ปาฐกถาของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลสถาบันการเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 21, 2009 12:00 —กระทรวงการคลัง

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2552 ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้กล่าวปาฐกถา ณ เฟดเดอรัล ฮอล (Federal Hall) ในบริเวณวอลสตรีท นครนิวยอร์ค เกี่ยวกับการกำกับดูแลภาคการเงินสหรัฐฯ โดยเน้นย้ำว่า สถาบันการเงินไม่ควรใช้ภาวะการณ์ที่สหรัฐฯ กำลังอยู่ในช่วงระหว่างฟื้นฟูความมั่นคงทางเศรษฐกิจและระบบการเงิน มาเป็นข้ออ้างในการบริหารจัดการเงินช่วยเหลือที่ได้รับจากทางการสหรัฐฯ ด้วยแนวทางปฏิบัติเดียวกันกับช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งมีการกำกับดูแลระบบการเงินที่ค่อนข้างหละหลวม ทั้งนี้ นายโอบามาได้ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงระบบกำกับดูแลสถาบันการเงินเป็นอย่างมาก แต่หลังจากที่ความรุนแรงของวิกฤติเศรษฐกิจลดลง ฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกลับไม่ให้ความสนใจกับความพยายามดังกล่าวเท่าที่ควร และหันไปมุ่งเน้นที่มาตรการจัดระบบสุขอนามัยมากขึ้น

ประธานาธิบดีโอบามากล่าวต่อไปอีกว่า ถึงแม้จะยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแลภาคการเงินอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร สถาบันการเงินควรควบคุมการดำเนินงานให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสม กล่าวคือ (1) ใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายในการดำเนินธุรกรรมกับผู้บริโภค (2) ได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นก่อนดำเนินการจ่ายเงินโบนัสให้กับผู้บริหารระดับสูง (3) จัดโครงสร้างระบบเงินตอบแทนให้สนับสนุนการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานในระยะยาว (4) ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ถือสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่ประสบปัญหาทางการเงิน และ (5) ให้ความช่วยเหลือผ่านการปล่อยกู้แก่เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่ประสบปัญหา นอกจากนั้น ประธานาธิบดีโอบามา ได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายสนับสนุนข้อเสนอของตน ในการปรับปรุงกฎระเบียบการกำกับดูแลภาคการเงิน อันประกอบไปด้วย (1) จัดตั้งองค์กรที่มีอำนาจคุ้มครองผู้บริโภคในส่วนของธุรกรรมทางการเงิน อาทิเช่น สินเชื่อประเภทต่าง ๆ (2) ขยายอำนาจของธนาคารกลางให้ครอบคลุมการกำกับดูแลความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับระบบการเงินโดยรวม และ (3) จัดทำกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น เพื่อควบคุมให้สถาบันการเงินคงระดับเงินทุนและสภาพคล่องที่ระดับสูง

มุมมองประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2552 นายเบน เบอนันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้แสดงความคิดเห็นถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงต่อเนื่องนั้นใกล้จะถึงจุดสิ้นสุด โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ผ่านจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 และเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวให้เห็น จากมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริงที่คาดว่าจะขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 3 ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา และการที่ผู้บริโภคหันกลับมาใช้จ่ายอีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2552 โดยปริมาณการใช้จ่ายของผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วยอัตราสูงที่สุดในรอบสามปี อย่างไรก็ตาม การอ่อนตัวของตลาดแรงงานจะยังคงกดดันให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นไปอย่งเชื่องช้า โดยคาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวถึงระดับที่สามารถสร้างงานได้อีกครั้งในปี 2553

ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือนกรกฏาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม 2552 ทางการสหรัฐฯได้บังคับใช้กฎหมาย Cash-for-Clunkers Act ที่ให้การสนับสนุนทางการเงินในกรณีที่ผู้ซื้อนำรถยนต์เก่ามาแลกซื้อรถยนต์ใหม่ที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ตัวเลขการค้าปลีกในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 2.7 ทั้งนี้ หากไม่รวมผลของกฎหมายดังกล่าวตัวเลขการค้าปลีกจะเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 0.7 ซึ่งการขยายตัวของปริมาณการใช้จ่ายดังกล่าวได้ผ่อนคลายความกังวลเกี่ยวกับการใช้จ่ายเพื่อซื้อยานพาหนะที่อาจกระทบให้ปริมาณการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการอื่นๆ ลดลง

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ