รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 22 กันยายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 22, 2009 11:20 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 ก.ย. 2552

Summary:

1. ธนาคารแห่งประเทศไทย กังวลการปล่อยสินเชื่อ Fast Track อาจไม่ตรงจุด

2. อดีต รมว. คลังกังวลหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น

3. ธนาคารกลางอังกฤษคาดว่า Bond Yield ของอังกฤษอาจสูงขึ้นในระยะต่อไป

Highlight:
1. ธนาคารแห่งประเทศไทย กังวลการปล่อยสินเชื่อ Fast Track อาจไม่ตรงจุด
  • รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า แนวโน้มสินเชื่อในช่วงครึ่งปีหลัง 52 มีทิศทางดีขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจมีสัญญาณที่มีเสถียรภาพมากขึ้น จะส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อในครึ่งปีหลังดีขึ้นด้วย โดยเฉพาะสินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียน และการชะลอตัวของความต้องการสินเชื่อในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา พบว่าสินเชื่อทั้งระบบหดตัวลงร้อยละ 3.68 เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.51 หรือคิดเป็นมูลค่า 2.12 แสนล้านบาท สำหรับนโยบายกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อของรัฐบาลในโครงการ Fast Track จะช่วยกระตุ้นความต้องการสินเชื่อของผู้ประกอบการได้นั้น จะต้องดูความต้องการสินเชื่อในระบบเป็นหลัก ซึ่งหากทางรัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินลงไปแต่ไม่สอดคล้องกับความต้องการดังกล่าว ก็จะไม่เกิดประโยชน์
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สินเชื่อ Fast Track ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนปฎิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 จะช่วยเร่งการอนุมัติสินเชื่อให้บรรลุเป้าหมายการอนุมัติสินเชื่อใหม่ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 7 แห่งเพิ่มขึ้นจากเป้าเดิม 301,500 ล้านบาท ตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 52 เพื่อทดแทนการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ลดลง โดยออก 14 มาตรการเพื่อช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่ประชาชนฐานรากและผู้ประกอบการ SMEs ในภาคการเกษตร ท่องเที่ยว ส่งออก และอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ วงเงินสินเชื่อปี 52 มีประมาณ 927,000 ล้านบาท หากการเบิกจ่ายตรงตามเป้าที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 80 โดยประชาชนและผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปีและอาจส่งผลไปถึงปี 53 ต่อไป
2. อดีต รมว. คลังกังวลหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น
  • นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าว่า จะขยายตัวในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพของประเทศ โดยจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 2-3 ต่อปี และเชื่อว่าการลงทุนในโครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาลชุดนี้ อาจไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดหรือภายใน 3 ปี นอกจากนั้นยังกังวลว่า ระดับหนี้สาธารณะจะสูงเกินกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลัง (fiscal sustainability framework) ที่ร้อยละ 60 ต่อ GDP เนื่องจากเศรษฐกิจขยายตัวได้ในระดับต่ำกว่าศักยภาพ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ซึ่งเป็นการลงทุนในสาธารณูปโภคของประเทศนั้น จะสามารถทำให้ศักยภาพการผลิตของไทยเพิ่มขึ้น โดยจากแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคพบว่า แผนปฏิบัติการดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 2.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 4.1 ในปี 53 ในขณะที่ในระยะยาวจะทำให้ GDP ของไทยขยายตัวที่ระดับศักยภาพการผลิต (Potential GDP) ที่ร้อยละ 5.5 ต่อปี ในปี 2555 ขณะเดียวกัน การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้รายได้รัฐบาลเพิ่มมากขึ้นจากการจัดเก็บภาษี และทำให้ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP มีแนวโน้มลดลงจากฐาน GDP ที่เพิ่มขึ้น โดยจะทำให้สัดส่วนของหนี้สาธารณะลดลงจากร้อยละ 61 ต่อ GDP มาอยู่ที่ร้อยละ 58 ต่อGDP ได้
3. ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) คาดว่า Bond Yield ของอังกฤษอาจสูงขึ้นในระยะต่อไป
  • ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) คาดว่า ผลตอบแทนพันธบัตรหรือ Bond Yield ของประเทศอังกฤษอาจจะปรับตัวสูงขึ้นในระยะต่อไป จากการที่ทางการของประเทศอังกฤษได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา ทำให้ระดับหนี้สาธารณะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับความสามารถของรัฐบาลในการชำระหนี้มากขึ้น โดยปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้จำเป็นต้องมีการตอบแทน (Compensation) ที่สูงขึ้นทำให้ Bond Yield หรือต้นทุนในการกู้ยืมของรัฐบาลสูงขึ้นด้วย
  • สศค. วิเคราะห์ว่าการที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรธนาคารกลางอังกฤษมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคตนั้นเป็นผลจากการที่นักลงทุนมีความกังวลในภาวะเงินเฟ้อมากขึ้น จากการที่รัฐบาลทำนโยบายการคลังแบบขาดดุลถึงประมาณร้อยละ 14 ต่อ GDP ซึ่งจะทำให้ภาระการคลังมากขึ้นและต้องออกพันธบัตรมากขึ้นเพื่อชดเชยการขาดดุล รวมถึงให้ธนาคารกลางเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล (Monetization of Fiscal Deficit) ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นหากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว โดยล่าสุด BOE ได้เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 285 พันล้านดอลลาร์สหรัฐคืนจากระบบ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในระยะต่อไปธนาคารกลางอังกฤษจะต้องเข้ามามีบทบาทในการดูดซับสภาพคล่องโดยการขายพันธบัตรกลับคืนเป็นจำนวนมากอีกครั้งภายหลังจากที่ภาวะเศรษฐกิจเริ่มที่จะฟื้นตัว ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยสูงขึ้นและทำให้ค่าเงินปอนด์สเตอลิงค์ผันผวนในระยะต่อไป

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ