รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม - 4 กันยายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 7, 2009 11:28 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week

ปริมาณการจำหน่ายปูนซิเมนต์ ในเดือน ก.ค. 52 ขยายตัวที่ร้อยละ2.9 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.5 ต่อปี และถือเป็นเดือนที่ 2 ที่ขยายตัวเป็นบวก ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายเหล็กในเดือน ก.ค. 52 หดตัวลดลงที่ร้อยละ -23.4 ต่อปีจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -31.7 ต่อปี ซึ่งจากการที่ปริมาณการจำหน่ายปูนซิเมนต์และการจำหน่ายเหล็ก ปรับตัวดีขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้างเริ่มปรับตัวดีขึ้นบ้างแต่ไม่ชัดเจนมากนัก ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงครึ่งหลังปี 52 ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์และยอดเหล็กจะปรับตัวดีขึ้น จากการลงทุนในประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามโครงการไทยเข้มแข็ง มาตรการสินเชื่อ Fast Track และบรรยากาศเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ส.ค. 52 หดตัวร้อยละ -1.0 ต่อปี หดตัวชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -4.4 ต่อปี นับเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 สาเหตุจากฐานในการคำนวณในปีที่ผ่านมาสูง แต่หากพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือนนี้ขยายตัวร้อยละ 0.4 โดยมีสาเหตุหลักมาจาก 1)ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศเฉลี่ยขยายตัวสูงที่ร้อยละ 5.8 ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น 2)ราคาข้าว(ข้าวสารเจ้าและข้าวสารเหนียว) ขยายตัวร้อยละ 0.6 จากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ท้องตลาดที่ลดลง ขณะที่สินค้าในหมวดเนื้อสุกร ผักสดและผลไม้สด มีราคาปรับตัวลดลงร้อยละ 1.8, 1.1, 0.2 ตามลำดับ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ส.ค. 52 หดร้อยละ -0.2 ต่อปีนับเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ส.ค. 52 หดตัวร้อยละ -18.8 ต่อปีเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน (ธ.ค.51 — ส.ค.52) โดยสาเหตุมาจากการลดลงของดัชนีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่หดตัวลงร้อยละ -39.8 ต่อปี โดยได้รับแรงกดดันจากอุปสงค์ที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่หดตัวลง อย่างไรก็ตาม การลดลงของดัชนีวัสดุก่อสร้างดังกล่าว จะเป็นปัจจัยบวกในการลงทุนในหมวดการก่อสร้างในระยะต่อไป

สินเชื่อภาคเอกชนรวม ณ สิ้นเดือน ก.ค. 52 เท่ากับ 8,511 พันล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ประมาณร้อยละ 2.7 ต่อปี (y-o-y) ทั้งนี้ หากพิจารณาเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่าสินเชื่อภาคเอกชนรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย. ประมาณ 12 พันล้านบาทหรือร้อยละ 0.1 ต่อเดือน โดยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลงประมาณ58 พันล้านบาท (หดตัวที่ร้อยละ -1.0 ต่อเดือน) ในขณะที่สินเชื่อภาคเอกชนของ SFIs ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 32 พันล้านบาท(ขยายตัวที่ร้อยละ 1.8 ต่อเดือน) ในขณะที่สินเชื่อภาคเอกชนที่ปล่อยโดยสหกรณ์ออมทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 43 พันล้านบาท (ขยายตัวที่ร้อยละ 4.8 ต่อเดือน) สะท้อนถึงบทบาทที่เพิ่มขึ้นของสหกรณ์ออมทรัพย์และ SFIs ในการให้สินเชื่อแก่ภาคเอกชนในช่วงที่ธนาคารพาณิชย์ลดบทบาทการให้สินเชื่อท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจหดตัว

ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ก.ค.52 เกินดุลต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่0.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากดุลการค้าเกินดุล 0.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามมูลค่านำเข้าที่ลดลงมากกว่ามูลค่าส่งออก ขณะที่ดุลบริการ เงินโอน และบริจาคขาดดุลที่ -0.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สาเหตุจากมีการส่งคืนผลประโยชน์จากการลงทุนคืนมากกว่ารายรับจากดุลบริการด้านการท่องเที่ยว ทั้งนี้ 7 เดือนแรกปี 52 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลทั้งสิ้น 11.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากดุลการค้าที่เกินดุล 12.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ดุลบริการขาดดุลที่ 0.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Economic Indicators: Next Week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ส.ค. 52 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -3.0 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -2.6 ต่อปี ตามการลดลงของผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะมันสำปะหลังและข้าวนาปรัง เนื่องจากอยู่ในช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรทำการเก็บเกี่ยวลดลง ส่วนยางพาราคาดว่าผลผลิตลดลงเช่นกัน เนื่องจากมีฝนตกชุกหนาแน่นซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเก็บเกี่ยว

Foreign Exchange Review

ค่าเงินสกุลหลักของประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ในสัปดาห์นี้ยังคงอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแทบทุกสกุลยกเว้นค่าเงินเยน

ค่าเงินของประเทศคู่ค้าของไทยส่วนใหญ่ยกเว้นเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากความต้องการที่จะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง (Risky assets) ทั่วโลกปรับตัวลดลงไม่ว่าจะเป็นในสหรัฐฯ ยุโรปและภูมิภาคตามความเสี่ยงในตลาดที่เพิ่มมากขึ้นจากปัจจัยลบได้แก่ (1) แถลงการณ์ของธนาคารกลางสหรัฐฯ(FED)ในสัปดาห์นี้ที่กล่าวว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐจะเป็นไปอย่างช้าและอาจใช้เวลานาน (2) ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนในเดือน ส.ค. (ADP Employer Services) ที่ปรับลดลง 298,000 ตำแหน่งซึ่งมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดไว้ (3) ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ประกาศออกมาล่าสุดบางตัว เช่น ตัวเลขการใช้จ่ายภาคครัวเรือนของสหรัฐฯ และรายได้ของประชากรสหรัฐฯ ที่ขยายตัวน้อยกว่าที่คาดไว้ ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ของมหาวิทยาลัยมิชิแกนปรับตัวลดลงต่ำที่สุดในรอบ 4 เดือนที่ 65.7 จุด และ (4) ข่าวลือที่เปิดเผยโดยกองทุนประกันความเสี่ยง (Hedge Fund) ว่าธนาคารในสหรัฐฯแห่งหนึ่งอาจล้มละลาย ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลให้ตลาดหุ้น Wall Street ของสหรัฐฯในสัปดาห์นี้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องและส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ในยุโรปและภูมิภาคปรับตัวลดลงเช่นกัน ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและเยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆในยุโรปและภูมิภาค

ขณะที่ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเล็กน้อยที่ประมาณร้อยละ -0.27 จากปัจจัยความเสี่ยงที่มีมากขึ้น (Risk aversion) ข้างต้น ขณะที่ค่าเงินปอนด์สเตอลิงค์ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงหลังจากที่ตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 2 ที่ประกาศออกมาหดตัวที่ร้อยละ 0.7 จากไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ -5.5 ต่อปีซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้ประกอบกับตัวเลขดัชนีอุตสาหกรรมของอังกฤษปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกมาอยู่ที่ 49.7 จุดนั้นเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินปอนด์สเตอลิงค์เช่นกัน

ค่าเงินเยนในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นมามากที่สุดในรอบ 7 สัปดาห์จากปัจจัยความต้องการถือสินทรัพย์สกุลที่ปลอดภัยเพิ่มมากขึ้นประกอบกับได้รับแรงหนุนจากชัยชนะของพรรค Democratic party of Japan ในการเลือกตั้งซึ่งเพิ่มความหวังว่านโยบายใหม่ของพรรคดังกล่าวจะสนับสนุนการใช้จ่ายของผู้บริโภค

ค่าเงินภูมิภาคในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงตามปัจจัยความเสี่ยง (risk aversion) ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนโยกย้ายเงินออกจากตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาค

ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงที่ร้อยละ -0.15 นับจากช่วงสัปดาห์ก่อนและช่วงต้นเดือน ส.ค. โดยเป็นการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค

ค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงเล็กน้อยที่ประมาณร้อยละ -0.15 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับตัวเลขเงินทุนไหลออกจากตลาดหลักทรัพย์ไทยประมาณ 1,200 ล้านบาท ประกอบกับมีความเป็นไปได้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้าดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทโดยเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพที่ระดับประมาณ 34.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 12 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐปอนด์สเตอร์ลิงค์ ยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลีดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 3 ก.ย. 52 แข็งค่าขึ้นจากค่าเงิน ณ วันที่ 1 ม.ค. 52 ที่ร้อยละ 1.58 แต่อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 1.84

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 4.7) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 4.5) เงินเยน (ร้อยละ 3.5) สิงคโปร์ (ร้อยละ 2.3) ดอลลาร์ไต้หวัน(ร้อยละ 2.3) หยวน (ร้อยละ 2.1) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 2.0) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 1.9) วอนเกาหลี (ร้อยละ 0.7) ยูโร (ร้อยละ 0.0) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ -8.4) และรูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ -4.5) ตามลำดับ

Foreign Exchange and Reserves

ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 28 ส.ค.52 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) เพิ่มขึ้นสุทธิ 1.59 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 139.56 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำนวน 1.79 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นการลดลงของ Forward Obligation จำนวน -0.20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เข้าดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทในภาวะที่ตลาดโลกมีความผันผวนนอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในตลาดหลักทรัพย์พบว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมาต่างชาติมีการซื้อสุทธิเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่มีการขายสุทธิ อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินของธปท.ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น มีเพียงพอต่อความต้องการขายเงินดอลลาร์สหรัฐของผู้ส่งออกและการไหลเข้าในตลาดหลักทรัพย์โดยรวม จึงทำให้ ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมา(28 ส.ค. 52) อยู่ในระดับเดียวกับสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 33.97 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

Major Trading Partners’ Economies: This Week

ดัชนีการจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ (ISM Mfg PMI) เดือนส.ค.52 ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ที่ระดับ 52.9 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 48.9 โดยดัชนียอดคำสั่งสินค้าใหม่ ดัชนีการผลิต ดัชนีการส่งออก และความเร็วของการส่งมอบสินค้าล้วนขยายตัว อนึ่ง ตัวเลขดัชนีที่สูงกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯขยายตัวได้อีกครั้ง หลังจากที่หดตัวติดต่อกันถึง 18 เดือน

ดัชนีการจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Mfg PMI) ของยูโรโซนเดือนส.ค.52 อยู่ที่ระดับ 48.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 46.3ทั้งนี้ แนวโน้มการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศยูโรโซนมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากดัชนีคำสั่งซื้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 51.1

ดัชนีการจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (PMI) ของญี่ปุ่นเดือนส .ค 52 .อยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี ที่ 53.6 จากระดับ50.4 ในเดือนก.ค. เป็นสัญญาณว่าภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัว ทั้งนี้ ดัชนีดังกล่าวได้ผ่านระดับ 50 ซึ่งเป็นระดับแบ่งแยกระหว่างการหดตัวและการขยายตัวแล้ว โดยดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.2ตามอุปสงค์ภายนอกที่เริ่มฟื้นตัว

ดัชนีการจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีนเดือนส.ค. 52 โดยทางการจีนอยู่ที่ระดับ 54.0 ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.3 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีที่รวบรวมโดย HSBC (เดิมรวบรวมโดย CLSA) ที่อยู่ที่ระ ดับ 55.1 โดยดัชนีที่สูงกว่าระ ดับ 50 เ ป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันบ่งชี้ว่าภาคอุตสาหกรรมจีนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Mfg PMI) ของสิงคโปร์ในเดือนส .ค .52 ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 54.4 จาก 51.5 ในเดือนก.ค. บ่งชี้การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมสิงคโปร์ โดยส่วนใหญ่เป็นการขยายตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากอุปสงค์ภายในและภายนอกประเทศเพิ่มขึ้น

ดัชนีการจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของฮ่องกง (PMI) เดือนส.ค. 52 ปรับตัวสูงกว่าระดับ 50 และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 20 เดือนที่ระดับ 52.8 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 49.9 เท่ากับว่าภาคอุตสาหกรรมฮ่องกงกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งแล้ว หลังจากที่หดตัวติดต่อกัน 13 เดือน

ดัชนีการจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของอินเดีย (PMI) เดือนส.ค. 52 ปรับตัวลดลงที่ระดับ 53.2 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 55.3 เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ปรับตัวลดลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ระดับดัชนีที่สูงกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่าการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมยังคงขยายตัว

การส่งออกและนำ เข้าสินค้าของเกาหลีใต้เดือนส .ค .52 ยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยการส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -20.6 ต่อปี จาก -21.8 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า โดยการส่งออกในเดือนส.ค.ลดลงเหลือ 1.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน จาก 1.39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ในเดือนก.ย. ผลจากส่งออกไปจีนที่ลดลงจากช่วงต้นปีที่ได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนขณะที่การนำเข้าหดตัวร้อยละ -32.2 ต่อปี จาก -35.7 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า

มูลค่าการส่งออกสินค้าของอินโดนีเซียเดือนก.ค.52 หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -23.0 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -27.2 ต่อปี โดยการส่งออกสินค้าที่หักเชื้อเพลิงไปยังจีนขยายตัวร้อยละ 25.4 ต่อปี ส่วนตลาดสหรัฐฯ และยุโรป หดตัวร้อยละ -16.1 และ -12.6 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ -32.5 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ร้อยละ -34.4 ต่อปี ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 9.6 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ

มูลค่าการส่งออกสินค้าของเวียดนามเดือนส.ค.52 หดตัวชะลอลงเล็กน้อยติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ที่ร้อยละ -21.9 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -23.1 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและสิ่งทอ ที่หดตัวที่ร้อยละ -5.5 และ -6.8 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่การนำเข้าสินค้าเดือนส.ค.52 หดตัวร้อยละ -1.2 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -10.3 ต่อปี ทำให้ดุลการค้าเวียดนามเดือนส.ค. 52 ขาดดุลที่ -1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลข GDP ออสเตรเลียไตรมาส 2 ปี 52 ขยายตัวร้อยละ 0.6 ต่อปี ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 ต่อปี มีสาเหตุสำคัญมากจากการการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ต่อปี จากที่ขยายตัวร้อยละ 0.9 ต่อปี ในไตรมาสก่อน อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกยังคงหดตัวที่ร้อยละ -3.0 และ -0.1 ต่อปี ตามลำดับ

เศรษฐกิจอินเดียในไตรมาสที่ 2 ปี 52 ขยายตัวร้อยละ 6.1 ต่อปี เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.8 ต่อปี จากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การผลิตของอินเดียขยายตัวเร่งขึ้นมาก โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและก่อสร้างที่ขยายตัวร้อยละ 3.5 และ 7.1 ต่อปี ตามลำดับทั้งนี้ เศรษฐกิจอินเดียครึ่งแรกปี 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.9 ต่อปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ