รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 1 กันยายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 1, 2009 11:03 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 ก.ย. 2552

Summary

1. ธปท.เผยดัชนีการลงทุน การบริโภค ก.ค. 52 ปรับตัวดีขึ้น แต่ยังไม่ยั่งยืน

2. ธปท.เดินหน้าให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีขาดสภาพคล่อง

3. การชะลอตัวการปล่อยสินเชื่อส่งผลต่อการปรับลดลงของดัชนีตลาดหุ้นจีน

Highlight
1.ธปท.เผยดัชนีการลงทุน การบริโภค ก.ค. 52 ปรับตัวดีขึ้น แต่ยังไม่ยั่งยืน
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน ก.ค. 52 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเดือน ก.ค. 52 หดตัวร้อยละ -1.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 3.4 ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชน หดตัวร้อยละ -14.3 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบเดือนก่อนหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.ค. 52 อยู่ที่ระดับ 66.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 65.4 แสดงถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจไทยที่เพิ่มขึ้น โดยได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง และการดำเนินนโยบายการเงิน ผ่านการสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) โดยใช้นโยบายกึ่งการคลัง (Quasi - Fiscal Policy) เช่น โครงการสินเชื่อ Fast Track ที่ช่วยเหลือภาคธุรกิจที่มีปัญหาเรื่องทุนหมุนเวียน ทั้งนี้ สศค. คาดว่า มาตรการดังกล่าวจะทำให้ทั้งปี 52 การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวที่ร้อยละ -0.3 ต่อปี และร้อยละ -12.4 ต่อปี ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งแรกของปี 52 ที่หดตัวประมาณร้อยละ -2.4 ต่อปี และร้อยละ -16.9 ต่อปี ตามลำดับ
2. ธปท.เดินหน้าให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีขาดสภาพคล่อง
  • ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังและบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มีความเห็นร่วมกันให้ลดค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อโครงการ บสย.ให้กับลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้าร่วมโครงการฯ วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท โดยปีแรก บสย. จะงดเก็บค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อกับลูกค้า ส่วนปีที่ 2-5 จะคิดธรรมเนียมปกติร้อยละ 1.75 ต่อปี รวมแล้วตลอดโครงการฯจะได้ส่วนลดค่าธรรมเนียมรวมร้อยละ 7 จากเดิม 5 ปี และต้องจ่ายรวมร้อยละ 8.75
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ บสย.ลดค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อลงจะเป็นการช่วยลดต้นทุนในการค้ำประกันสินเชื่อลง และจะทำให้ธุรกิจมีสภาพคล่องที่ดีขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออก ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสินเชื่อการค้า (Trade Financing) หดตัวในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ การที่ บสย. ลดค่าธรรมเนียมลง ประกอบกับคำสั่งซื้อในสินค้าภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มกลับเข้ามาในบางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก น่าจะเป็นส่วนผลักดันให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ต่อเนื่องในครึ่งหลังของปี 52
3. การชะลอตัวการปล่อยสินเชื่อส่งผลต่อการปรับลดลงของดัชนีตลาดหุ้นจีน
  • สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ได้รายงานว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ปรับตัวลดลงต่ำสุดถึงร้อยละ 6.7 มาสู่ระดับ 2,667.75 นับตั้งแต่ มิ.ย. 52 จากการปรับตัวลดลงดังกล่าวสะท้อนถึงความกังวลของนักลงทุนที่มีต่อสภาพคล่องในช่วงระยะสั้นมากกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของจีน ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 53 เนื่องจากการผลกระทบที่ลดลงจากการใช้นโยบายการคลังของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจีน
  • สศค. วิเคราะห์ว่าการที่รัฐบาลจีนได้ใช้ทั้งมาตรการการเงินและการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลดภาษี การให้เงินอุดหนุนผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งการเร่งปล่อยสินเชื่อธนาคารของรัฐและเอกชนส่งผลให้ภาคบริโภคเอกชนของจีนขยายตัวสูงมากในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี จากมาตรการดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 75 นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 52 ซึ่งถือเป็นสัญญาณของความเสี่ยงการเกิดฟองสบู่ โดยมีประมาณการว่ากว่าร้อยละ 20 ของเม็ดเงินลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มาจากการขยายตัวของสินเชื่อ ดังนั้น รัฐบาลจีนจึงมีแนวโน้มจะชะลอมาตรการเร่งปล่อยสินเชื่อลงเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การชะลอการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวน่าจะทำให้การบริโภคและลงทุนภาคเอกชนจีนในระยะต่อไปชะลอลง และอาจทำให้เศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจของคู่ค้าของจีนมีความเสี่ยงต่อการชะลอลง (W-shape Recovery) ในระยะต่อไป

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ