บทบาทของสหกรณ์การเกษตรในการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรในญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 7, 2009 14:11 —กระทรวงการคลัง

1. บทนำ

JA Group เป็นสหกรณ์การเกษตรหลักของประเทศญี่ปุ่นที่เกิดจากการรวมตัวของสมาชิกเกษตรกรทั่วประเทศ จัดตั้งภายใต้กฎหมายสหกรณ์การเกษตร มีหน้าที่หลักคือ การให้ความรู้และความช่วยเหลือเกษตรกรในการบริหารกิจการเกษตร ได้แก่ 1) ให้บริการด้านการเงินต่างๆ เช่นการให้เงินกู้ การรับฝากเงิน และการประกันต่างๆ ทั้งประกันชีวิตและประกันวินาศภัย 2) เป็นตัวกลางในการสั่งซื้ออุปกรณ์และวัตถุดิบทางการเกษตร และรวบรวมผลผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกษตรของสมาชิกสหกรณ์เพื่อรักษาระดับเสถียรภาพของราคา 3) ให้คำปรึกษาและฝึกอบรมให้ความรู้แก่สมาชิกด้านการเกษตรต่างๆ 4) ให้การสนับสนุนด้านชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร เช่น การจัดให้มีระบบสวัสดิการต่างๆ JA จึงเป็นสหกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของเกษตรกรญี่ปุ่นทั่วประเทศอย่างแท้จริง ทั้งนี้ JA ได้แบ่งระดับหน่วยงานเป็น 3 ระดับคือ 1) ระดับประเทศ 2) ระดับจังหวัด 3) ระดับท้องถิ่น ทุกระดับจะทำงานสอดคล้องกันในการรักษาผลประโยชน์แก่สมาชิกเกษตรกร

2. การจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรภายใต้ระบบการตลาด ของ JA

ปัจจุบันญี่ปุ่นอยู่ในสภาพที่ผลิตอาหารไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ ต้องพึ่งพาการนำเข้าผลิตภัณท์อาหารจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ จากสถิติในปี 2548 ญี่ปุ่นมีอัตราการพึ่งพาตนเองด้านอาหารเพียงร้อยละ 40 ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2508 ที่ผลิตอาหารได้เองถึงร้อยละ 73 รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้ตั้งเป้าเพิ่มอัตราการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร ให้ได้ร้อยละ 45 ภายในปี 2553 นอกจากนี้ ปัจจุบันญี่ปุ่นยังกำลังประสบปัญหาคุณภาพอาหารที่นำเข้าจากต่างประเทศที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น กรณีที่มีการตรวจพบสารปรอทในผลิตภัณท์อาหารที่นำเข้าจากจีนที่เป็นผู้ส่งสินค้าประเภทอาหารรายใหญ่ให้แก่ญี่ปุ่น ส่งผลให้ต้องมีการหยุดการนำเข้าเพื่อตรวจสอบคุณภาพอีกครั้ง ซึ่งหากในอนาคตยังเกิดปัญหาเช่นนี้เพิ่มมากขึ้น ก็อาจจะส่งผลให้ปริมาณอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของประชากรในประเทศก็เป็นได้

ภายหลังการแก้ไขกฎหมายสหกรณ์การเกษตรในปี 2544 ทำให้หน้าที่การให้คำปรึกษาและฝึกอบรมเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจทางการเกษตรนั้นได้ตกมาเป็นหน้าที่ของ JA โดยตรง นอกจากนี้ JA ได้มีนโยบายที่จะตอบสนองการเพิ่มอัตราการพึ่งพาตนเองด้านอาหารของญี่ปุ่นและการฟื้นฟูระบบการเกษตรอีกด้วย เนื่องจากแนวโน้มเกษตรกรมีจำนวนลดลง โดยเมื่อปี 2543 มีจำนวน 3.89 ล้านคน แต่ได้มีการคาดการณ์ว่าจะลดลงเหลือเพียง 1.82 ล้านคนในปี 2568 ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสถานะของ JA ที่เป็นสหกรณ์การเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในอนาคตอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของธุรกิจการเงิน การประกัน และในส่วนการให้การให้คำปรึกษาและฝึกอบรมทางด้านการบริหารธุรกิจการเกษตร ที่ปัจจุบันเป็นส่วนเดียวที่มียังผลประกอบการขาดทุน ซึ่ง JA ได้วางแผนการปรับปรุงระบบการดำเนินงานในส่วนของการให้คำปรึกษาและฝึกอบรม โดยมีข้อสังเกตว่า ถึงแม้การให้คำปรึกษาและฝึกอบรมจะดีเพียงใด แต่หากผลผลิตทางการเกษตรที่เกษตรกรผลิตขึ้นมา ไม่สามารถขายได้จริง จะทำให้ JA ไม่ได้รับความเชื่อถือจากสมาชิกเกษตรกรเป็นอย่างแน่นอน JA จึงพิจารณานำระบบการตลาดมาใช้จัดจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดจำหน่ายของสหกรณ์ โดยมีรายละเอียดดังนี้

2.1 ระบบการจัดจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรของ JA

ที่ผ่านมา JA มีหน้าที่ในการรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรจากสมาชิก และนำไปส่งต่อให้แก่ตลาดขายส่งสินค้าเกษตรขนาดใหญ่ โดย JA จะได้รับผลตอบแทนการดำเนินการเป็นส่วน แบ่งจากยอดขายสินค้าดังกล่าว หรือเปรียบได้กับพ่อค้าคนกลางนั่นเอง ทำให้ที่ผ่านมา JA เน้นการชี้แนะเกี่ยวกับการเพิ่มขนาดของฐานการผลิตและชนิดของสินค้าทางการเกษตรที่หลากหลายเป็นหลักซึ่งมีข้อเสียของระบบนี้คือ สหกรณ์และสมาชิกจะทราบเพียงแต่ความต้องการของตลาดขายส่งแต่ไม่ทราบถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค ทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าที่ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภค หรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าของตนเองได้ จนทำให้ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยน แปลงของตลาดสินค้าอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.2 การเปลี่ยนแปลงของตลาดสินค้าอาหารในปัจจุบัน

ในปัจจุบันความต้องการของตลาดสินค้าอาหาร ได้เปลี่ยนไปในแนวทางที่ยึดเอาความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก ซึ่งมีข้อสังเกตการเปลี่ยนแปลงของตลาด ดังนี้

2.2.1 จากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงตามมา เช่น การที่ผู้หญิงได้เริ่มออกมาทำงานนอกบ้านมากขึ้น ทำให้ไม่มีเวลาในการทำอาหารเหมือนเช่นที่ผ่านมา รวมทั้งการรับประทานอาหารในเวลาที่ต่างกันส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหาร และอาหารสำเร็จรูปได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าเกษตรเพื่อตอบสนองธุรกิจดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น แต่เนื่องจากความต้องการสินค้าเกษตรประเภทนี้มีจุดเด่นในเรื่องของราคาที่จะต้องถูก จึงทำให้มีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศซึ่งมีราคาถูกกว่าและสามารถเก็บได้นานกว่า เช่น เอาผักแช่แข็งมาใช้เป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันบริษัทนำเข้าสินค้าเกษตรนั้นได้พัฒนาด้านคุณภาพและราคาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การปรับความรวดเร็วและกรรมวิธีการนำเข้าผักสดจากต่างประเทศ ทำให้ยังคงความสดไว้ได้ และการขายสินค้าทางอินเตอร์เน็ตเพื่อลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลงด้วย

2.2.2 นอกจากนี้ สังคมญี่ปุ่นได้พ้นจากยุคสมัยที่ต้องการอาหารมาบริโภคเพียงเพื่อการดำรงชีพเท่านั้นแล้ว ผู้บริโภคปัจจุบันมีสิทธิที่จะเลือกและรับรู้ข้อมูลต่างๆ ของอาหารที่ตนบริโภค ทำให้การบริโภคอาหารถือเป็นความสุนทรีย์อย่างหนึ่งของชาวญี่ปุ่นปัจจุบัน รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของโรคภัยต่างๆที่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการบริโภค ทำให้มีการพัฒนาสินค้าชนิดใหม่ๆ ที่เน้นคุณค่าทางอาหารและเป็นผลดีต่อสุขภาพ เช่นผักปลอดสารพิษ หรือผลไม้ที่ได้รับการคัดเลือกคุณภาพดีพิเศษได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เป็นต้น

2.2.3 ประเด็นสำคัญที่สุดของธุรกิจสินค้าเกษตรและอาหารในญี่ปุ่นปัจจุบันนี้ คือความปลอดภัย นับตั้งแต่ช่วงปี 2513 เป็นต้นมา ปัญหาการปนเปื้อนของอาหารและปริมาณยาฆ่า แมลงหรือสารเคมีทางการเกษตรตกค้าง ได้สร้างความกังวลให้แก่ผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งมีปัญหาใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกมากมาย เช่น โรควัวบ้า หรือการปนเปื้อนของสารปรอทในอาหารที่นำเข้าจากประเทศจีน การปลอมแปลงแหล่งผลิตสินค้า (เช่นติดสลากว่าผลิตในญี่ปุ่น แต่ในความเป็นจริง

ผลิตจากจีน เพื่อเพิ่มราคาให้สูงขึ้น) เป็นต้น ซึ่ง JA ก็เคยมีปัญหาการปลอมแปลงข้อมูลของสินค้าในอดีตด้วย ทำให้ผู้บริโภคมีความกังวลและระมัดระวังในการเลือกซื้อสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้น ผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารจะต้องแจงข้อมูลแก่ผู้บริโภคโดยละเอียดนับตั้งแต่ที่มาของสินค้า ขั้นตอนการผลิต การแปรรูป การขนส่ง เพื่อสร้างความมั่นใจในสินค้าของตนเองแก่ผู้บริโภคมากขึ้นด้วย หรือที่เรียกว่า Traceability

จากปัญหาที่ได้กล่าวมาในข้างต้นนี้ JA จึงได้ปรับปรุงกลยุทธด้านการตลาด โดยกำหนดปัญหาและแนวทางการแก้รวมเป็นปัญหา 7 ข้อ ได้แก่

1) เดิมพึ่งพาผู้อื่น - เป็นการพึ่งพาตนเอง

2) เดิมขายสินค้าที่ผลิต — เป็นผลิตสินค้าที่ขายได้

3) เดิมตอบสนองตลาด — เป็นตอบสนองผู้บริโภคโดยตรง

4) เดิมขายส่งเป็นครั้งๆไป — เป็นสร้างความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องในการขายสินค้ากับลูกค้าเพื่อรักษาลูกค้า

5) เดิมแข่งขันเรื่องราคา — เป็นแข่งขันเรื่องคุณภาพสินค้า

6) เดิมมีรูปแบบการดำเนินงานด้านเดียว — เป็นการดำเนินงานที่หลากหลาย

7) เดิมขาดการเสนอข้อมูลสินค้า — เป็นแลกเปลี่ยนข้อมูลและนำเสนอข้อมูลรายละเอียดของสินค้า

3. การพัฒนาระบบการตลาดของ JA

การดำเนินระบบการตลาดของ JA ได้มีการพัฒนาและดำเนินการต่างๆ ดังนี้

3.1 ศึกษาวิเคราะห์เพื่อเรียนรู้ท้องถิ่นของตนเอง ประกอบด้วยการศึกษานโยบายทางการเกษตรของท้องถิ่นนั้นๆ การศึกษากฎระเบียบข้อบังคับต่างๆในการดำเนินการเกษตร และเป้าหมายโดยรวมของสังคมท้องถิ่นนั้นๆ

3.2 ศึกษาวิเคราะห์เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับผู้อยู่อาศัยในท้องถิ่น ประกอบด้วยการศึกษาพฤติกรรมการบริโภค ความต้องการ และความเห็นของผู้บริโภค รวมทั้งรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในท้องถิ่น

3.3 เรียนรู้เกี่ยวกับสหกรณ์ท้องถิ่น เริ่มจากการพิจารณาสภาพปัจจุบันของสหกรณ์ เพื่อหาจุดอ่อน/จุดแข็งของตน และรวมรวมข้อมูล เช่นสถานะทางการเงินปัจจุบัน ผลการประกอบการ ต่างๆ เพื่อจัดทำฐานข้อมูล จัดทำแบบสอบถามครอบครัวของสมาชิกสหกรณ์ หรือบริษัทการเกษตรเพื่อรับทราบปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบัน

3.4 นำข้อมูลที่ได้มาจัดวางระบบการบริหารสหกรณ์ เละกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่เพื่อจัดวางระบบการผลิตใหม่ให้ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภค

3.5 นำข้อมูลของสินค้าเปิดเผยแก่ผู้บริโภค เช่นแหล่งผลิตชนิดคุณภาพต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจในสินค้าให้แก่ผู้บริโภค (Traceability) เช่น ผักชนิดนี้ปลูก Farm ไหน จังหวัดอะไร โดยใครเมื่อได้รับความนิยมก็พัฒนาเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียง และทำให้ขายได้ราคาเพิ่มขึ้นอีก

3.6 พัฒนาวิธีการขายที่หลากหลายเพื่อเพิ่มตัวเลือกให้แก่ผู้บริโภค และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บริโภคเพื่อให้เป็นกลุ่มลูกค้าระยะยาว

4. เปรียบเทียบการจัดการสินค้าเกษตรไทยกับญี่ปุ่น และบทสรุป

จากผลการสำรวจของ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยล่าสุดเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาพบว่าปัจจุบันเกษตรกรไทยประสบปัญหาหนี้สินเพิ่มมากกว่ารายได้ เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำลง ในขณะที่มีต้นทุนการผลิตกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งจากผลการสำรวจยังพบว่าความเป็นอยู่ของเกษตรกรตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 41 และได้เรียกร้องให้รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรทั้งในด้านรักษาเสถียรภาพราคาและการจ้างงานเพิ่มขึ้น (จากไปทำงานในเมืองแล้วถูกเลิกจ้างเพราะวิกฤตเศรษฐกิจ) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นแล้ว หน้าที่การดูแลราคาสินค้าเป็นของสหกรณ์การเกษตร (JA) โดยแท้จริง ที่บริหารโดยสมาชิกสหกรณ์ที่เป็นเกษตรกรเองรวมทั้งการ

ให้บริการที่เกี่ยวกับการเกษตรทั้งหมดด้วย ทำให้สามารถตัดสินใจดำเนินการหรือกำหนดราคาได้ด้วยตนเองไม่ต้องรอรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ สิ่งสำคัญในการบริหารจัดการสหกรณ์การเกษตรของญี่ปุ่นคือการให้ความร่วมมือระหว่างเกษตรกรด้วยกันเอง เช่น เกษตรกรที่ผลิตมะเขือเทศก็จะมีการรวมกลุ่มกันในท้องถิ่นเพื่อกำหนดมาตรฐานสินค้า ปริมาณการผลิต และนำสินค้ามาจำหน่ายร่วมกัน

เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองด้านราคา ซึ่งมีประโยชน์กว่าการขายตรงต่อพ่อค้าคนกลางที่จะอาจต้องแข่งขันตัดราคากันเองระหว่างเกษตรกรในท้องถิ่นเดียวกัน เป็นต้น นอกจากนี้ มีข้อสังเกตที่สำคัญคือเกษตรกรญี่ปุ่นจำนวนประมาณร้อยละ 90 นั้นเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหกรณ์โดยความสมัครใจ เนื่องจากเห็นว่าระบบการบริหารจัดการของสหกรณ์มีประสิทธิภาพ ทำให้เกษตรกรมีความไว้วางใจในสหกรณ์ หน้าที่การช่วยเหลือเกษตรกรเป็นของสหกรณ์การเกษตรที่เกิดจากการรวมตัวของเกษตรกรด้วยกันเอง ดังนั้น ประเด็นสำคัญในปัจจุบันคือการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของสหกรณ์ โดยจะต้องมีการปรับปรุงอำนาจหน้าที่ใหม่ และมีการจัดระบบการบริหารงานที่ดี

เมื่อพิจารณาจากสหกรณ์การเกษตรญี่ปุ่นแล้ว หน้าที่ของสหกรณ์นั้นไม่ได้มีเพียงการกำหนดราคาสินค้า หรือให้บริการด้านการเงิน รวมทั้งให้เงินกู้เพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการให้ความรู้และฝึกอบรมแก่เกษตรกรในการประกอบอาชีพ ซึ่งฝ่ายที่ดำเนินการเกี่ยวกับการให้การศึกษาของสหกรณ์ญี่ปุ่นมีผลประกอบการขาดทุน เนื่องจากเป็นส่วนที่ไม่ก่อให้เกิดกำไร แต่สหกรณ์เห็นว่าเป็นสิ่งที่สำคัญในการสร้างพื้นฐานของเกษตรกรรมในประเทศและเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างเกษตรกรที่มีคุณภาพ โดยได้นำผลกำไรจากธุรกิจบริการการเงินของสหกรณ์มาใช้เป็นงบประมาณในส่วนนี้ นอกจากนี้ การติดตามให้คำปรึกษาด้านการใช้ชีวิตของเกษตรกรก็เป็นอีกสิ่งที่ละเลยมิได้ เช่น หากเกษตรกรมีหนี้สินก็อาจจะต้องมาปรึกษาว่าหนี้เกิดจากอะไร เป็นหนี้นอกระบบหรือหนี้ที่กู้จากสหกรณ์ เพื่อหาสาเหตุและกำหนดแผนการใช้หนี้คืนอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้สินเกินตัว จนไม่สามารถชดใช้ได้

ด้วยเหตุนี้ JA จึงมีความเข้มแข็งมากในการดูแลปกป้องผลประโยชน์ของชาวนา รวมไปถึงพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่โดยรวมให้ดีขึ้น มีการร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันละกันระหว่างสมาชิกให้ช่วยเหลือตนเองได้และได้สร้างชุมชนเข้มแข็ง และมีอิทธิพลมากในการเมืองท้องถิ่น จนถึงรัฐบาลกลาง สามารถกำหนดนโยบายการเกษตรระดับชาติ เช่น ขัดขวาง (Block) การเจรจาเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตรภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีที่ญี่ปุ่นทำกับประเทศต่างๆได้สำเร็จตลอดมา เพราะไม่ต้องการให้สมาชิกเสียผลประโยชน์

สำหรับเกษตรกรไทย สิ่งที่ภาครัฐของไทยควรให้ความช่วยเหลือคือ การให้การศึกษาและจัดผู้เชี่ยวชาญเข้าไปอบรมบุคลากรในสหกรณ์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สหกรณ์สามารถอยู่ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งความช่วยเหลือจากรัฐบาล ซึ่งเป็นผลดีต่อสมาชิกสหกรณ์เองและลดภาระของภาครัฐในอนาคต

------------------------------

ที่มา สรุปจากเอกสารและการบรรยายสรุปของ JA ญี่ปุ่น ในการเดินทางมาศึกษาดูงานระบบการจัดการด้านตลาดสินค้าเกษตร ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เมื่อ 3 ก.ค.52

สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจการคลัง ประจำกรุงโตเกียว

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ