รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 24 กันยายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 24, 2009 11:21 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 ก.ย. 2552

Summary:

1. ณรงค์ชัย ลั่น ศก.ไทยฟื้นเพราะดอกเบี้ยต่ำ

2. สมาคมวิจัยการตลาดฯเผยคนกรุงเทพฯ มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจลดลง

3. ดัชนี Purchasing Manager Index : PMI เบื้องต้นของกลุ่มประเทศยูโรโซนขยายตัว

Highlight:
1. ณรงค์ชัย ลั่น ศก.ไทยฟื้นเพราะดอกเบี้ยต่ำ
  • นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บลจ. เอ็มเอฟซี จำกัด กล่าวถึงอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้ โดยคาดว่า จะติดลบร้อยละ -4 ต่อปี และการที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นเกิดมาจากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ทำให้ต้นทุนเอกชนลดลง ไม่ใช่แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีส่วนแค่ประคองเศรษฐกิจ และยังติดปัญหาทางการเมือง ทำให้เม็ดเงินที่จะออกสู่ระบบล่าช้าออกไป อย่างไรก็ตามรัฐบาลไม่จำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม แต่ควรเร่งมาตรการที่ออกมาแล้วให้มีประสิทธิภาพ เบิกจ่ายงบเร็ว เร่งกระตุ้นการลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จีดีพีหลังปรับฤดูกาลแล้ว (qoq:sa) ในไตรมาสที่ 2/52 มีการขยายตัวร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1/52 แสดงให้เห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเมื่อวิเคราะห์สาเหตุการขยายตัวพบว่า เป็นผลมาจากการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐถึงร้อยละ 0.65 (Contribution to GDP Growth) และจากการบริโภคภาครัฐอีกร้อยละ 0.11 สะท้อนการทำงานของเครื่องยนต์ภาครัฐที่เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยามวิกฤติ อย่างไรก็ดี เพื่อให้ไม่เกิดการสะดุดตัวของเศรษฐกิจ ต้องอาศัยมาตรการไทยเข้มแข็งเป็นแรงขับเคลื่อนต่อเนื่อง โดยคาดว่าเม็ดเงิน 2 แสนล้านแรกจะเริ่มไหลเข้าสู่ระบบได้ในช่วงไตรมาส 4/52 นี้
2. สมาคมวิจัยการตลาดฯเผยคนกรุงเทพฯ มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจลดลง
  • นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยเปิดเผยผลสำรวจความเห็นคนกรุงเทพฯ พบว่ามีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจลดลงจากการสำรวจในครึ่งปีแรก สาเหตุหลักมาจากความกังวลในเสถียรภาพทางการเมือง รวมถึงราคาสินค้าที่ปรับราคาขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันและสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐาน นอกจากนี้ การสำรวจทางด้านสังคมพบว่า คนกรุงเทพฯ เครียดมากขึ้น จากปัญหาเศรษฐกิจ ความกังวลในอนาคต และปัญหาการจราจร ส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลในภาวะการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดยจะเห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 66.8 จากระดับ 66.0 ในช่วงครึ่งปีแรก และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 89.0 จากระดับ 72.5 ในช่วงครึ่งปีแรก โดยมีสาเหตุหลักมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น มาตรการเรียนฟรี 15 ปี และการขยายอายุโครงการ 5 มาตรการ 6 เดือน ที่ช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน ประกอบกับแนวโน้มยอดคำสั่งซื้อและยอดขายสินค้าที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจคลายความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจลง
3. ดัชนี Purchasing Manager Index : PMI เบื้องต้นของกลุ่มประเทศยูโรโซนขยายตัว
  • ดัชนี Purchasing Manager Index : PMI เบื้องต้นของกลุ่มประเทศยูโรโซนเดือนกันยายนอยู่ที่ระดับ 50.8 เพิ่มขึ้นจาก 50.4 ในเดือนก่อนหน้า นับเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ทั้งนี้ การที่ระดับดัชนีอยู่เหนือระดับ 50 ถือเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยและความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม ปัญหาการว่างงานยังเป็นปัญหาสำคัญของสหภาพยุโรป โดยล่าสุดอัตราการว่างงานเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ระดับร้อยละ 9.5 ของแรงงานทั้งหมด ถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1999
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมและการบริการของสหภาพยุโรปเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เริ่มแสดงผลออกมาอย่างเป็นรูปธรรม โดยประเทศส่วนใหญ่ที่อยู่ในสหภาพยุโรปมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่เน้นไปทางด้านบริการ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 ของเศรษฐกิจทั้งหมด ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปจะเป็นผลดีต่อประเทศคู่ค้าหลักรวมไปถึงไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกไปยังทวีปยุโรปซึ่งมีสัดส่วนสูงเป็นอันดับ 1 ที่ร้อยละ 12 ของมูลค่าส่งออกรวม จะเป็นแรงหนุนให้เศรษฐกิจประเทศไทยแข็งแกร่งขึ้นอีกครั้ง

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ