รายงานภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่น ประจำสัปดาห์วันที่ 31 สิงหาคม-4 กันยายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 7, 2009 13:56 —กระทรวงการคลัง

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ดังนี้

สรุป

1. ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญเดือน ก.ค. 52 ที่ประกาศในสัปดาห์นี้

1.1 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เทียบกับเดือน มิ.ย.52 เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเวลา 5 เดือนแล้ว จากแนวโน้มการผลิตที่เพิ่มขึ้น

1.2 ดัชนีราคาผู้บริโภค ลดลงร้อยละ 2.2 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า ลดลง 5 เดือนติดต่อกันแล้ว ภาวะเงินฝืดยังคงมีอยู่

1.3 อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.7 เทียบกับร้อยละ 5.4 ในเดือน มิ.ย.52 สูงที่สุดนับตั้งแต่ เม.ย.46

1.4 การใช้จ่ายภาคเอกชน ไตรมาสที่ 2 (เม.ย.-มิ.ย.52) ลดลงร้อยละ 21.7 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า

2. สมาพันธ์อุตสาหกรรมญี่ปุ่นแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับนโยบายก

----------------------------------------------------

1. ดัชนีเศรษฐกิจที่ประกาศในสัปดาห์นี้

1. 1 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Output) เดือน ก.ค. 52 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9

กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (Ministry of Economic Trade and Industry:METI)ได้เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Output) ของเดือน ก.ค. 52 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย.52 มาอยู่ที่ระดับ 82.4 (ปี 2005=100) ซึ่งเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเวลา 5 เดือนแล้ว กระทรวง METI ระบุว่าได้รับผลจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งแนวโน้มความต้องการจากต่างประเทศก็เริ่มฟื้นตัวขึ้น

1.2 ดัชนีราคาผู้บริโภค (Core Consumer Price Index)

กระทรวงมหาดไทยและการสื่อสารได้เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค ยกเว้นอาหารสด (CPI, ปี 2548=100) ประจำเดือน ก.ค.52 ลดลงร้อยละ 2.2 อยู่ที่ 100.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า ดัชนีราคาผู้บริโภคได้ลดลงต่อเนื่องติดต่อกัน 5 เดือนแล้ว เนื่องจากราคาสินค้าบริโภคลดลง แสดงถึงภาวะเงินฝืดยังคงมีอยู่

1.3 อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate)

อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.7 เทียบกับร้อยละ 5.4 ในเดือน มิ.ย.52 เพิ่มสูงที่สุดนับตั้งแต่ เม.ย.46

1.4 การใช้จ่ายภาคเอกชนไตรมาสที่ 2 ลดลงร้อยละ 21.7 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่าการใช้จ่ายภาคเอกชน (corporate capital spending) ไตรมาสที่ 2 (เม.ย.-มิ.ย.52) ลดลงร้อยละ 21.7 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า โดยภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing) ลดลงร้อยละ 32 ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนลดลงด้านโรงงาน อุปกรณ์การผลิต ในขณะที่นอกภาคอุตสาหกรรม (Non-Manufacturing) ใช้จ่ายลดลงร้อยละ 14.2

2. สมาพันธ์อุตสาหกรรมญี่ปุ่นแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับนโยบายการตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มเป็นร้อยละ 25 ของพรรค DPJ

สมาพันธ์องค์กรเศรษฐกิจญี่ปุ่น (Nippon Keidanren) จะจัดการประชุมระดับผู้บริหารในวันที่ 14 ก.ย.52 นี้เพื่อหารือจัดทำข้อเสนอต่อพรรค DPJ ที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในกลางเดือนนี้ เนื่องจาก Nippon Keidanren เกรงว่านาย Yukio Hatoyama ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่จะเข้าร่วมประชุม U.N. Secretary General `s Climate Change Summit Meeting ณ นครนิวยอร์ค ในวันที่ 22 ก.ย.52 จะนำเสนอนโยบายทางสิ่งแวดล้อมของพรรค DPJ ที่ได้มีการตั้งเป้าจะลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 25 ภายในปี 2563 เมื่อเทียบกับปีฐานคือปี 2533 ซึ่งเป็นเป้าที่สูงมากเมื่อเทียบกับที่รัฐบาลของนาย Taro Aso นายกรัฐมนตรีคนก่อนได้ตั้งไว้ โดย Nippon Keidanren ได้แสดงความไม่เห็นด้วยเนื่องจากจะส่งผลต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจและเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างมาก และหากนาย Hatoyama ได้นำเรื่องนี้ประกาศต่อที่ประชุมในระดับโลกแล้ว จะทำให้เป้าการลดก็ซเรือนกระจกใหม่นี้กลายเป็นวาระของแห่งชาติของญี่ปุ่นโดยทันที และจะทำให้ญี่ปุ่นตกอยู่ในสภาวะที่เสียเปรียบจากการตีกรอบตัวเอง

พรรค DPJ ได้ประกาศระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งว่าจะให้ความสำคัญกับการลดก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น โดยอาจจะนำระบบ Cap and Trade เหมือนในสหภาพยุโรปมาบังคับเอกชนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายใต้ Kyoto Protocol โดยในช่วงรัฐบาล LDP ที่ผ่านมา Nippon Keidanren ประสบความสำเร็จในการล้อบบี้รัฐบาล ให้ใช้รูปแบบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบสมัครใจแทนการบังคับ

สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำกรุงโตเกียว

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ