รายงานภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่น ประจำสัปดาห์วันที่ 7-11 กันยายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 14, 2009 15:01 —กระทรวงการคลัง

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ดังนี้

สรุป

1. พรรค DPJ แกนนำจัดตั้งรัฐบาลใหม่เปิดเผยแผนการจัดตั้ง National Strategy Bureau

2. เดือน ก.ค.52 จำนวนบริษัทเอกชนล้มละลาย เพิ่มขึ้นร้อยละ 1

3. ยอดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ก.ค.52 ลดลงร้อยละ 19.4

----------------------------------------------------------

1. พรรค DPJ แกนนำจัดตั้งรัฐบาลใหม่เปิดเผยแผนการจัดตั้ง National Strategy Bureau

เมื่อวันที่ 5 ก.ย.52 พรรค DPJ ได้เปิดเผยรายละเอียดการจัดตั้ง National Strategy Bureau ภายหลังจากการตั้งรัฐบาลใหม่ เพื่อทำหน้าที่วางยุทธศาสตร์ของประเทศด้านต่างๆ รวมทั้ง ด้านการจัดทำงบประมาณ เป็นต้น โดยจะขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี และมีรัฐมนตรีประจำหน่วยงานรวมถึงผู้เชี่ยวชาญจำนวน 10 คนที่จะคัดเลือกจาก ส.ส. และผู้แทนจากพรรค เป็นต้น ซึ่งการจัดตั้ง National Strategy Bureau นี้เป็นนโยบายเด่นที่ใช้ในการหาเสียงของพรรค DPJ โดยนาย Yukio Hatoyama ว่าที่นายกรัฐมนตรีมีแผนที่จะนำเรื่องนี้เข้าสภาในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้าเพื่อจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับการตั้งหน่วยงานนี้ ปัจจุบันได้มีการวางตัวเจ้าหน้าที่จำนวน 10 คนโดยมาจาก ส.ส. จำนวน 5 คน และเจ้าหน้าที่พรรคที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนโยบายมาตลอดอีก 5 คน สำหรับรัฐมนตรีนั้น ได้วางตัว นาย Naoto Kan รักษาการแทนหัวหน้าพรรค DPJ ให้มารับตำแหน่งนี้

2. เดือน ก.ค.52 จำนวนบริษัทเอกชนล้มละลาย เพิ่มขึ้นร้อยละ 1

Tokyo Shoko Research Ltd. ซึ่งรวบรวมข้อมูลบริษัทล้มละลายของญี่ปุ่น เปิดเผยว่าเดือนส.ค.52 บริษัทเอกชนญี่ปุ่นล้มละลายที่มีจำนวนหนี้มากว่า 10 ล้านเยน เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า มีจำนวน 1,241 บริษัท ในขณะที่บริษัทก่อสร้างล้มละลายลดลงร้อยละ 40 เนื่องจากรัฐบาลเร่งดำเนินการโครงการสาธารณูปโภคตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรก็ตาม DPJ ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ได้ประกาศว่าจะลดโครงการสาธารณูปโภคซึ่งอาจจะทำให้บริษัทก่อสร้างล้มละลายมากขึ้น

3. ยอดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ก.ค.52 ลดลงร้อยละ 19.4

กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ก.ค.52 มีจำนวน 1.27 ล้านล้านเยน ลดลงร้อยละ 19.4 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 2 เดือนเนื่องจากการส่งออกลดลงอย่างมาก รวมทั้งการขาดดุลการค้าและบริการเพิ่มขึ้นและการเกินดุลรายได้เพิ่มขึ้น

การเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.3 มีจำนวน 437.3 พันล้านเยน โดยยอดการส่งออกลดลงร้อยละ 37.6 มีจำนวน 4.55 ล้านล้านเยน การลดลงติดต่อกัน 10 เดือนแล้ว ขณะที่การนำเข้าลดลงร้อยละ 41.2 มีจำนวน 4.11 ล้านล้านเยน เนื่องจากราคาน้ำมันลดลงอย่างมาก โดยที่การนำเข้าลดลงอย่างมากทำให้การเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 2 เดือน

ส่วนการขาดดุลการบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.9 มีจำนวน 288.3 พันล้านเยนเนื่องจากการผลิตยานยนต์และเครื่องไฟฟ้าที่มีลิขสิทธิ์ในต่างประเทศลดลงทำให้ค่าธรรมเนียมในการใช้ลิขสิทธิ์ลดลงนอกจากนี้ ส่วนการเกินดุลรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผล จากการลงทุนต่างประเทศซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำญี่ปุ่นเกินดุลบัญชีเดินสะพัดตลอดมา ลดลงร้อยละ 24.2 มีจำนวน 1.25 ล้านล้านเยน

ดุลการชำระเงินระหว่างประเทศประจำเดือนกรกฎาคม 2552

(Balance of Payments)

หน่วย: พันล้านเยน

                    รายการ                                 กรกฎาคม 2552           กรกฎาคม 2551
1. ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account Balance)                    1,265.6                 1,569.3
(เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า)                                     (-19.4)                 (-15.2)
 1.1 ดุลการค้าและบริการ (Goods & Services Balance)                149.0                    83.7
 (เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า)                                     (78.1)                 (-81.5)
   1.1.1 ดุลการค้า (Trade Balance)                               437.3                   307.4
 (เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า)                                     (42.3)                 (-60.0)
 การส่งออก (Exports)                                          4,545.6                 7,289.4
 (เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า)                                    (-37.6)                   (8.7)
 การนำเข้า (Imports)                                          4,108.3                 6,982.0
 (เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า)                                    (-41.2)                  (17.6)
   1.1.2 ดุลบริการ (Services Balance)                           -288.3                  -223.7
 1.2 รายได้จากดอกเบี้ย/เงินปันผล (Income)                         1,246.8                16,454.4
 1.3 การโอนรายได้ (Current Transfers)                          -130.3                  -159.9
2. ดุลบัญชีทุนและการเงิน (Capital & Financial Account Balance)   -1,215.4                -1,261.4
 2.1 ดุลบัญชีการเงิน (Financial Account Balance)                -1,138.5                -1,248.0
     การลงทุนโดยตรง (Direct Investment)                        -756.3                  -937.0
     การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ (Portfolio Investment)             2,059.3                 2,996.0
     การลงทุนในตราสารอนุพันธ์ด้านการเงิน (Financial Derivatives)     124.6                   126.5
     การลงทุนอื่นๆ (Other investments)                         -2,566.1                -3,433.5
 2.2 ดุลบัญชีทุน (Capital Account Balance)                         -76.9                   -13.4
3. ยอดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิ (Changes in Reserve Assets)    137.3                  -255.7


สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำกรุงโตเกียว

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ