รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 14 กันยายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 14, 2009 11:11 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 14 ก.ย. 2552

Summary:

1. คาดส่งออกไทยฟื้นตัวในช่วงปลายปี 52

2. ก.พาณิชย์ เล็งใช้ประเทศเยอรมนีเป็นฐานเจาะตลาดอียู

3. ดุลการค้าของสหรัฐฯในเดือนก.ค.52 ขาดดุลเพิ่มขึ้น

Highlight:
1. คาดส่งออกไทยฟื้นตัวในช่วงปลายปี 52
  • กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการประเมินภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยในช่วงครึ่งหลังปีนี้และแนวโน้มปีหน้า พบว่าสถานการณ์การส่งออกเริ่มฟื้นตัวขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยตัวเลขการส่งออกเบื้องต้นในเดือนส.ค. 52 ที่ ก.พาณิชย์จะแถลงในวันที่ 18ก.ย.นี้คาดว่าจะติดลบในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 17-18 ต่อปี จากที่ผ่านมาติดลบมากกว่าร้อยละ 20 ขึ้นไป และเริ่มมีสัญญาณจะกลับมาเป็นบวกได้ตั้งแต่เดือนต.ค.-ธ.ค. ทำให้คาดว่าตัวเลขการส่งออกเฉลี่ยทั้งปี 52 ติดลบอยู่ที่ร้อยละ 15-19
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มีความเป็นไปได้ที่การส่งออกไทยในช่วง 3- 4 เดือนสุดท้ายของปี 52 จะขยายตัวเป็นบวกได้ เนื่องจาก 1. ปัจจัยฐานต่ำเมื่อปีที่แล้วจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก 2. แนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เริ่มปรับดีขึ้น 3. เทศกาลบอลโลก 2010 จะส่งผลดีการส่งออกสินค้าบางประเภท เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิคส์ และสิ่งทอ เป็นต้น ทั้งนี้ หากไทยสามารถส่งออกไทยเดือนละ 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือนในช่วงไตรมาส 4 ปี 52 ก็จะส่งผลให้การส่งออกของไทยหดตัวต่ำกว่าร้อยละ -20.0 ต่อปี ตามที่ ก.พาณิชย์ได้คาดการณ์ไว้
2. ก.พาณิชย์ เล็งใช้ประเทศเยอรมนีเป็นฐานเจาะตลาดอียู
  • ก.พาณิชย์ เผยว่า ได้นำผู้ประกอบการไทยเดินทางไปบุกตลาดเยอรมนี เพื่อผลักดันการส่งออกให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ภายหลังการส่งออกของประเทศเทศในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมามีมูลค่าลดลงร้อยละ -26.6 โดยเฉพาะตลาดยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทยมูลค่าลดลงถึงร้อยละ -33.7 ทั้งนี้ ก.พาณิชย์จึงจำเป็นต้องรักษาตลาดและเพิ่มลู่ทางในการขยายตลาดให้กับภาคเอกชนไทย โดยหันมาให้ความสำคัญกับประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทยในยุโรปรองจากเนเธอร์แลนด์และอังกฤษ และเป็นประเทศที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง อีกทั้งยังเป็นประตูที่สำคัญไปยังประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่ามูลค่าการส่งออกของไทยไปยังยุโรปจะหดตัวประมาณร้อยละ -33 ต่อปีในไตรมาส 2 ปี 52 แต่หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแล้วนั้นเริ่มมีทิศทางขยายตัวขึ้นที่ร้อยละ 1.1 (ปรับฤดูกาลแล้ว) ขณะที่ในเดือน ก.ค. 52 ขยายตัวถึงร้อยละ 9.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน(ปรับฤดูกาลแล้ว) บ่งชี้ว่าสถานการณ์การส่งออกไปยังตลาดยุโรปเริ่มฟื้นตัวขึ้น โดยเป็นผลจากการขยายตัวของการส่งออกไปยังตลาดยุโรปหลัก เช่น เยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ เป็นหลัก ทั้งนี้ การที่เศรษฐกิจเยอรมนีปรับตัวดีขึ้น โดยล่าสุดขยายตัวที่ร้อยละ 0.3 ในไตรมาสที่ 2 ปี 52 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Q-o-Q SA) เป็นผลจากการส่งออกสินค้าทุนเป็นหลัก ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตและส่งออกสินค้าขั้นกลาง (Intermediate Goods) ที่มีประสิทธิภาพและส่งออกไปยังตลาดเยอรมนี น่าจะเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยในอนาคต
3. ดุลการค้าของสหรัฐฯในเดือนก.ค.52 ขาดดุลเพิ่มขึ้น
  • ตัวเลขดุลการค้าของสหรัฐฯในเดือนก.ค.52 ขาดดุลที่ระดับ 32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดือนก่อนหน้าที่ขาดดุลที่ 27.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการขยายตัวดังกล่าวมาจากการที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัวร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ในขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ดุลการค้าสหรัฐขาดดุลเพิ่มขึ้นมาจากการนำเข้าสินค้าที่มากขึ้น อันเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคเอกชน โดยเฉพาะมาตรการอุดหนุนการซื้อรถยนต์ใหม่โดยแลกกับรถยนต์เก่า (cash-for-clunkers) ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการมีการนำเข้าสินค้าทุนต่าง ๆ โดยเฉพาะในภาคการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ อาทิเช่น General Motors Co. เห็นได้จากตัวเลขการนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 30.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 28.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนก่อนหน้า ที่ส่วนใหญ่มาจากการนำเข้าสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนประกอบต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ เนื่องจากผลจากมาตรการต่างๆที่เน้นการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศของทางการสหรัฐฯ อาจจะหมดลงในระยะต่อไป ดังนั้น ทางการสหรัฐจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยเน้นการลงทุนเป็นหลัก เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างยั่งยืน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ