รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 23 กันยายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 23, 2009 11:27 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 ก.ย. 2552

Summary:

1. เอกชนคาดการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวไตรมาส 4 ปีนี้

2. ADB ประเทศไทยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2552 ลงมาเป็นหดตัวที่ร้อยละ -3.2 ต่อปี

3. ADB กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนส่งผลไปทางด้านการลงทุนมากกว่าการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งจะทำให้การปรับดุลการค้าโลกเป็นไปได้ยาก

Highlight:
1. เอกชนคาดการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวไตรมาส 4 ปีนี้
  • มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยประเภทธุรกิจบริการพบว่า ภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ภาวะเศรษฐกิจโลก ไข้หวัดใหญ่ 2009 ราคาน้ำมัน เสถียรภาพทางการเมือง และนโยบายเศรษฐกิจภาครัฐ จะส่งผลกระทบทำให้ยอดขายลดลงร้อยละ 52.5 กำไรลดลงร้อยละ 57.1 นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงร้อยละ 50.6 และนักท่องเที่ยวไทยลดลงร้อยละ 50.2 อย่างไรก็ตาม คาดว่าการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะดีขึ้นไตรมาส 4 ของปีนี้ และจะฟื้นตัวอย่างชัดเจนในไตรมาสแรกของปีหน้า และจากปัจจัยลบต่าง ๆ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2552 จะอยู่ที่ 12.5 ล้านคน ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 10-15 ต่อปี และหากรัฐบาลสามารถเร่งสร้างความเชื่อมั่นด้านต่าง ๆ ได้ คาดว่าในปีหน้าจะมีนักท่องเที่ยว 14.5 ล้านคนหรือเติบโตร้อยละ 15 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่าการเดินทางเข้าของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8 เดือนแรกปี 2552 มีจำนวนทั้งสิ้น 8.9 ล้านคน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -14.1 ต่อปี อย่างไรก็ตาม เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลแล้วพบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้า เริ่มมีการฟื้นตัวดังเห็นได้จากตัวเลขในเดือน มิ.ย. ก.ค.และ ส.ค. ที่เทียบกับเดือนก่อนหน้า เริ่มมีการขยายตัวร้อยละ 0.1 และ 1.6 และ 4.2 จากเดือนก่อนหน้าตามลำดับ ทั้งนี้ จากแบบจำลองภาคการท่องเที่ยวของ สศค. คาดว่าปัจจัยด้านการเมืองและปัญหาไข้หวัดใหญ่ 2009 ในกรณีกระทบน้อยจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศในปี 2552 มีทั้งสิ้น 13.0 ล้านคน ลดลงร้อยละ -10 จากปี 2551 และสร้างรายได้เข้าประเทศ 468 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 20 ต่อปี
2. ADB ประเทศไทยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2552 ลงมาเป็นหดตัวที่ร้อยละ-3.2 ต่อปี
  • ผู้อำนวยการสำนักงานผู้แทนธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(Asian Development Bank : ADB) ประจำประเทศไทย แถลงว่า เอดีบีคาดการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยรอบใหม่ โดยคาดว่าGDP ปี 2552 จะติดลบร้อยละ -3.2 ต่อปีจากเดิมคาดการณ์ไว้เดือน เม.ย.ติดลบร้อยละ -2.0 ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่กระทบต่อการส่งออกและปัญหาการเมืองในไทยที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าคาดการณ์เดิม ในขณะเดียวกันมองว่าเศรษฐกิจปีหน้าที่จะเติบโตร้อยละ 3 โดยแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งมีส่วนกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน บริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะดีขึ้นจากการจ้างงานที่ดีขึ้นและราคาสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจโลกดีขึ้น คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกของไทยดีขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2552 มีแนวโน้มหดตัวที่ร้อยละ -3.0 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 2552) โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นจากที่หดตัวต่ำสุดในไตรมาสแรกของปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านรายจ่ายเพื่อการบริโภคและรายจ่ายเพื่อการลงทุน จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 และปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้อุปสงค์ภายในประเทศในช่วงที่เหลือของปีและช่วงปี 2553 ปรับตัวดีขึ้น โดยจากแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคพบว่า แผนปฏิบัติการดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2553 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 2.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 4.1 ทั้งนี้ สศค.จะปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยประปี 2552 และ 2553 อีกครั้งในวันที่ 28 ก.ย. 2552
3. ADB กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนส่งผลไปทางด้านการลงทุนมากกว่าการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งจะทำให้การปรับดุลการค้าโลกเป็นไปได้ยาก
  • เอดีบีกล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 4 ล้านล้านหยวน รวมถึงยอดสินเชื่อใหม่กว่า 7 ล้านล้านหยวน ของจีน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ส่งผลให้การปฏิรูประบบเศรษฐกิจจีนที่ต้องการเน้นไปทางด้านการบริโภคภาคเอกชนเป็นไปได้ยาก รวมถึงการปรับดุลการค้าโลก (Global rebalance) เนื่องจากมาตรการดังกล่าวมีสัดส่วนในการลงทุนภาคเอกชนของจีนมากกว่ากระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนดังที่หลายฝ่ายต้องการ โดยการลงทุนภาคเอกชนมีสัดส่วนการเติบโตถึงร้อยละ 6.2 จากเศรษฐกิจรวมที่เติบโตร้อยละ 7.1 ในช่วงครึ่งปีแรก โดยการลงทุนภาคเอกชนเติบโตอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีสินเชื่อใหม่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์และตลาดอสังหาริมทรัพย์มากเกินไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่ทำให้การลงทุนภาคเอกชนของจีนเติบโตขึ้นมากนั้น ถือเป็นสิ่งที่ดีต่อเศรษฐกิจจีนในระยะยาว เนื่องจากเป็นการเพิ่มศักยภาพในการผลิต (Productivity) ให้สูงขึ้น และการลงทุนด้านสาธารณูปโภคยังเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน แม้ในช่วงที่ผ่านมามีสินเชื่อใหม่ร้อยละ 25 ของสินเชื่อใหม่ทั้งหมดเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์และตลาดอสังหาริมทรัพย์ แต่มีสินเชื่อจำนวนมากที่ปล่อยสู่ประชาชนโดยตรงเพื่อนำไปซื้อสินค้าอิเลคทรอนิกส์และสินค้าอื่นเพื่อกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ