Global Economics Report : East Asia (Ex. China and Japan)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 4, 2009 11:32 —กระทรวงการคลัง

Outlook: East Asia (Ex. China and Japan)

  • ภาพรวมเศรษฐกิจเอเชียบูรพา (ที่ไม่รวมจีนและญี่ปุ่น) ปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 เป็นผลจากการส่งออกโดยเฉพาะไปยังประเทศจีนที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่สนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศ
  • อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเอเชียบูรพายังคงเผชิญกับความเสี่ยงของการชะลอตัวโดยเฉพาะหากการนำเข้าของจีนเริ่มอ่อนกำลังลง
  • สศค. ประเมินว่า ในระยะต่อไป ทางการของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียบูรพาอาจมีการกระตุ้นการลงทุน โดยเฉพาะในโครงสร้างพื้นฐาน Infrastructure Investment) มากขึ้น เพื่อให้เกิดการลงทุนภาคเอกชน (Crowding-in Effect)
ภาพรวมเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียบูรพาในปัจจุบัน

ภาพรวมของเศรษฐกิจในเอเชียบูรพา (ไม่รวมญี่ปุ่นและจีน) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว พิจารณาจาก GDP ในหลาย ๆ ประเทศที่หดตัวชะลอลง เช่น เกาหลีใต้ที่ GDP ไตรมาสที่ 2 หดตัวที่ร้อยละ -2.5 ต่อปี จากไตรมาสแรกที่หดตัวร้อยละ -4.2 ต่อปี ฮ่องกงในไตรมาสที่ 2 หดตัวที่ร้อยละ -3.8 ต่อปี จากไตรมาสแรกที่หดตัวร้อยละ -7.8 ต่อปี ไต้หวันในไตรมาสที่ 2 หดตัวร้อยละ -7.5 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากไตรมาสแรกที่หดตัว -10.1 ต่อปี สิงคโปร์หดในไตรมาสที่ 2 ตัวร้อยละ -3.5 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากไตรมาสแรกที่หดตัว -9.6 ต่อปี และไทยหดตัวที่ร้อยละ -4.9 ต่อปี ในไตรมาสที่ 2 จากไตรมาสแรกที่หดตัวร้อยละ -7.1 ต่อปี

East Asia

ขณะที่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Q-o-Q) โดยปรับผลกระทบตามฤดูกาล (Seasonally Adjusted) แล้ว พบว่าเศรษฐกิจของเอเชียบูรพาขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นทั้งสิ้น โดยเกาหลีใต้ขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 ต่อไตรมาสในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นกว่าไตรมาสแรกที่เติบโตร้อยละ 0.1 ต่อไตรมาส ฮ่องกงเติบโตที่ร้อยละ 3.2 ต่อไตรมาส จากไตรมาสแรกที่หดตัวร้อยละ -4.0 ต่อไตรมาสและประเทศไทยจะเติบโตที่ร้อยละ 2.4 ต่อไตรมาสเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกที่หดตัวร้อยละ -1.9 ต่อไตรมาส

สาเหตุการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้นมาจากความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอันเป็นผลจากการที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลต่างๆ โดยเฉพาะรัฐบาลจีนที่เป็นปัจจัยบวก (Positive Externality) ส่งผลให้ความต้องการสินค้านำเข้าของจีนมีมากขึ้น และผลักดันให้ภาคการส่งออกของเอเชียบูรพาที่มีจีนเป็นตลาดส่งออกหลักกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเห็นได้จากปริมาณการส่งออก (Export Volume) ในไตรมาสที่ 2 ของประเทศในภูมิภาคที่ขยายตัวขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ฮ่องกง และสิงคโปร์ ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 11.2 8.6 และ 5.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

การที่ภาคการส่งออกเริ่มกลับมาฟื้นตัวนั้นทำให้รายได้สุทธิ (Disposable Income) ของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น เนื่องจากเอเชียบูรพามีสัดส่วนของภาคการส่งออกต่อ GDP ในระดับสูง ดังนั้นเมื่อการส่งออกเริ่มปรับตัวดีขึ้น จึงทำให้รายได้ผู้บริโภคเพิ่มขึ้นตาม ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเห็นได้จากตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนของประเทศแถบเอเชียบูรพาในไตรมาสที่ 2 ส่วนใหญ่มีทิศทางขยายตัว จากไตรมาสแรกที่หดตัวลงมาก

นอกจากนั้น สาเหตุของการที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวนั้นมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของทางการในประเทศเอเชียบูรพาดังจะเห็นได้จากมาตรการระยะสั้นที่รัฐบาลประเทศต่างๆ นำมาใช้จะเน้นการกระตุ้นการบริโภคเป็นหลัก เช่น ไต้หวันได้ออกมาตรการแจกเช็คของขวัญรายบุคคลเป็นจำนวน 3,600 ดอลลาร์ไต้หวันต่อคน ญี่ปุ่นมีมาตรการแจกเงิน 12,000 เยนให้กับประชาชนทุกคน โดยเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปีและผู้มีอายุสูงกว่า 65 ปี จะได้เงินพิเศษเพิ่มอีกรวมเป็นเงิน 20,000 เยน และประเทศไทยที่ได้ออกมาตรการเช็คช่วยชาติคนละ 2,000 บาท และผู้สูงอายุได้รับเงินเบี้ยกตัญญูเดือนละ 500 บาท เป็นต้น

ทั้งนี้ การที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในเอเชียบูรพาสามารถที่จะทำได้อย่างต่อเนื่องนั้น สาเหตุหลักน่าจะมาจากการที่ฐานะดุลการคลังของทางการเหล่านี้ยังคงมีความแข็งแกร่ง ซึ่งเห็นได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP (Public debt-to-GDP ratio) ของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ณ ช่วงสิ้นปี 2551 ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะน้อยกว่าที่ทาง Maastricht Treaty ของสหภาพยุโรปที่กำหนดเพดานไว้ที่ร้อยละ 60 ต่อ GDP

นอกจากนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ยังมีประสิทธิภาพมากกว่าหลาย ๆ ประเทศ เช่น สหรัฐฯ รวมไปถึงยุโรปเนื่องจากการที่ภาคครัวเรือนของประเทศในเอเชียบูรพามีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประเทศในแถบตะวันตก ซึ่งเหตุผลดังกล่าวทำให้ประชาชนมีโอกาสที่จะใช้จ่ายจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การลดภาษี รวมถึงการแจกจ่ายเช็คของรัฐบาลมากกว่าการออม

การที่เศรษฐกิจภาคการใช้จ่าย โดยเฉพาะการบริโภคและการส่งออกปรับตัวดีขึ้นนั้น ส่งผลให้ภาคการผลิตมีการปรับตัวที่ดีขึ้น เห็นได้จากตัวเลขโดยรวมล่าสุดในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ของการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial production) ของเอเชียบูรพาที่ขยายตัวถึงร้อยละ 36 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Q-o-Q Annualized)

ในขณะเดียวกันหากพิจารณาเป็นรายประเทศแล้วนั้น พบว่าอัตราการผลิตภาคอุตสาหกรรมของประเทศในภูมิภาคส่วนใหญ่มีการหดตัวในอัตราที่ชะลอลง ไม่ว่าจะเป็นของเกาหลีใต้ในเดือนมิถุนายนที่หดตัวร้อยละ -1.2 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -9.0 ต่อปี รวมไปถึงของไต้หวันในเดือนกรกฎาคมที่หดตัวร้อยละ -8.1 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -11.4 ต่อปี สอดคล้องกับตัวเลขการส่งออกดังกล่าวที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงการที่ผู้ประกอบการระบายสินค้าคงคลังออกไป (Destock) เป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็วในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ในขณะที่สัญญาณเศรษฐกิจและคำสั่งซื้อที่ปรับตัวดีขึ้นทำให้ผู้ผลิตเริ่มผลิตเพื่อสะสมสินค้าคงคลังอีกครั้ง (Restock)

ความเสี่ยงของเศรษฐกิจเอเชียบูรพาในระยะต่อไป

ความเสี่ยงของเศรษฐกิจเอเชียบูรพาได้แก่ ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงอีกครั้ง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมานั้นอาจกล่าวได้ว่าการขยายตัวของประเทศในเอเชียบูรพาเป็นผลหลักจากการขยายตัวของการนำเข้าจากจีนเป็นหลัก โดยมูลค่าการนำเข้าจากเกาหลีของจีนนั้นขยายตัวได้ถึงร้อยละ 26.6 (ปรับฤดูกาลแล้ว) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าเช่นเดียวกับมูลค่าการส่งออกจากไทยไปยังจีนขยายตัวถึงร้อยละ 20.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (ปรับฤดูกาลแล้ว) เช่นกัน

ทั้งนี้ สาเหตุหลักของการขยายตัวของการนำเข้าของจีนนั้นมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของทางการจีน เช่น การลดภาษี การให้เงินอุดหนุนผู้มีรายได้น้อยเพื่อซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ การเร่งปล่อยสินเชื่อจากธนาคารของรัฐและเอกชน รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน(Infrastructure Investment) ของรัฐบาล เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชน (Crowding-in)

อย่างไรก็ตาม สศค. วิเคราะห์ว่า เป็นไปได้สูงว่าในระยะต่อไปมูลค่าการนำเข้าอาจไม่ยั่งยืนเนื่องจาก (1) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมาซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 4 ล้านล้านหยวนนั้นอาจเริ่มชะลอลงในระยะต่อไป ประกอบกับความเสี่ยงเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ธนาคารกลางจีนจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดขึ้นในระยะต่อไป (2) มาตรการกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนผ่านการเร่งปล่อยสินเชื่อจากธนาคารของรัฐและเอกชนอย่างไม่รัดกุมนั้นเริ่มส่งสัญญาณความเสี่ยงการเกิดฟองสบู่ในสินทรัพย์ (Asset Price Bubble) เห็นได้จากดัชนีตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 75 นับจากต้นปีในเดือนมิถุนายน ในขณะที่ราคาบ้านเพิ่มขึ้นถึงประมาณร้อยละ 20 ส่งผลให้รัฐบาลต้องเข้ามามีมาตรการต่าง ๆ ในการลดความเสี่ยงดังกล่าวลงซึ่งอาจส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในช่วงที่ผ่านมาอาจจะต้องชะงักลง (3) การที่ความต้องการสินค้าต่าง ๆ ขยายตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวอาจจะกลับมาหดตัวอีกครั้งเนื่องจากสินค้าเหล่านั้นเป็นสินค้าจำพวกสินค้าคงทน (Durable goods) ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งมีความคงทน ทำให้ความต้องการในระยะต่อไปอาจเริ่มลดลง และ (4) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่รวดเร็วในช่วงที่ผ่านมาอาจเป็นผลจากการที่ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้ประกอบการระบายสินค้าคงคลังออกไป (Destock) เป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็วในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ในขณะที่สัญญาณเศรษฐกิจและคำสั่งซื้อที่ปรับตัวดีขึ้นทำให้ผู้ผลิตเริ่มผลิตเพื่อสะสมสินค้าคงคลังอีกครั้ง (Restock) และทำให้ความต้องการนำเข้าวัตถุดิบต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้นในระยะสั้น

ทั้งนี้ จากปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้นทำให้ สศค. เห็นว่าในระยะต่อไป เศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจของเอเชียบูรพา อาจเริ่มมีความเสี่ยงต่อการชะลอลงอีกครั้งหลังจากเริ่มปรับตัวดีขึ้น (W-shape Recovery)

แนวนโยบายของทางการเอเชียบูรพา

สศค. วิเคราะห์ว่า เพื่อป้องกันการหดตัวอีกครั้ง ทางการของประเทศในเอเชียบูรพาจะต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของประเทศในเอเชียบูรพาในช่วงที่ผ่านมานั้น มักเป็นมาตรการที่กระตุ้นการบริโภคที่มีผลระยะสั้นเป็นหลักในขณะที่การกระตุ้นการลงทุนระยะยาวมีไม่มากนัก

ขณะเดียวกัน จากการพิจารณาโครงสร้างเศรษฐกิจ พบว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียบูรพา ส่วนใหญ่มีสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP ที่ลดลงมามากโดยเฉพาะหลังวิกฤตการณ์การเงินเอเชียบูรพาในปี 2540 เช่น มาเลเซียที่ลดการลงทุน จากร้อยละ 43 ต่อ GDP ในปี 2540 เหลือเพียงร้อยละ 19 ในปี 2551

ดังนั้น ในระยะต่อไป จึงเป็นไปได้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของเอเชียบูรพาในระยะต่อไป น่าจะมุ่งเน้นที่จะกระตุ้นการลงทุนภาครัฐเป็นหลัก โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Investment) เพื่อให้เกิดการลงทุนภาคเอกชน (Crowding-in Effect) ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับภาคการผลิตในการฟื้นตัวเมื่อความต้องการของตลาดโลก รวมถึงความต้องการภายในประเทศกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งนอกจากนั้น การที่สถานะทางการคลังของประเทศในเอเชียบูรพายังคงแข็งแกร่ง สะท้อนจากหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ประเทศเหล่านี้มีศักยภาพในการกระตุ้นการลงทุนได้

ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวก็จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) และการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว (Potential Output) ซึ่งจะส่งผลต่อสัดส่วนของรายได้ต่อครัวเรือน ต่อ GDP ให้สูงขึ้นรวมถึงทำให้สัดส่วนการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนต่อ GDP ให้สูงขึ้นซึ่งจะทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคนี้มีความสมดุลมากขึ้น

Source: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ