รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 7 - 11 กันยายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 14, 2009 11:25 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนส.ค. 52 อยู่ที่ระดับ 67.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 66.3 ถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น 3 เดือนติดต่อกัน สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจไทยที่เพิ่มขึ้น โดยได้รับปัจจัยบวกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่าในระยะต่อไปดัชนีความเชื่อผู้บริโภคจะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1.) ทิศทางเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกและรายได้ของประชาชน และ 2.) การประสานนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ได้แก่ มาตรการไทยเข้มแข็ง และนโยบายขยายสินเชื่อ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วขึ้น

ปริมาณการจำ หน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ก.ค. 52 หดตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ -13.8 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -13.3 ต่อปีเนื่องจากการหดตัวของรายได้เกษตรกร ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่เหลือของปีจะปรับตัวดีขึ้นตาม โดยในปี 52 คาดว่าปริมาณจำหน่ายรถจักยานยนต์จะหดตัวที่ร้อยละ -12.0 ต่อปี (8 เดือนแรกปี 52 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวที่ร้อยละ -13.0 ต่อปี)

อัตราการว่างงานในเดือน ก.ค. 52 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ของกำลังแรงงานรวม โดยมีจำนวนผู้ว่างงานอยู่ที่ 4.8 แสนคน และ เมื่อพิจารณาด้านการจ้างงานพบว่าจำนวนผู้มีงานทำอยู่ที่ 38.79 ล้านคน คิดเป็นการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนจำนวน 5.9 แสนคน หรือร้อยละ 1.5 ต่อปี อันเป็นผลจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในภาคการบริการโดยเฉพาะสาขาการโรงแรมและภัตตาคารจำนวน 2.6 แสนคน สาขาขายส่งขายปลีก 1.8 แสนคน ขณะที่การจ้างงานในภาคการผลิตเริ่มมีสัญญานปรับตัวที่ดีขึ้นโดยหดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนและมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในบางสาขาการผลิต เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 1.3 แสนคน และการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ 5.8 หมื่นคน

ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ส.ค. 52 คาดว่าจะหดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -5.0 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -9.1 ต่อปีเนื่องจากคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับทิศทางเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น จะส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนในครึ่งปีหลังของปีจะปรับตัวดีขึ้นตาม ทั้งนี้ ในปี 52 คาดว่าปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งจะหดตัวที่ร้อยละ -10.0 ต่อปี ( โดย 7 เดือนแรกปี 52 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวที่ร้อยละ -12.4 ต่อปี)

ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ส.ค. 52 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -14.0 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวน้อยกว่าช่วงครึ่งแรกของปี 52 ที่หดตัวที่ร้อยละ -35.8 ต่อปี และคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 52 ปริมาณการจำ หน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์จะปรับตัวดีขึ้นตามลำดับเนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลโดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (SP2) ที่จะมีการเบิกจ่ายจริงในช่วงปลายปี ซึ่งจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการ ลงทุนภาคเอกชนให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น และจะช่วยให้ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์จะปรับตัวดีขึ้นตาม

Foreign Exchange Review

ค่าเงินสกุลหลักของประเทศคู่ค้าแทบทุกสกุลในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินของประเทศคู่ค้าของไทยแทบทุกสกุลแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากความต้องการที่จะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง (Risky assets)มีมากขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของตลาดหลักทรัพย์และราคาโภคภัณฑ์ทั่วโลก โดยเฉพาะราคาทองคำที่แตะระดับจิตวิทยาที่ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อโลกในอนาคตจะเพิ่มสูงขึ้นหลังจากประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) สาขาชิคาโกกล่าวว่ายังเร็วเกินไปที่จะยกเลิกนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายแม้ว่าเศรษฐกิจจะเริ่มขยายตัวแล้วก็ตาม ขณะเดียวกัน ข้อมูลผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน (Jobless Claim) ของสหรัฐล่าสุดที่ปรับลดลงเกินคาดก็เป็นปัจจัยบวกต่อความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเช่นกัน

ด้านค่าเงินยูโรและปอนด์สเตอลิงค์แข็งค่าขึ้นมากในสัปดาห์ที่ผ่านมาเนื่องจากตัวเลขการเกินดุลการค้าของเยอรมนีในเดือน ก.ค. ขยายตัวที่ร้อยละ2.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ขณะที่คำกล่าวของผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรปที่เชื่อมั่นในสภาพเศรษฐกิจยุโรปและเริ่มพิจารณาถึงการชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และคำกล่าวของหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF ที่ว่าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเร็วกว่าคาดก็เป็นปัจจัยบวกต่อค่าเงินยูโร ขณะเดียวกันการที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำก็เป็นปัจจัยหนุนให้ค่าเงินปอนด์สเตอลิงค์แข็งค่าขึ้นเช่นกัน

ด้านค่าเงินเอเชียในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นตามความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ประกอบกับการที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้ส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็เป็นปัจจัยบวกต่อค่าเงินเอเชียเช่นกัน

ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นที่ร้อยละ 0.21 นับจากช่วงสัปดาห์ก่อนขณะที่ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับต้นเดือน ก.ย. และยังคงแข็งค่ากว่าเงินสกุลภูมิภาคอื่น ๆ ยกเว้นรูเปียห์อินโดนิเซียนับจากต้นปี

ค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ประมาณร้อยละ 0.2 จากสัปดาห์ก่อนหน้า จากการที่มีเงินทุนไหลเข้าจากตลาดหลักทรัพย์ไทยเป็นจำนวนมากหลังจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 700 จุด ในสัปดาห์นี้ ประกอบกับการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลกอย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้าดูแลเสถียรภาพ ทำให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพที่ระดับประมาณ 34.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 12 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐ ปอนด์สเตอร์ลิงค์ ยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวันวอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 11 ก.ย. 52 แข็งค่าขึ้นจากค่าเงิน ณ วันที่ 1 ม.ค. 52 ที่ร้อยละ 0.80 แต่อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 1.54

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 3.7) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 3.2) เงินเยน (ร้อยละ 3.0) หยวน (ร้อยละ 2.2) ดอลลาร์ ฮ่องกง (ร้อยละ 2.1) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 2.1) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 1.6)ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 1.1) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับ วอนเกาหลี (ร้อยละ 1.1) ยูโร (ร้อยละ 2.0) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 7.0) และปอนด์สเตอลิงค์(ร้อยละ 11.6) ตามลำดับ

Foreign Exchange and Reserves

ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 4 ก.ย.52 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) เพิ่มขึ้นสุทธิ 2.30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 141.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำนวน 1.42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และการเพิ่มขึ้นของ Forward Obligation จำนวน 0.87 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทในภาวะที่ตลาดโลกมีความผันผวน นอกจากนี้ ปริมาณเงินที่ไหลเข้าผ่านดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง อันเป็นผลจากการส่งออกของไทยที่ปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลก น่าจะเป็นส่วนทำให้เงินทุนสำรองเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ คาดว่าการเข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินของธปท.ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น มีมากกว่าความต้องการขายเงินดอลลาร์สหรัฐของผู้ส่งออก จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมา (4 ก.ย.52) อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าจาก 33.97 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 34.01 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

Major Trading Partners’ Economies: This Week

ตัวเลขตำแหน่งงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯเดือนส.ค.52 หดตัวที่น้อยที่สุดในรอบ 1 ปี โดยลดลง 216,000 ตำแหน่ง ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ลดลง 276,000 ตำแหน่ง(ตัวเลขปรับปรุง) โดยตำแหน่งงานในการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคก่อสร้างลดลงถึง 65,000 และ 63,000 ตำแหน่ง ตามลำดับ ซึ่งรวมกันแล้วมากกว่าครึ่งหนึ่งของตำแหน่งงานรวมที่ลดลง ในขณะที่ภาคการศึกษาและสาธารณสุขมีตำ แหน่งงานเพิ่มขึ้นถึง 52,000 ตำแหน่ง สอดคล้องกับการเปิดภาคการศึกษาใหม่ อย่างไรก็ตามอัตราการว่างงานปรับสูงขึ้นมากที่ร้อยละ 9.7 ของแรงงานรวม ส่วนหนึ่งเป็นผลจากแรงงานใหม่จำนวนมากเข้าสู่ตลาดแรงงานในเดือนนี้ ทั้งยังมีผลจากการที่เศรษฐกิจเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น ผู้ว่างงานที่ล้มเลิกการหางานทำไปแล้วในเดือนก่อนๆหน้าได้กลับมาเริ่มออกหางานทำอีกครั้ง

ยอดคำสั่งซื้อเครื่องจักรกลของญี่ปุ่นในเดือนก.ค.52 หดตัวร้อยละ -9.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวถึงร้อยละ 9.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับมูลค่า 665 พันล้านเยน ซึ่งเป็นระดับมูลค่าที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจ อนึ่ง ยอดคำสั่งซื้อนี้ เป็นดัชนีชี้นำการใช้จ่ายสินค้าทุนและการลงทุนใน 3 ถึง 6 เดือนข้างหน้า บ่งชี้ว่าอุปสงค์ทั้งภายในและภายนอกประเทศยังคงอ่อนแอ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคออสเตรเลียเดือนส.ค.52 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงที่สุดในรอบ 2 ปีที่ 113.4 จากระดับ 109.4 ในเดือนก่อนหน้าสะท้อนให้เห็นว่า สภาวะทางเศรษฐกิจของออสเตรเลียอยู่ในเกณฑ์ดีนอกจากนี้ ค่าดัชนีที่สูงกว่า 100 ยังชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภค คาดว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะยังคงดีขึ้นในอนาคต

ยอดค้าปลีกของออสเตรเลียในเดือนมิ.ย. 52 หดตัวที่ร้อยละ-1.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หดตัวในอัตราที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.44 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สะท้อนถึงการใช้จ่ายที่ค่อยๆฟื้นตัวตามเศรษฐกิจของประเทศออสเตรเลีย

มูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าของไต้หวันเดือนส.ค.52 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ที่ร้อยละ -24.6 และร้อยละ -32.3 ต่อปีตามลำดับ ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัวที่ร้อยละ -24.4 และร้อยละ -34.1 ต่อปี ตามลำดับ โดยในแง่มิติสินค้า การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสินค้าหลัก หดตัวถึงร้อยละ -13.4 ต่อปี ในขณะที่ในแง่มิติคู่ค้า การส่งออกไปยังจีน (รวมฮ่องกง) ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -17.3 ต่อปี ในขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐฯยังคงหดตัวมากที่ร้อยละ -34.4 ต่อปี ผลจากการส่งออกเหล็กกล้าและเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลงมาก โดยดุลการค้าไต้หวันเดือนส.ค. 52 ยังคงเกินดุลที่ 2.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับเดือนก่อนหน้าที่เกินดุล 2.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

มูลค่าการส่งออกสินค้าของฟิลิปปินส์เดือนก.ค. 52 หดตัวร้อยละ-25.4 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -24.8 ต่อปี (ตัวเลขปรับปรุง) อย่างไรก็ตาม กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักหดตัวร้อยละ -25.2 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -26.0 ต่อปี ทั้งนี้ การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของฟิลิปปินส์ มีการหดตัวร้อยละ -17.5 และ -21.3 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -13.5 และ -12.5 ต่อปี ตามลำดับ

มูลค่าการส่งออกสินค้าของมาเลเซียเดือนก.ค. 52 หดตัวร้อยละ-22.8 ต่อปี หดตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่ร้อยละ -22.6 ต่อปี โดยในแง่มิติสินค้า พบว่า การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นสัดส่วนร้อยละ 42.2 ของการส่งออกในเดือนก.ค. 52 หดตัวร้อยละ -15.6 ต่อปี ส่วนการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้ารายใหญ่ ซึ่งได้แก่ อาเซียน จีน และสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -20.1 -16.8 และ -29.0 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนก.ค. 52 หดตัวร้อยละ -16.0 ต่อปี หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -20.8 ต่อปี และดุลการค้าเกินดุล 7.8 พันล้านริงกิต

ภาคอุตสาหกรรมของมาเลเซียเดือนก.ค. 52 หดตัวร้อยละ -8.4 ต่อปีปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -9.5 ต่อปี(ตัวเลขปรับปรุง) โดยภาคการผลิตซึ่งมีสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดหดตัวที่ร้อยละ -12.0 ต่อปี ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -13.1 ต่อปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ