รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 8 กันยายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 8, 2009 14:12 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 8 ก.ย. 2552

Summary:

1. ค่ายรถผลิตเพิ่มร้อยละ 10 หวั่นเกินความต้องการผู้ซื้อ

2. ที่ประชุม G-20 เห็นพ้องว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังคงมีความจำเป็น

3. ธนาคารกลางตกลงกฎระเบียบและข้อบังคับใหม่ในการดูแลระบบการเงินโลก

Highlight:
1. ค่ายรถผลิตเพิ่มร้อยละ 10 หวั่นเกินความต้องการผู้ซื้อ
  • อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เผยว่า ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์เดือนก.ค.52 ที่เริ่มกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากการที่ค่ายรถแต่ละรายเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติของการผลิตรถยนต์ในช่วงต้นไตรมาส 3 หลังจากที่ชะลอการผลิตลง ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างรุนแรง สำหรับยอดจำหน่ายรถยนต์ในช่วงครึ่งหลังของปี 52 มีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากมีการเปิดตัวสินค้าใหม่จากหลายค่ายรถ ทำให้ค่ายรถเริ่มเพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีคิดเป็นร้อยละ 10 ของยอดกำลังการผลิตในแต่ละเดือน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สำหรับยอดจำหน่ายรถยนต์ในเดือน ก.ค.52 ที่เริ่มปรับตัวดีซึ่งวัดจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่หดตัวร้อยละ -9.1 และขยายตัวร้อยละ 0.5 ต่อปี ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก ซึ่ง สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวขึ้นจากไตรมาสแรกของปี 52 เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น รวมถึงแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์กลับมาดีขึ้น ทำให้คาดว่าช่วงที่เหลือของปี 52 แนวโน้มการบริโภคภาคเอกชน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นคาดว่าจะมีส่วนผลักดันให้ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถยนต์เชิงพาณิชย์ปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป
2. ที่ประชุม G-20 เห็นพ้องว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังคงมีความจำเป็น
  • รัฐมนตรีคลังของประเทศ G-20 ต่างเห็นพ้องว่าการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังคงมีความจำเป็นต่อไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน หลังจากที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้กล่าวว่า หากรัฐบาลนานาชาติได้ยกเลิกการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วเกินไปขณะที่สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกนั้นมีความคลุมเครือ (เช่น ตัวเลขการว่างงานในเดือน ส.ค. ของสหรัฐอยู่ในระดับที่สูงสุดในรอบ 26 ปี คือ ร้อยละ 9.7) อาจส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอออกไป อย่างไรก็ดี ล่าสุดไอเอ็มเอฟได้ปรับตัวเลขคาดการณ์ของเศรษฐกิจโลกในปี 53 ว่าจะขยายตัวที่ระดับร้อยละ 2.9 (สูงกว่าที่คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 52 ที่ระดับร้อยละ 2.3)
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจโลกส่วนใหญ่จะเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ความเสี่ยงของการชะลอตัวยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะจากสินค้าคงค้าง (Stock) ที่เริ่มปรับเพิ่มขึ้นทั่วโลกหลังจากที่ภาคเอกชนเร่งการผลิตขึ้นเพื่อทดแทน Stock ที่หมดลงในช่วงต้นปี ทั้งนี้ หากความต้องการบริโภคและลงทุนโลกเริ่มชะลออีกครั้ง อาจทำให้สินค้าล้นสต๊อกและต้องหยุดการผลิตเพื่อระบายสินค้าอีกครั้ง ดังนั้น รัฐบาลทั่วโลกจึงยังจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องเพื่อให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้อย่างยั่งยืน
3. ธนาคารกลางตกลงกฎระเบียบและข้อบังคับใหม่ในการดูแลระบบการเงินโลก
  • ผู้บริหารธนาคารกลางและผู้กำกับดูแลภาคการเงิน จาก 27 ประเทศเศรษฐกิจสำคัญ เช่น สหรัฐฯและยุโรป ได้มีการตกลงกฎระเบียบและข้อบังคับใหม่ในการดูแลระบบการเงินโลก ประกอบไปด้วย การปรับเพิ่มการดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำ (Minimum Capital Requirement) การปรับปรุงอัตราส่วนของหนี้สินต่อสินทรัพย์ (Leverage Ratio) ให้มีความสอดคล้องกันทั่วโลก รวมถึงกรอบต่าง ๆ ในการลดความเปราะบางและเพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวของสถาบันการเงินต่อต้าน วัฏจักรเศรษฐกิจ (Economic Cycle)
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การกำกับสถาบันการเงินในรูปแบบปัจจุบัน ยังมีลักษณะแบบสนับสนุนวัฏจักรเศรษฐกิจ (Pro-cyclical) คือ ในช่วงวิกฤตินั้น สถาบันการเงินรักษาจำเป็นจะต้องรักษา BIS Ratio ให้อยู่ในระดับมาตรฐานที่กำหนดไว้ ซี่งทำให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ยากขึ้น และทำให้เศรษฐกิจโดยรวมตกต่ำกว่าที่เป็นอยู่ ในทางตรงกันข้ามขณะช่วงฟองสบู่สถาบันการเงินกลับปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น ดังนั้น การตั้งมาตรฐานทางการเงินแบบต่อต้านวัฎจักรเศรษฐกิจ (Counter-cyclical) จะช่วยทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีขึ้นในช่วงวิกฤต ขณะที่ช่วยชะลอความเสี่ยงจากภาวะฟองสบู่ในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟูได้

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ