สภาวการณ์การออมภาคครัวเรือนของไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 16, 2009 15:38 —กระทรวงการคลัง

1. การออมภาคครัวเรือนของไทยในปี 2551 อยู่ที่ระดับ 3,691 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2550 ที่ระดับ 4,160 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน หรือเกิดการหดตัวอัตราร้อยละ 11.26 ในปี 2551 โดยเมื่อพิจารณาจากรายได้และค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อเดือนจะเห็นได้ว่า รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อเดือนในปี 2551 อยู่ที่ระดับ 19,633 บาท เพิ่มขึ้นจากระดับ18,660 บาท ในปี 2550 หรือมีการขยายตัวอัตราร้อยละ 5.22 ต่อปี ในขณะที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อเดือนในปี 2551 อยู่ที่ระดับ 15,942 บาท เพิ่มขึ้นจากระดับ 14,500 บาท ในปี 2550 หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 9.94 ต่อปี จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า อัตราการขยายตัวของค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนสูงกว่าอัตราการขยายตัวของรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือน จึงส่งผลให้การออมภาคครัวเรือนลดลง

ตารางรายได้ ค่าใช้จ่ายและการออมเฉลี่ยต่อครัวเรือนในประเทศไทย

                        2539    2541    2542    2543    2544    2545    2547     2549     2550   2551(3)
รายได้ / เดือน          10,779  12,492  12,729  12,150  12,185  13,736  14,963   17,787   18,660   19,633
อัตราการขยายตัว (%)              15.89    1.90   -4.55    0.29   12.73    8.93    18.87     4.91     5.22
ค่าใช้จ่าย/เดือน(1)        9,190  10,389  10,238   9,848  10,025  10,889  12,297   14,311   14,500   15,942
อัตราการขยายตัว (%)              13.05   -1.45   -3.81    1.80    8.62   12.93    16.38     1.32     9.94
การออมครัวเรือน/เดือน(2)  1,589   2,103   2,491   2,302   2,160   2,847   2,666    3,476    4,160    3,691
อัตราการขยายตัว (%)              32.35   18.45   -7.59   -6.17   31.81   -6.36    30.38    19.68   -11.26
สัดส่วนการออมต่อรายได้ (%) 14.74   16.83   19.57   18.95   17.73   20.73   17.82    19.54    22.29    18.80
หมายเหตุ:  1. ค่าใช้จ่าย ไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เป็นการสะสมทุน เช่น ซื้อ/เช่าซื้อบ้าน ที่ดิน และของมีค่าต่างๆ เช่น เพชร พลอย

2. การออมของครัวเรือน คือ รายได้เฉลี่ยต่อเดือนหักด้วยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือน

3. ข้อมูลรายได้/เดือน ของครัวเรือนและการออมครัวเรือน/เดือน ในปี 2551 เกิดจากการประมาณการโดยการคำนวณหาอัตรา

เฉลี่ยการเพิ่มขึ้นของรายได้ภาคครัวเรือนตั้งแต่ปี 2539 จนถึง 2550 ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

2. สัดส่วนการออมต่อรายได้ของครัวเรือนเฉลี่ย (Average Propensity to Save) ในปี 2551 อยู่ที่อัตราร้อยละ 18.80 โดยลดลงจากปี 2550 ที่อัตราร้อยละ 22.29 อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับระดับค่าเฉลี่ยการออมต่อรายได้ของครัวเรือนตั้งแต่ปี 2539-2551 ที่ผ่านมา โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่อัตราร้อยละ 18.53 ต่อปี (ซึ่งหมายความว่า หากครัวเรือนมีรายได้ 100 บาท ครัวเรือนจะเก็บออมไว้ 18.53 บาท) จะเห็นได้ว่าสัดส่วนการออมต่อรายได้ของครัวเรือนเฉลี่ย (Average Propensity to Save) ในปี 2551 นั้น ยังคงมีอัตราสูงกว่าระดับค่าเฉลี่ยเล็กน้อย แสดงให้เห็นว่าครัวเรือนยังคงมีศักยภาพในการออมอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย

3. ด้านการออมรวมภาคครัวเรือนต่อ GDP ของประเทศในปี 2551 มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปรับตัวของราคาน้ำมัน ราคาอาหารราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ประชาชนมีการใช้จ่ายสำหรับหมวดอาหารและพลังงานต่อการใช้จ่ายรวมในสัดส่วนที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ภาคครัวเรือนมีระดับการออมที่ลดลงอัตราร้อยละ 11.26 จากปี 2550 ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ที่มีอัตราการเติบโตอยู่ที่อัตราร้อยละ 7.3 จากปี 2550 จากข้อมูลดังกล่าว อาจสรุปได้ว่าระดับการออมภาคครัวเรือนต่อ GDP น่าจะมีการปรับตัวลดลงจากปี 2550 อยู่ที่ระดับอัตราร้อยละ 4.34 ซึ่งเมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบกับระดับการออมของภาคครัวเรือนต่อ GDP เฉลี่ยในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา (ปี 2539 - 2550) ที่ระดับร้อยละ 6.13 แล้ว คาดว่าการออมภาคครัวเรือนต่อ GDP ในปี 2551 จะลดลงจากค่าเฉลี่ย

4. สาเหตุของการลดลงของเงินออมภาคครัวเรือนไทยในปี 2551

4.1 ผลทางด้านจิตวิทยาการออม ส่งผลให้ปี 2551 การออมของภาคครัวเรือนลดลง เพราะความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานะการเมืองของประชาชนตั้งแต่ช่วงปี 2550 ที่สถานการณ์การเมืองไม่มั่นคง ยังคงส่งผลต่อระดับการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน อย่างไรก็ตาม ในปี 2551 รัฐบาลได้มีนโยบายสนับสนุนการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชนในด้านต่างๆ เช่น มาตรการด้านภาษีเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูการใช้จ่ายของผู้มีรายได้น้อย และการปรับเพิ่มเงินค่าครองชีพให้แก่ข้าราชการชั้นผู้น้อยซึ่งมาตรการเหล่านี้จะส่งผลทางจิตวิทยาด้านความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้ปรับตัวดีขึ้น ทำให้ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับระดับการเพิ่มขึ้นของรายได้ของภาคครัวเรือน พบว่า อัตราการขยายตัวของรายได้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายจึงเป็นผลให้ระดับการออมของภาคครัวเรือนลดลง

4.2 ภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2551 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 5.5 เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่อยู่ที่ร้อยละ 2.3 ซึ่งเกิดจากผลของการปรับราคาน้ำมัน ราคาสินค้าเกษตรราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายในการครองชีพของครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นจึงส่งผลต่อการปรับตัวลดลงของการออมภาคครัวเรือน

4.3 นโยบายของภาครัฐ ในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐได้พยายามกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคของประชาชนผ่านมาตรการต่างๆ โดยร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการภาษีเพื่อบรรเทาภาระด้านราคาน้ำมัน การประกันราคาสินค้าเกษตรได้แก่ ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ส่งผลให้ระดับการใช้จ่ายและการบริโภคของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น จึงส่งผลให้การออมภาคครัวเรือนของไทยมีแนวโน้มลดลง

5. แนวโน้มการออมภาคครัวเรือนในปี 2552 คาดว่าภาคครัวเรือนจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านการออมมากขึ้น โดยแบ่งพิจารณาออกเป็นปัจจัยบวกและปัจจัยลบ

5.1 ปัจจัยบวกที่จะส่งผลให้ภาคครัวเรือนออมมากขึ้น ได้แก่

1) ระดับราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ทำให้ครัวเรือนภาคเกษตร ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีระดับรายได้สูงขึ้น ตามไปด้วย

2) ระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางการเมือง จะเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจทั้งภาคการเงินและภาคการผลิต ซึ่งหากมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมือง ก็จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน รวมถึงนักลงทุนจากต่างประเทศ เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ดีและต่อเนื่อง ทำให้สร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนได้ต่อไป

5.2 ปัจจัยลบที่จะส่งผลให้ภาคครัวเรือนออมลดลง ได้แก่

1) ระดับค่าครองชีพ (อ้างอิงมาจากดัชนีราคาผู้บริโภค) ซึ่งมีทิศทางที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากราคาพลังงาน (น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม) สินค้าหมวดอาหารและการเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าขนส่ง ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคให้สูงขึ้น ทำให้ระดับอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น และทำให้ระดับรายได้ที่แท้จริงของประชาชนลดลง เนื่องจากมีเงินเหลือเก็บน้อยลง

2) ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงความเชื่อมั่นของประชาชน และนักลงทุนต่างประเทศ

3) ระดับการพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจระดับโลก ดังนั้น หากมีระดับการพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศสูง จะส่งผลต่อระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา กระทบถึงภาวการณ์ส่งออกและนำเข้าของประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ควบคุมได้ยาก ทำให้เศรษฐกิจของประเทศขาดความมีเสถียรภาพ

6. ความเห็น สอล.

6.1 สำหรับในปี 2552 น่าจะยังเป็นปีที่ครัวเรือนมีความเสี่ยงด้านการออมสูงแนวโน้มการออมในปี 2552 จะเป็นอย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับผลทางด้านรายได้ และรายจ่ายของภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ และปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นอย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากข้อมูลหลักแล้ว พบว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดการณ์ไว้ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะติดลบในช่วงร้อยละ -3 ถึงร้อยละ -3.5 ต่อปี ในปี 2552 ก็จะส่งผลกระทบต่อระดับรายได้ของครัวเรือนที่อาจจะลดลง ในขณะที่การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2552 อยู่ที่ระดับร้อยละ -0.5 ถึง -1 ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลลบต่อระดับการออมของครัวเรือน ทำให้คาดว่าแนวโน้มการออมของครัวเรือนในปี 2552 จะลดลงเนื่องจากรายได้น่าจะลดลงจากผลของการชะลอตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ระดับค่าใช้จ่ายของภาคครัวเรือนนั้นจะยังคงที่ หรืออาจเพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับสูง

6.2 จากการพิจารณาคำจำกัดความของการจัดเก็บข้อมูลการออมภาคครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติทั่วประเทศ จำนวน 52,000 ครัวเรือน โดยกำหนดให้ครัวเรือนส่วนบุคคลครอบคลุมจำนวนสมาชิกในครัวเรือนตั้งแต่ 1 - 5 คน และครัวเรือนที่มีบุคคลตั้งแต่ 6 คนขึ้นไปนั้น จะต้องมีบุคคลที่เป็นญาติกันตั้งแต่ 4 คน ขึ้นไป หรือเป็นญาติไม่เกิน 3 คน แต่มีคนใดคนหนึ่งรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของคนทั้งหมดนั้น

สอล. จึงตั้งสมมติฐานให้ครัวเรือนหนึ่งมีสมาชิกตั้งแต่ 1 - 5 คน เพื่อให้สามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ประกอบกับนโยบายการจัดตั้งโครงการการออมเพื่อการชราภาพ (กอช.) ซึ่งเมื่อพิจารณาระดับการออมของครัวเรือนหลังจากมีการดำเนินโครงการการออมเพื่อการชราภาพ (กอช.) ในปี 2553 โดยคาดว่าจะมีระดับการออมภาคครัวเรือนประมาณ 3,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน หรือเฉลี่ยอย่างน้อยรายละประมาณ 600 บาทต่อเดือน ซึ่งหากจะต้องมาจ่าย กอช. รายละ 100 บาทต่อเดือน ก็มีความสามารถจะจ่ายได้

โดย ส่วนนโยบายการออมและการลงทุนในภาพรวม สำนักนโยบายการออมและการลงทุน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ