจากช่วงต้นสัปดาห์และช่วงต้นเดือน ส.ค. ทั้งนี้ เมือพิจารณาอัตราเปลี่ยนแปลงจากช่วงต้นปีพบว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นที่ประมาณร้อยละ 2.09 ซึ่งเป็นการแข็งค่าขึ้นมากที่สุดเทียบกับแทบทุกสกุลในภูมิภาค

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 12 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐปอนด์สเตอร์ลิงค์ ยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลีดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 28 ส.ค. 52 แข็งค่าขึ้นจากค่าเงิน ณ วันที่ 1 ม.ค. 52 ที่ร้อยละ 1.84 แต่อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 1.95

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน (ร้อยละ 5.5) เปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 4.8) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 4.2) สิงคโปร์ (ร้อยละ 2.4) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 2.3) หยวน (ร้อยละ 2.2) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 2.1) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 2.1) วอนเกาหลี (ร้อยละ 0.7) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับ ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ -8.4) และรูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ -5.3) ยูโร (ร้อยละ -0.6) ตามลำดับ

Foreign Exchange and Reserves

ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 21 ส.ค.52 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) เพิ่มขึ้นสุทธิ 1.32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 37.98 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำนวน 1.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นการลดลงของ Forward Obligation จำนวน -0.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เข้าดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทในภาวะที่ตลาดโลกมีความผันผวนนอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในตลาดหลักทรัพย์พบว่าต่างชาติมีการขายสุทธิต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้า ทั้งนี้ การไหลออกของเงินทุนประกอบกับการเข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินของธปท.มีน้อยกว่าความต้องการขายเงินดอลลาร์สหรัฐโดยรวม จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า (14 ส.ค. 52) จาก33.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 33.97 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในสัปดาห์นี้ (21 ส.ค. 52)

Major Trading Partners’ Economies: This Week

ยอดจำหน่ายบ้านมือสอง (Existing home sales) ของสหรัฐฯเดือนก.ค. 52 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 2 ปีที่ร้อยละ 7.2 จากเดือนก่อนหน้าเร่งขึ้นจากเดือนมิ.ย.ที่ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 5.24 ล้านหลัง ในขณะที่ราคากลางบ้านมือสอง (Median Home Price) ปรับตัวลดลงที่ 178,400 ดอลลาร์สหรัฐ ผลจากการขายบ้านถูกยึดจำนองในราคาถูกเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ยอดขายบ้านใหม่เดือนก.ค. 52 ขยายตัวสูงเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 9.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เป็นอีกสัญญาณบวกว่าภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯเริ่มฟื้นตัวแล้ว

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนส.ค.52 ปรับตัวสูงขึ้นมากที่ระดับ 54.1 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 47.4 (ตัวเลขปรับปรุง) โดยเป็นการปรับตัวสูงขึ้นของดัชนีสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน และดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต บ่งชี้ว่าผู้บริโภคมีความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น ผลจากตัวเลข GDP เบื้องต้นไตรมาส 2 ของสหรัฐฯที่หดตัวน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้

ดัชนีการจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมเบื้องต้น (Manufacturing Flash PMI) ของกลุ่มประเทศยูโรโซนเดือน ส.ค. 52 อยู่ที่ระดับ 47.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าและสูงสุดในรอบ 14 เดือน นอกจากนี้ ดัชนีการจัดซื้อภาคบริการเบื้องต้น (Service PMI) ในเดือน ส.ค. 52 อยู่ที่ระดับ 49.5 สูงสุดในรอบ 15 เดือน ส่งสัญญาณว่าภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของยูโรโซนน่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องในไตรมาสที่ 3 อย่างไรก็ตาม คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยูโรโซนจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

มูลค่าการส่งออกสินค้าของญี่ปุ่นในเดือนก.ค. 52 หดตัวร้อยละ -36.5ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -1.3 (%mom) ในขณะที่การนำเข้าหดตัวร้อยละ - 40.8 ต่อปี ทั้งนี้การส่งออกที่หดตัวดังกล่าวเป็นผลมาจากการส่งออกไปยังจีนและสหรัฐที่ชะลอตัวลง เป็นสัญญาณว่าอุปสงค์ของสินค้าญี่ปุ่นจากทั่วโลกตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลจีน ได้ผ่อนคลายลงแล้ว

มูลค่าการส่งออกสินค้าของฮ่องกงเดือนก.ค.52 หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 ที่ร้อยละ -19.9 ต่อปี เร่งขึ้นมากจากร้อยละ -5.4 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า โดยในแง่มิติคู่ค้า การส่งออกไปยังเอเชียหดตัวถึงร้อยละ -14.7 ต่อปี จากที่เคยขยายตัวในเดือนก่อนหน้า ในขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐฯและญี่ปุ่น ยังคงหดตัวถึงร้อยละ -29.4 และร้อยละ -23.5 ต่อปี ตามลำดับในขณะที่การนำเข้าสินค้าเดือนก.ค.52 หดตัวร้อยละ -17.8 ต่อปี เร่งขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -7.9 ต่อปี ทำให้ดุลการค้าฮ่องกงเดือนก.ค. 52 ขาดดุลที่ -21.7 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสิงคโปร์ในเดือนก.ค.52 ขยายตัวขึ้นมากที่ร้อยละ 12.4 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -9.0 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า จะขยายตัวที่ร้อยละ 23.0 (%mom) จากเดือนมิ.ย.52 ที่หดตัวร้อยละ -9.0 (%mom) ผลจากการขยายตัวของการผลิตสินค้าเวชภัณฑ์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกาหลีใต้เดือนส.ค.52 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงที่สุดในรอบ 7 ปีที่ 114 จากระดับ 109 ในเดือนก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นว่า สภาวะทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้อยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากนี้ ค่าดัชนีที่สูงกว่า 100 ยังชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภค คาดว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะยังคงดีขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจเกาหลีใต้ที่ดีขึ้น ทำ ให้นักวิเคราะห์มองว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้อาจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้

เศรษฐกิจมาเลเซียในไตรมาสที่ 2 ปี 52 หดตัวร้อยละ -3.9 ต่อปี หดตัวชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -6.2 ต่อปี (หรือขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและปรับผลทางฤดูกาลแล้ว) ทำให้เศรษฐกิจมาเลเซียพ้นจากภาวะถดถอยในไตรมาสนี้ ผลจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวร้อยละ 0.5 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -0.7 ต่อปี และการลงทุนที่หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -9.8 ต่อปี อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าและบริการยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -17.3 ต่อปี

เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในไตรมาส 2 ปี 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี เร่งขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 ต่อปี (ตัวเลขปรับปรุง) และหากพิจารณาการขยายตัวรายไตรมาสที่ปรับฤดูกาลแล้วเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ผลของการบริโภคภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐบาลที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ2.2 และ 9.1 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การลงทุนและการส่งออกยังคงหดตัวที่ร้อยละ -9.8 และ-16.0 ต่อปี ตามลำดับ

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ