รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 7 กันยายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 7, 2009 11:06 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 7 ก.ย. 2552

Summary:

1. แอตต้าคาดนักท่องเที่ยวครึ่งปีหลัง 2552 ลดลงร้อยละ 30

2. สภาพัฒน์เผยไตรมาส 2 ว่างงานลดลง

3. Fed ประกาศขยายวันสิ้นสุดการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ

Highlight:
1. แอตต้าคาดนักท่องเที่ยวครึ่งปีหลัง 2552 ลดลงร้อยละ 30
  • นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว(แอตต้า) เผยถึงแนวโน้มการท่องเที่ยวช่วงครึ่งปีหลังว่า สถิติการเดินทางของนักท่องเที่ยวทุกประเทศเดินทางเข้าไทยลดลง ประมาณ 30-40 ต่อปี อาทิ ตลาดนักท่องเที่ยวจีน เกาหลี สแกนดิเนเวีย ดูไบ และกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ได้ชี้แจงยังบริษัทนำเที่ยว ที่นำนักท่องเที่ยวเข้าประเทศถึงเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ให้ความสนใจการเมืองภายในประเทศเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ความแปรปรวนทางการเมือง จะเป็นตัวชี้วัดในการตัดสินใจเดินทางของนักท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น (ก.ย.— ธ.ค.52) คาดนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศอยู่ที่ประมาณ 11.5 ล้านคน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวประมาณ 4 แสนล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเดินทางเข้าของนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเริ่มฟื้นตัว เห็นได้จากตัวเลขในเดือนมิ.ย.และ ก.ค.ที่เทียบกับเดือนก่อนหน้า เริ่มมีการขยายตัวร้อยละ 1.2 และ 1.7 m-o-m ตามลำดับ ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ความอ่อนไหว นักท่องเที่ยวจากกลุ่มเอเชียตะวันออกซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 24.7 จะมีความอ่อนไหวสูงต่อสถานการณ์ต่างๆ ขณะที่กลุ่มยุโรปสัดส่วนร้อยละ 25.5 มีความอ่อนไหวต่ำดังจะเห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวจากกลุ่มยุโรปในเดือนก.ค.เริ่มมีการขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี ขณะที่กลุ่มเอเชียตะวันออกยังคงมีการหดตัวที่ร้อยละ -28.6 ต่อปี ทั้งนี้ จากแบบจำลองภาคการท่องเที่ยวของ สศค. คาดว่าปัจจัยด้านการเมืองและปัญหาไข้หวัดใหญ่ 2009 ในกรณีกระทบน้อยจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศในปี 52 มีทั้งสิ้น 13.0 ล้านคน ลดลงร้อยละ -10 จากปี 51 และสร้างรายได้เข้าประเทศ 468 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 20 ต่อปี
2. สภาพัฒน์เผยไตรมาส 2 ว่างงานลดลง
  • สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยภาพรวมอัตราการจ้างงานของคนไทยในช่วงไตรมาส 2/52 (เม.ย.-มิ.ย.) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ส่งผลให้อัตราการว่างงานที่คาดการณ์ไว้ในช่วงไตรมาสแรกว่าจะสูงถึง 1 ล้านคน ลดลงเหลือ 6.7 แสนคน แต่ยังมีปัญหาเรื่องแรงงานที่มีคุณภาพและผู้จบการศึกษาใหม่ยังมีอัตราการว่างงานสูงขึ้นซึ่งภาครัฐจะต้องเข้ามาดูแลมากขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราการว่างงานที่ปรับตัวลดลงในไตรมาส 2/52 สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากไตรมาสแรกของปี 52 เนื่องจากประชาชนเริ่มมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ประกอบกับการลงทุนได้รับแรงเสริมจากการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้ จากข้อมูลจำนวนของผู้ว่างงานล่าสุดในเดือน ก.ค. 52 ปรับตัวดีขึ้นโดยมีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 4.8 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.2 ลดลง 7 หมื่นคน จากเดือนก่อนหน้าที่มีจำนวนผู้ว่างงาน 5.5 แสนคน โดยตัวเลขการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นเป็นในส่วนของภาคการเกษตรเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม จากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 คาดว่าจะเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1.5 ล้านอัตรา จากการลงทุนในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งดังกล่าว
3. Fed ประกาศขยายวันสิ้นสุดการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
  • ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศขยายวันสิ้นสุดโปรแกรมการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ออกไปอีกประมาณหนึ่งเดือน ในขณะที่ยังคงดำเนินนโยบายเข้าซื้อตราสารหนี้ทางการเงินของสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งจะเป็นจำนวนเงินทั้งหมด 1.25 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงการเข้าซื้อหนี้ของสถาบันการเงินที่รัฐสนับสนุนเพื่อที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็น Fannie Mae และ Freddie Mac ในวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจาก Fed ยังคงกังวลถึงอัตราการว่างงานที่สูง โดยทางการสหรัฐฯคาดการณ์ว่าอัตราการว่างงานจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งในเดือนส.ค. ที่ร้อยละ 9.5 ของแรงงานรวม ขณะที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายกังวลกับอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และอาจจะเกิดภาวะเงินฝืดได้ (Deflation)
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ Fed ดำเนินการดังกล่าวนั้น เนื่องจากระบบการเงินสหรัฐฯยังคงมีปัญหา ทำให้ Fed ยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (Quantitative Easing) อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวอาจจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อในระยะยาวของสหรัฐฯ เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่า ณ สิ้นปี 52 หนี้สาธารณะของรัฐบาลสหรัฐฯ จะสูงถึงร้อยละ 50.8 ต่อ GDP มากกว่าปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 37.5 ต่อ GDP และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจนอาจถึงร้อยละ 79.2 ต่อ GDP ได้ในปี 56 และอาจจะต้องขอให้ Fed เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล (Monetization of Fiscal Deficit) หรืออีกนัยคือเป็นการเพิ่มปริมาณเงินในระบบมากขึ้นและนำไปสู่ความเสี่ยงเงินเฟ้อได้ในที่สุด

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ