Economic Indicators: This Week
รายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ส.ค.52 จัดเก็บได้จำนวน 199.4 พันล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนจำนวน 20.4 พันล้านบาทหรือร้อยละ 11.4 ต่อปี ทั้งนี้ การจัดเก็บรายได้ในเดือน ส.ค.ที่อยู่ในระดับสูง เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิรอบครึ่งปีและภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่สูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนจำนวน 27.0 และ 10.3 พันล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่สูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากวันสุดท้ายของการยื่นชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลในปี 51 ตรงกับวันหยุดราชการจึงมีการเลื่อนการชำระภาษีส่วนหนึ่งออกไปอีก 1 วัน สำหรับรายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาลในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 52 (ต.ค.51-ส.ค.52) จัดเก็บได้จำนวน 1,323.0 พันล้านบาท (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 95.9 พันล้านบาท หรือร้อยละ -6.8) และต่ำกว่าประมาณการรายได้จำนวน 204.6 พันล้านบาท ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์รายได้เดิมที่คาดว่าจะต่ำกว่าประมาณการ 280 พันล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มการจัดเก็บรายได้รัฐบาลมีทิศทางที่ดีตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือน ส.ค. 52 หดตัวลงที่ร้อยละ -15.4 ต่อปีหดตัวน้อยกว่าเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -16.3 ต่อปี เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการภาครัฐที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว ส่งผลประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ส.ค. 52 หดตัวที่ร้อยละ -0.9 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวที่ชะลอลงมากจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -13.3 ต่อปี โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนด้านการก่อสร้างภาคเอกชนที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว ตามดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างที่หดตัวลงมาก
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ส.ค. 52 หดตัวที่ร้อยละ -1.1 ต่อปี หดตัวในอัตราชะลอลงมากจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -9.1 ต่อปี เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่องส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว ทั้งนี้ ในปี 52 คาดว่าปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งจะหดตัวที่ร้อยละ -10.0 ต่อปี (โดย 8 เดือนแรกปี 52 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวที่ร้อยละ -11.0 ต่อปี)
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนส.ค. 52 หดตัวที่ร้อยละ -12.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวในอัตราชะลอลงมากเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 52 ที่หดตัวที่ร้อยละ -35.8 ต่อปี และคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 52 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์จะปรับตัวดีขึ้นตามลำ ดับ เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (SP2) ที่จะมีการเบิกจ่ายจริงในช่วงปลายปี ซึ่งจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น และช่วยให้ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์จะปรับตัวดีขึ้นตาม
มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปดอลลาร์สหรัฐเดือน ส.ค. 52 หดตัวที่ร้อยละ-18.4 ต่อปี หดตัวน้อยกว่าเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -25.7 ต่อปี โดยเป็นผลมาจาก การส่งออกสินค้าหมวดใหญ่ที่ปรับตัวดีขึ้นได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่หดตัวร้อยละ -11.6 และ -11.2 ต่อปี หดตัวน้อยกว่าเดือนก่อนที่ร้อยละ -17.0 และ -13.9 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้ การส่งออกเคมีภัณฑ์ยังหดตัวชะลอลง ขณะที่โครงก่อสร้างที่ทำด้วยเหล็กขยายตัว อย่างไรก็ตาม สินค้าอื่นๆยังคงหดตัวอยู่ในระดับสูง ในส่วนของมูลค่านำเข้าสินค้ารวมในรูปดอลลาร์สหรัฐเดือนส.ค. 52หดตัวร้อยละ -32.8 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -32.5 ต่อปี จากการหดตัวของการนำเข้าทองคำที่หดตัวถึงร้อยละ -80.9 ต่อปี และการนำเข้าน้ำมันดิบ ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนทั้งนี้ ดุลการค้าเดือนส.ค. 52 เกินดุลที่ 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ส.ค. 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -2.6 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญในหมวดไม้ผล โดยเฉพาะทุเรียนและลำไย เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการออกผลและการเก็บเกี่ยว ส่วนยางพาราผลผลิตลดลง เนื่องจากมีฝนตกชุกหนาแน่นซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง ทำให้ผลผลิตลดลง
Economic Indicators: Next Week
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือน ส.ค.52 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ95.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 89.9 เนื่องจากคาดว่าจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นของยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ราคาขาย ตลอดจนปริมาณการผลิตและผลประกอบการ ซึ่งจะสอดคล้องกับแนวโน้มการส่งออกในเดือนส.ค. 52 ที่เริ่มมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ชัดเจน ประกอบกับปัจจัยทางการเมืองที่ยังไม่มีเสถียรภาพทำให้ดัชนียังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100
Foreign Exchange Review
ค่าเงินของประเทศคู่ค้าของไทยแทบทุกสกุลแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากความต้องการที่จะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง(Risky assets) ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องตามการปรับตัวขึ้นของตลาดหลักทรัพย์และราคาโภคภัณฑ์ทั่วโลกโดยได้รับปัจจัยบวกจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐในเดือน ส.ค. 52 ที่ปรับตัวดีขึ้นและตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลมากขึ้นในไตรมาส 2 บ่งชี้ว่ามีการนำเข้าเพื่อบริโภคมากขึ้น นอกจากนั้น คำกล่าวของประธานาธิบดีโอบามา ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) และนายวอเรนท์ บัฟเฟตต์ นักลงทุนชื่อดังที่เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้วยิ่งเพิ่มความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเช่นกัน และทำให้นักลงทุนขายสินทรัพย์สกุลดอลลาร์สหรัฐและเยนที่ถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ (Safe Haven) เงินทั้งสองสกุลจึงอ่อนค่าลง
ด้านค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในสัปดาห์ที่ผ่านมาเนื่องจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของประเทศกลุ่มยูโรโซนหดตัวต่ำกว่าที่คาด อย่างไรก็ตาม ค่าเงินปอนด์สเตอลิงค์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากตัวเลขการว่างงาน (ILO Unemployment Rate) เดือน ก.ค. อยู่ที่ร้อยละ 7.9 ตามที่ตลาดคาด ประกอบกับคำกล่าวของผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ที่ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอังกฤษยังคงไม่แน่นอน ทั้งในด้านความแข็งแกร่งและความยั่งยืน ทำให้ตลาดยังกังวลในเศรษฐกิจอังกฤษจึงยังคงขายสินทรัพย์สกุลเงินปอนด์สเตอลิงค์ต่อเนื่อง
ด้านค่าเงินเอเชียในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นตามความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะในอินโดนิเซียหลังจากที่ Moody’s ปรับอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรประเทศขึ้น และแสดงความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ตัวเลขการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในเขตเมืองของจีนที่ขยายตัวต่อเนื่องก็เป็นปัจจัยบวกต่อค่าเงินสกุลเอเชียเช่นกัน
ค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องที่ประมาณร้อยละ 0.62 จากสัปดาห์ก่อนหน้า จากการที่มีเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศสู่ตลาดหลักทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่องถึงประมาณ 1,600 ล้านบาทต่อวัน ประกอบกับการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ กระแสเงินทุนที่ไหลเข้าผ่านทั้งสองช่องทางทำให้ค่าเงินบาทแตะระดับ 33.7 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแข็งค่าสุดในรอบ 13 เดือน
เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 3.5) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 3.6) เงินเยน (ร้อยละ 3.4) หยวน (ร้อยละ 2.9) ดอลลาร์ ฮ่องกง (ร้อยละ 2.8) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 2.8) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 1.8)ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 1.5) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับ วอนเกาหลี (ร้อยละ 1.5) ยูโร (ร้อยละ 2.2) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 8.3) และปอนด์สเตอลิงค์(ร้อยละ 9.1) ตามลำดับ
Foreign Exchange and Reserves
ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 11 ก.ย.52 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) เพิ่มขึ้นสุทธิ 2.83 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 144.69 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำนวน 2.21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Forward Obligation จำนวน 0.62 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทในภาวะที่ตลาดโลกมีความผันผวน นอกจากนี้ ปริมาณเงินที่ไหลเข้าผ่านดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงอันเป็นผลจากการส่งออกของไทยที่ปรับตัวดีขึ้นโดยในเดือนส.ค.52 ไทยมีการเกินดุลการค้าตามระบบกรมศุลกากร 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับเมื่อพิจารณาในตลาดหลักทรัพย์พบว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมาต่างชาติมีการซื้อสุทธิในระดับสูงที่ 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินของธปท.ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น มีน้อยกว่าความต้องการขายเงินดอลลาร์สหรัฐของผู้ส่งออกและเงินทุนที่ไหลเข้าในตลาดหลักทรัพย์ จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมา (11 ก.ย.52) แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าจาก 34.01 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 33.93 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในสัปดาห์นี้
Major Trading Partners’ Economies: This Week
ยอดค้าปลีกของสหรัฐฯเดือนส.ค.52 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 จากเดือนก่อนหน้า จากเดือนก.ค.52 (ตัวเลขปรับปรุง) ที่หดตัวร้อยละ -0.2 จากเดือนก่อนหน้า และหากพิจารณาเป็นรายปี (yoy) แล้ว จะหดตัวเพียงร้อยละ-6.4 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราการหดตัวที่ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน โดยยอดขายสินค้ายานยนต์ขยายตัวถึงร้อยละ 10.6 จากเดือนก่อนหน้า จากนโยบายให้เงินอุดหนุนแก่ประชาชนที่มีรถเก่าที่เปลืองน้ำ มันให้นำ มาแลกซื้อรถใหม่ที่ประหยัดพลังงาน หรือ cash-for-clunkers (แต่หากไม่รวมสินค้ายานยนต์แล้ว ยอดค้าปลีกรวมจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.1 จากเดือนก่อนหน้า)ในขณะที่ยอดขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงและยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวที่ร้อยละ 5.1 และ 1.6 จากเดือนก่อนหน้า ตามลำดับ ตามแนวโน้มราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและการบริโภคภาคเอกชนที่เริ่มฟื้นตัว
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศยูโรโซนเดือน ก.ค. 52 หดตัวร้อยละ -15.9 ต่อปี หดตัวน้อยกว่าเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -16.7 ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่าหดตัวร้อยละ 0.3 สะท้อนให้เห็นว่าการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศยูโรโซนยังคงอ่อนแอ ทั้งนี้ผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลงเป็นผลมาจากการหดตัวลงของการผลิตสินค้าทุน เชื้อเพลิง และสินค้าอุปโภคบริโภคประเภทคงทน เป็นสำคัญ
ทางการญี่ปุ่นประกาศปรับตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ปี 52 เป็นขยายตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หรือหดตัวร้อยละ -7.2 ต่อปี
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคญี่ปุ่น เดือนส.ค.52 ปรับตัวสูงขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 มาอยู่ที่ระดับ 40.1 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 39.4 ลังจากที่แตะระดับต่ำสุดที่ระดับ 26.2 ในเดือนธ.ค.51 อย่างไรก็ตาม ดัชนีที่ต่ำกว่า 50 ยังคงบ่งชี้ว่าผู้บริโภคยังคงมีควมกังวลในสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งอาจทำให้การบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้
การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในเขตเมืองของจีนถึงเดือนส.ค.52 ขยายตัวเกินร้อยละ 30 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ที่ร้อยละ 33.0 ต่อปี เร่งขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 32.9 ต่อปี โดยการลงทุนในโครงการของรัฐบาลกลางขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องที่ร้อยละ 22.3 ในขณะที่การลงทุนโดยรัฐบาลท้องถิ่นขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 34.2 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 25.3 และ 33.7 ต่อปี ตามลำดับ ผลจากการเร่งการเบิกจ่ายการลงทุนจากรัฐบาลกลางในช่วงครึ่งแรกของปี ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นการสร้างสาธารณูปโภคในเขตเมือง
ตัวเลขยอดค้าปลีกของสิงคโปร์ เดือนก.ค. 52 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ-9.8 ต่อปี เร่งจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -8.4 ต่อปี และเมื่อพิจารณาเทียบแบบรายเดือนจะหดตัวร้อยละ -1.6 จากเดือนก่อนหน้า จากที่เคยขยายตัวร้อยละ 2.1 ในเดือนก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของอุปสงค์ในประเทศสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดว่ายอดค้าปลีกสิงคโปร์จะพลิกกลับมาขยายตัวอีกครั้งในเวลาอันใกล้นี้ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
การส่งออกไม่รวมน้ำมันของสิงคโปร์เดือนส.ค 52 หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -7.1 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -8.7 ต่อปี (ตัวเลขปรับปรุง) อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณารายเดือน จะขยายตัวร้อยละ 1.3 ต่อเดือน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวถึงร้อยละ 5.9 จากเดือนก่อนหน้า (ตัวเลขปรับปรุง) โดยสาเหตุสำคัญของการปรับตัวที่ดีขึ้นมาจากการส่งออกสินค้าเวชภัณฑ์ที่ขยายตัวร้อยละ 25.8 ต่อปี ในเดือนส.ค. แต่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวถึงร้อยละ 56.4 ต่อปี
การส่งออกและนำเข้าสินค้าของออสเตรเลียเดือน ก.ค.52 ยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยการส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -17.1 ต่อปี เร่งขึ้นจากร้อยละ -15.1 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า ผลจากส่งออกไปจีนที่ลดลงจากช่วงต้นปีที่ได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน ขณะที่การนำเข้าหดตัวร้อยละ -14.9 ต่อปี หดตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ -13.5 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า
ยอดขายสินค้าอุตสาหกรรมของมาเลเซียเดือนก.ค.52 หดตัวร้อยละ -22.4 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -25.3 ต่อปี (ตัวเลขปรับปรุง) ซึ่งเป็นอัตราการหดตัวที่ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 52 นอกจากนี้จำนวนผู้ที่ทำงานรวมทั้งค่าจ้างในภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ -7.4 และ-3.6 ต่อปี ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -7.8 และ -6.9 ต่อปี ตามลำดับ บ่งชี้ถึงภาคอุตสาหกรรมของมาเลเซียที่กำลังฟื้นตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดในช่วงครึ่งปีแรก
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th