รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 3 กันยายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 3, 2009 11:35 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 ก.ย. 2552

Summary:

1. ธปท.คาดเงินเฟ้อ Q4 อาจหลุดกรอบใหม่ แต่ยังไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ย

2. อุตสาหกรรมยานยนต์ ส่งสัญญาณเพิ่มกำลังการผลิตอีกครั้งในครึ่งหลังปี 2552

3. GDP ออสเตรเลียใน Q2/52 ขยายตัวเกินคาดที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี

Highlight:
1. ธปท.คาดเงินเฟ้อ Q4 อาจหลุดกรอบใหม่ แต่ยังไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ย
  • ธปท. คาดอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในไตรมาส 3 (หักผลของมาตรการลดค่าครองชีพ) จะอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี และไตรมาส 4 จะอยู่ที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ที่ ร้อยละ 0.5-3.0 ต่อปี เล็กน้อย หลังจากนั้นในไตรมาส 1 ของปี 53 น่าจะปรับตัวขึ้นได้ อย่างไรก็ดี ธปท. มองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ย จะต้องดูปัจจัยกระทบในหลายๆปัจจัยว่าเป็นปัจจัยที่มีความต่อเนื่องหรือไม่ และต้องมองถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตด้วย หากดูแล้วว่าอัตราเงินเฟ้อ จะอยู่นอกกรอบเป้าหมายบ้างและปรับเข้ามาได้เอง ก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้นโยบายการเงิน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน ส.ค. หดตัวที่ร้อยละ -0.2 ต่อปี นับเป็นการหดตัวติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัวติดลบมาตั้งแต่ต้นปีนับเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 8 เดือน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในไตรมาส 2 พบว่าเคลื่อนไหวหลุดจากกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเดิมเล็กน้อยโดยหดตัวที่ร้อยละ -0.1 ต่อปี อย่างไรก็ดี สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ตามการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจในการดำเนินนโยบายการเงินมีความคล่องตัวมากขึ้น
2. อุตสาหกรรมยานยนต์ ส่งสัญญาณเพิ่มกำลังการผลิตอีกครั้งในครึ่งหลังปี 2552
  • โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผย ช่วงครึ่งปีหลังนี้อุตสาหกรรมยานยนต์มีสัญญาณเพิ่มกำลังการผลิตอีกครั้ง โดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่บางราย มีการเพิ่มกำลังการผลิตจาก 1 กะ มาเป็น 2 กะ ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์วางแผนการผลิตในเดือนสิงหาคมจนถึงเดือนตุลาคม รวม 277,474 คัน เพิ่มขึ้น 45.95% เมื่อเทียบไตรมาส 2 ปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่มีกำลังการผลิตต่ำสุด 190,112 คัน และเพิ่มขึ้น 39.45% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปีนี้ ที่มีการผลิตรวม 198,972 คัน
  • ทั้งนี้ รอบ 7 เดือนที่ผ่านมาของปี 2552 อุตสาหกรรมรถยนต์มีการผลิตประมาณ 200,000 คัน ขณะที่ยอดขายในประเทศ 274,000 คัน บ่งชี้ว่ายอดขายรถยนต์มากกว่ายอดที่ผลิตจริง และแต่ละบริษัทสามารถระบายสต๊อกเดิมได้หมด ทำให้มีการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อทดแทนสต๊อกเดิม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยเริ่มมีแนวโน้มสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมและดัชนีความเชื่อมั่นรายอุตสาหกรรมในอุตสาหกรรมยานยนต์เดือนก.ค.52 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับร้อยละ 89.9 และ 97.6 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 83.3 และ 74.7 ตามลำดับ รวมถึงปัจจัยทางการเมืองที่เริ่มคลี่คลายและราคาน้ำมันผันผวนน้อยลง ประกอบกับการเร่งดำเนินการในมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล โดย สศค.คาดว่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ รวมถึงเริ่มมียอดคำสั่งซื้อกลับเข้ามา จะส่งเสริมให้ยอดการผลิตและยอดขายในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ
3. GDP ออสเตรเลียใน Q2/52 ขยายตัวเกินคาดที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี
  • สำนักงานสถิติของออสเตรเลีย ประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) ในไตรมาสที่ 2 ปี 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์หลายสำนักได้คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 โดยการขยายตัวจากไตรมาสก่อน เป็นผลจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 และ 0.7 ตามลำดับ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ได้คาดว่าธนาคารกลางออสเตรเลียจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งในขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของออสเตรเลียที่ดีกว่าหลายฝ่ายคาด การณ์ เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 16.6 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเน้นในเรื่องการลงทุนโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ส่งผลให้เม็ดเงินกระจายไปถึงภาค เอกชนและกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน นอกจากนี้ การขยายการลงทุนของรัฐบาลออสเตรเลียยังส่งปัจจัยบวกมายังการส่งออกโครงก่อสร้างที่ทำด้วยเหล็กของไทย โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 52 มีมูลค่าถึง 425.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการขยายตัวถึงร้อยละ 9450.4 ต่อปี ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจออสเตรเลียในปี 52 จะขยายตัวที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -0.7 ถึง 1.2 ต่อปี)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ