รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 21 กันยายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 21, 2009 11:38 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 ก.ย. 2552

Summary:

1. ทาทา หวังไทยเข้มแข็งปลุกเหล็กตื่น

2. ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดจำนวนการว่างงานปี 52 อยู่ที่ 6.8 แสนคน

3. กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศลดจำนวนพันธบัตรรัฐบาล

Highlight:
1. ทาทา หวังไทยเข้มแข็งปลุกเหล็กตื่น
  • กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสตีล เผยถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน สะท้อนจากราคาเหล็กเส้นที่มีเสถียรภาพมากขึ้น จากช่วงก่อนวิกฤตซับไพร์มที่มีราคาผันผวนสูงถึง 36,200 บาทต่อตัน และร่วงถึง 15,000-16,000 บาทต่อตัน ซึ่งผู้ประกอบการบาดเจ็บจากสต๊อกทุกราย แต่ปัจจุบันครบรอบ 1 ปี ของวิกฤตเศรษฐกิจโลกราคาได้ขยับมาอยู่ที่ 20,000 บาทต่อตัน และแนวโน้มราคาช่วง 1-2 ปีนี้ก็น่าจะใกล้เคียงปัจจุบันหรือปรับเพิ่มขึ้นไม่ถึง 10 % ทั้งนี้ โครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาลคาดว่าจะทำให้ความต้องการใช้เหล็กในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันยอดขายเหล็ก ณ เดือน ก.ค. 52 หดตัวที่ร้อยละ -23.4 ต่อปี หดตัวน้อยกว่าเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -31.7 ต่อปี ประกอบกับดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กในเดือน ส.ค.หดตัวลงร้อยละ -39.8 ต่อปี ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -44.7 ต่อปี สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้างเริ่มปรับตัวดีขึ้นบ้าง ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงครึ่งหลังปี 52 ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์และยอดเหล็กจะปรับตัวดีขึ้น จากการลงทุนในประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามโครงการไทยเข้มแข็ง มาตรการสินเชื่อ Fast Track และเศรษฐกิจโลกที่เริ่มดีขึ้น
2. ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดจำนวนการว่างงานปี 52 อยู่ที่ 6.8 แสนคน
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์ตลาดแรงงานไทยที่ดีขึ้น แต่ยังมีหลายสาขาย่อยที่สำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้ภาพรวมการจ้างงานของภาคการผลิตในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ยังหดตัวต่อเนื่อง โดยประเมินว่าอัตราการว่างงานเฉลี่ยในปี 52 น่าจะอยู่ในกรอบร้อยละ 1.6-1.8 (จากเดิมคาดว่าจะมีอัตราการว่างงานเฉลี่ยร้อยละ 2.1-2.5) ซึ่งดีขึ้นหรือเท่ากับอัตราการว่างงานเฉลี่ยที่ร้อยละ 1.8 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 52 แต่ยังคงสูงกว่าร้อยละ 1.4 ในปี 51 โดยจำนวนผู้ว่างงานในปี 52 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 6.4-6.8 แสนคน จากในปี 51 ที่มีผู้ว่างงานอยู่ที่ 5.2 แสนคน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันอัตราการว่างงานในเดือน ก.ค. 52 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ของกำลังแรงงานรวม โดยมีจำนวนผู้ว่างงานอยู่ที่ 4.8 แสนคน เมื่อพิจารณาด้านการจ้างงานพบว่าจำนวนผู้มีงานทำอยู่ที่ 38.79 ล้านคน คิดเป็นการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนจำนวน 5.9 แสนคน หรือร้อยละ 1.5 ต่อปี อันเป็นผลจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในภาคการบริการ โดยเฉพาะสาขาการโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาค้าส่งค้าปลีก ขณะที่การจ้างงานในภาคการผลิตเริ่มมีสัญญานปรับตัวที่ดีขึ้นโดยหดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนและมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในบางสาขา เช่น อาหารและเครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ ทั้งนี้ หากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ต่อปี จะส่งผลให้การจ้างงานของไทยเพิ่มขึ้นจำนวน 3.3 แสนคน
3. กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศลดจำนวนพันธบัตรรัฐบาล
  • กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศว่าจะทำการลดจำนวนพันธบัตรในโครงการ Supplementary Financing Program (SFP) ลงเหลือเพียง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจุบันที่ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะไม่มีการต่ออายุพันธบัตรที่จะครบกำหนด โดยนักวิเคราะห์คาดว่าเป็นผลมาจากปัญหาหนี้สาธารณะที่ระดับ 12.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 90.4 ของ GDP ที่คาดว่าใกล้จะถึงกำหนดเพดานหนี้ (debt ceiling) ในกลางเดือน ต.ค. 52 ทั้งนี้ โครงการ SFP ถูกก่อตั้งโดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือน ก.ย. 51 หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก เพื่อเข้ามาช่วยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบโดยการออกพันธบัตรระยะสั้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับลดจำนวนการออกพันธบัตรดังกล่าวถือเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากจะเป็นการช่วยรัฐบาลจัดการระบบหนี้สาธารณะให้คล่องตัวขึ้น ก่อนที่จะได้รับการอนุมัติการขยายวงเงินการออกพันธบัตรจากสภา Congress อย่างไรก็ตาม หากตลาดเกิดความกังวลว่าการปรับลดจำนวนการออกพันธบัตรดังกล่าวอาจนำไปสู่ภาวะสภาพคล่องล้นระบบการเงิน จะทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคตเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคาพันธบัตรตกลง ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรหรือ Yield พุ่งสูงขึ้นมาก นำไปสู่ความผันผวนในตลาดพันธบัตร และลุกลามไปสู่ตลาดโภคภัณฑ์ ตลาดเงินตลาดทุน และอาจนำไปสู่วิกฤตการเงินอีกครั้งได้

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ