รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 15 กันยายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 15, 2009 12:29 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 15 ก.ย. 2552

Summary:

1. ก.ล.ต.ไฟเขียวบริษัทต่างชาติเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย

2. ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลงต่ำกว่า 69 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

3. ดัชนีดอลลาร์สหรัฐลดลงต่ำสุดในรอบหนึ่งปี

Highlight:
1. ก.ล.ต.ไฟเขียวบริษัทต่างชาติเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย
  • เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เผยว่า คณะกรรมการ ก.ล.ต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุนเห็นชอบเรื่องการเปิดให้บริษัทต่างประเทศเข้ามาเสนอขายหลักทรัพย์และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย เพื่อเพิ่มจำนวนและความหลากหลายให้แก่สินค้าในตลาดทุนและเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนไทย รวมถึงเพิ่มบทบาทของตลาดทุนในภูมิภาค
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ ก.ล.ต. มีนโยบายเปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติสามารถออกและเสนอขายหุ้นให้แก่นักลงทุนไทยถือเป็นการผลักดันให้ตลาดหุ้นไทยเพิ่มขีดความสามารถและเตรียมพร้อมให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงระหว่างตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาค (ASEAN Common Exchange Gateway) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาตลาดทุนภายใต้กรอบระยะเวลา 5 ปี โดยให้เป็นตลาดทุนที่เป็นกลไขขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบและมีบทบาทสำคัญ 4 ด้าน คือ (1) เปิดช่องทางหลักในการระดมทุนของโครงการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน (2) ขยายฐานภาษีให้กับรัฐบาลผ่านภาษีของบริษัทจดทะเบียน (3) เตรียมรับมือกับปัญหาชราภาพด้วยการเป็นทางเลือกของการออม และ (4) เพิ่มเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในยุคที่เศรษฐกิจมีความผันผวน
2. ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลงต่ำกว่า 69 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
  • สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์ก (NYMEX) ที่ส่งมอบในเดือน ต.ค.ได้ปรับลดลงสู่ระดับ 68.25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากระดับราคา 69.29 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ณ วันที่ 11 ก.ย. 52 สืบเนื่องจากความกังวลต่อความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ ประกอบกับหน่วยงานด้านพลังงานของสหรัฐฯ ได้ประกาศตัวเลขปริมาณน้ำมันคงคลังทั้งเบนซินและดีเซลปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเวสเท็กซัส (WTI) ปรับตัวลดลงและราคาน้ำมันดิบดูไบ (DUBAI) ได้ปรับลดลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลน่าจะอยู่ในช่วงระยะเวลาอันสั้น ขณะที่ระยะยาวแล้วเป็นไปได้ว่าราคาน้ำมันจะกลับขึ้นมาอยู่ในระดับสูงอีกครั้งเนื่องจาก 1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจขนาดใหญ่เกิดใหม่เช่น จีน บราซิล รัสเซีย และอินเดีย (BRIC) ซึ่งจะมีผลให้ปริมาณความต้องการน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น 2) การควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศโอเปคที่มีกำลังการผลิตประมาณร้อยละ 33 ของกำลังการผลิตโลก หากราคาปรับลดต่ำเกินไป และ 3) การเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการขาดดุลการคลังของรัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐ ทำให้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางจะต้องเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อชดเชยการขาดดุลการคลัง (Monetize Fiscal Deficit) ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อในอนาคตมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ตลาดจึงเข้าเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์มากขึ้น
3. ดัชนีดอลลาร์สหรัฐลดลงต่ำสุดในรอบหนึ่งปี
  • ดัชนีดอลลาร์สหรัฐ (U.S. Dollar Index) หรือค่าเงินสหรัฐถ่วงน้ำหนักด้วยค่าเงินคู่ค้า 6 สกุลในสัปดาห์ที่ผ่านมาลดลงระดับลงต่ำสุดในรอบหนึ่งปี เนื่องจากการที่ (1) ต้นทุนการกู้ยืมเงิน (3-month US dollar LIBOR rate) อยู่ในระดับที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ ต่ำกว่าการกู้ยืมเงินในรูปแบบของสกุลเงินอื่น ๆ โดยเฉพาะดอกเบี้ยสกุลยูโรและเอเชีย ทำให้นักลงทุนกู้เงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อซื้อสินทรัพย์ในสกุลเงินอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า (Carry Trade) ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ลดลงอย่างต่อเนื่อง และ (2) ตลาดคาดการณ์ว่าสกุลเงินดอลลาร์จะอ่อนตัวลงอีกในอนาคต เนื่องจากการขาดดุลการคลังของรัฐบาลสหรัฐถึง 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลาง (Fed) อาจต้องเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเพื่อชดเชยการขาดดุลการคลัง (Monetize Fiscal Deficit) ซึ่งจะทำให้เกิดเงินเฟ้อขึ้น และทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอีก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ตลาดคาดการณ์ว่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าลงในอนาคตนั้น อาจจะทำให้ผู้คนยิ่งเก็งกำไรค่าเงิน จนทำให้เหตุการณ์ที่คาดการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง (Self-fulfilling) ซึ่งจะส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐเป็นไปได้ช้าขึ้นจากการที่ราคาของสินค้านำเข้าของสหรัฐจะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้สหรัฐอาจลดการนำเข้าเพื่อการบริโภคและการลงทุนของสหรัฐลดลงในอนาคต ทั้งนี้ คาดว่าในอนาคตทางการสหรัฐอาจออกมาประกาศจุดยืนในเรื่องของการที่จะไม่ทำ Monetization of Fiscal Deficit และสร้างความมั่นใจให้กับค่าเงินของสหรัฐเพื่อจูงใจให้นักลงทุนและรัฐบาลประเทศต่างๆ ยังคงต้องการที่จะครอบครองดอลลาร์สหรัฐอย่างต่อเนื่องในอนาคต ประกอบกับ Fed อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ในอนาคตอันใกล้หากสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ