Economic Indicators: This Week
รายจ่ายรัฐบาลเดือน ส.ค.52 รัฐบาลเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 142.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.1 โดยการเบิกจ่ายงบประมาณประกอบด้วยรายจ่ายประจำจำนวน 119.7 พันล้านบาทขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.0 และรายจ่ายลงทุนจำนวน17.2 พันล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 36.7 โดยการเบิกจ่ายที่สำคัญในเดือน ส.ค.52 ได้แก่ รายจ่ายเงิน อุดหนุนให้กระทรวงศึกษาธิการ และรายจ่ายให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 5.3 และ 3.9 พันล้านบาท ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพื่อชดใช้เงินคงคลังจำนวน 19.0 พันล้านบาท สำหรับในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 52 (ต.ค. 51 — ส.ค. 52) รัฐบาลเบิกจ่ายจำนวนทั้งสิ้น 1,720.2 พันล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.0 ต่อปี โดยเป็นรายจ่ายในส่วนของงบประมาณประจำปีจำนวน 1,604.0 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 82.2 ของกรอบวงเงินงบประมาณ 1,951.7 พันล้านบาท รวมรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปีวงเงิน 1.16 แสนล้านบาท
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือน ส.ค.52 อยู่ที่ระดับ 88.0 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 89.9 โดยเป็นผลมาจากการลดลงของยอดคำสั่งซื้อและยอดขาย เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาบางอุตสาหกรรมได้ปรับเพิ่มสต็อคสินค้าไปแล้วจึงชะลอการสั่งซื้อในเดือนสิงหาคมลง นอกจากนี้วัตถุดิบในหลายอุตสาหกรรมยังขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้น ประกอบกับการขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรรม ทำให้ปริมาณการผลิตและผลประกอบการปรับตัวลดลง
นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ส.ค. 52 มีจำนวน 1.15 ล้านคน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -1.0 ต่อปี ส่งผลให้ 8เดือนแรกปี 52 มีจำนวนทั้งสิ้น 8.9 ล้านคน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -14.1ต่อปี อย่างไรก็ตาม เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลพบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มมีการฟื้นตัวดังเห็นได้จากเดือน มิ.ย. ก.ค. และ ส.ค. เริ่มมีการขยายตัวร้อยละ0.1 1.6 และ 4.2 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยเป็นการขยายตัวจากกลุ่มยุโรป และเอเชียใต้ ขณะที่กลุ่มเอเชียตะวันออกซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์สูงมีการหดตัวในอัตราที่ชะลอลง ทั้งนี้สศค. คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศในปี 52 จะมีทั้งสิ้น 13.0 ล้านคน ลดลงร้อยละ -10 ต่อปี และจะสร้างรายได้เข้าประเทศมูลค่า 468 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -20 ต่อปี
Economic Indicators: Next Week
ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ส.ค. 52 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -9.1 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ที่หดตัวร้อยละ -9.0 ต่อปี เนื่องจากปัจจัยฐานสูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนประกอบกับคาดว่าการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมจะยังคงหดตัวต่อเนื่อง ตามมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่หดตัวร้อยละ -15.4 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -12.9 ต่อปี ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ หดตัวร้อยละ -15.9 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -22.9 ต่อปี นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. 52 ที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 88.0 ยังเป็นเครื่องชี้ว่าปริมาณการผลิตและยอดคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมในเดือน ส.ค. น่าจะปรับลดลงด้วยเช่นกัน
ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ส.ค. 52 คาดว่าจะเกินดุลที่ 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากดุลการค้าที่เกินดุลสูงถึง 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐขณะที่ดุลบริการคาดว่าจะเกินดุลที่ 0.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ติดลบต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกันนับจากเดือน เม.ย. 52 ตามรายได้จากการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าในเดือน ส.ค.52 ที่เพิ่มขึ้น
Foreign Exchange Review
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวค่อนข้างทรงตัวอยู่ในกรอบแคบเมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าของไทย เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงความต้องการที่จะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง (Risky assets) ที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องตามการปรับตัวขึ้นของตลาดหลักทรัพย์และความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเผชิญปัจจัยลบจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐได้ประกาศว่าใกล้เวลาที่จะยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากความ เสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อที่เริ่มมีมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ตลาดมองว่า FED จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง จึงลดการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน
ด้านค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเล็กน้อยในสัปดาห์นี้หลังจากที่ตัวเลขดัชนีภาคการผลิตเบื้องต้นในกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโร (Euro-zone PMI Manufacturing (Flash) ) ประจำเดือน ก.ย. ที่อยู่ที่ระดับ 49.0 จุด ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 48.2 จุดแต่ต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ระดับ 49.7 จุด ในขณะที่ดัชนี PMI Composite อยู่ที่ระดับ 50.8 จุดต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ระดับ 51.3 จุด บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวในภาคการผลิตที่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ก่อนหน้า ในขณะเดียวกัน ทางด้านค่าเงินปอนด์สเตอลิงค์อ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากผลการทดสอบความแข็งแกร่งของสถาบันการเงิน(Stress test) โดยองค์กรกำกับตรวจสอบสถาบันการเงิน (Financial Services Authority: FSA) ระบุว่ากลุ่มธนาคารลอยด์ (Lloyds Banking Group) อาจจะต้องเพิ่มทุนเป็นจำ นวนมากซึ่งมากกว่าที่ธนาคารจะสามารถเพิ่มทุนในตลาดเองได้ประกอบกับรายงานประจำไตรมาสของธนาคารกลางอังกฤษระบุว่าความยั่งยืนของด้านค่าเงินของเงินปอนด์สเตอลิงค์อาจปรับลดลงเนื่องจากความไม่สมดุลของเศรษฐกิจจากวิกฤติสินเชื่อเริ่มมีมากขึ้น
ด้านค่าเงินเอเชียในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นตามความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะค่าเงินวอนซึ่งสอดคล้องกับแรงไหลเข้าของเงินทุนสู่ตลาดหลักทรัพย์เกาหลีในขณะที่ค่าเงินเปโซแข็งค่าขึ้นหลังจากที่นักลงทนเริ่มมีความเชื่อมั่นในฐานะการคลังของรัฐบาลฟิลิปปินส์มากขึ้นหลังจากที่ดุลการคลังของฟิลิปปินส์ขาดดุลลดลง
ในสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นสูงสุดเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในรอบ 1 ปี โดยแตะระดับ 33.6 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินภูมิภาคอื่น ๆ มากขึ้น เมื่อเทียบกับในช่วง 1 เดือนก่อนหน้าที่ค่าเงินภูมิภาคแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวค่อนข้างมีเสถียรภาพ โดยค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมามีปัจจัยจากการที่มีเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศสู่ตลาดหลักทรัพย์ไทยประมาณ1,000 ล้านบาท ประกอบกับการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น
เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 4.1) หยวน(ร้อยละ 3.3) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 3.2) เยน (ร้อยละ 3.2) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ3.2) เปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 3.1) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 2.3) ดอลลาร์สิงคโปร์(ร้อยละ 1.9) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับ รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ -8.2) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ -5.3) วอนเกาหลี (ร้อยละ -2.0) และยูโร (ร้อยละ -1.3) ตามลำดับ
Foreign Exchange and Reserves
ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 18 ก.ย.52 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) เพิ่มขึ้นสุทธิ 1.42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 146.10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำนวน 1.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ เป็นการเพิ่มขึ้นของ Forward Obligation จำนวน 0.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เข้าดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทเพื่อทำให้ค่าเงินบาทไม่แข็งค่าขึ้นมากนักอย่างไรก็ตาม เมื่อวัดจากการเพิ่มขึ้นของ Gross และ Forward Obligation เทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า จะพบว่า เพิ่มขึ้นในระดับที่น้อยลงกว่าสัปดาห์ก่อนหน้า บ่งชี้ว่า ธปท.เข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินในระดับที่น้อยลง นอกจากนี้ ปริมาณเงินที่ไหลเข้าผ่านดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง เห็นได้จากการเกินดุลการค้าตามระบบกรมศุลกากร 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือน ส.ค. และเงินลงทุนจากต่างชาติเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในสัปดาห์ที่ผ่านมาที่เข้าซื้อสุทธิต่อเนื่องที่ 8.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ การเข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินของธปท.ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น มีน้อยกว่าความต้องการขายเงินดอลลาร์สหรัฐของผู้ส่งออกและเงินทุนที่ไหลเข้าในตลาดหลักทรัพย์ทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมา (18 ก.ย.52) แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าจาก 33.93 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 33.68 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในสัปดาห์นี้
Major Trading Partners’ Economies: This Week
ยอดจำหน่ายบ้านมือสอง (Existing home sales) ของสหรัฐฯเดือนส.ค. 52 หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -2.7 จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 5.10 ล้านหลัง จากที่ขยายตัวติดต่อกันมา 4 เดือน และขยายตัวสูงสุดในรอบ 2 ปี ในเดือนก.ค. 52ที่ร้อยละ 7.2 จากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ยอดขายนี้ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึงร้อยละ 3.4 ต่อปี ผลจากนโยบายช่วยเหลือด้านภาษีแก่ผู้ที่ซื้อบ้านเป็นครั้งแรก จากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการสหรัฐฯ ในขณะที่ราคากลางบ้านมือสอง (Median Home Price) ปรับตัวลดลงที่ 177,700 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแม้จะลดลงจากเดือนที่แล้วที่ราคา 181,500 ดอลลาร์สหรัฐ (ตัวเลขปรับปรุง) แต่ก็อยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงปลายปี 51 ผลจากการขายบ้านที่ถูกยึดเป็นจำนวนมาก ซึ่งราคาบ้านที่ยังอยู่ในระดับต่ำน่าจะส่งผลให้ประชาชนสามารถซื้อบ้านได้มากขึ้นในอนาคต เป็นอีกสัญญาณบวกว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นชนวนของวิกฤตการเงินโลกครั้งนี้ได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว
ดัชนีการจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมเบื้องต้น (Flash Mfg PMI) ของกลุ่มประเทศยูโรโซนในเดือน ก.ย. 52 อยู่ที่ระดับ 49.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 48.2 สำหรับดัชนีคำสั่งซื้อภาคบริการเบื้องต้น(Flash Service PMI) เดือน ก.ย. 52 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 50.6 ส่งผลให้ดัชนีคำสั่งซื้อรวมเบื้องต้น (Flash Composite PMI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ50.8 สูงที่สุดในรอบ 16 เดือน ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยของดัชนีคำสั่งซื้อเป็นผลจากดัชนีคำสั่งซื้อโดยรวมของประเทศเยอรมันที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า สำหรับดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเบื้องต้นของกลุ่มประเทศยูโรในเดือน ก.ย. 52 อยู่ที่ระดับ 51.2 ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.3 ซึ่งเป็นสัญญาณว่าการฟื้นตัวในภาคอุตสาหกรรมของยุโรปนั้นเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป
การส่งออกสินค้าของประเทศญี่ปุ่นในเดือน ส.ค. 52 หดตัวร้อยละ-36.0 ต่อปี หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -36.5 ต่อปีและเมื่อทอนผลทางฤดูกาลแล้วหดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ-0.7 (%mom) ในขณะที่การนำเข้าหดตัวร้อยละ - 41.3 ต่อปี หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -40.8 ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนส.ค. 52 เกินดุล 185 พันล้านเยน ซึ่งเป็นสัญณาณบ่งชี้ว่าภาคการส่งออกของญี่ปุ่นยังคงไม่ฟื้นตัวแม้จะได้รับอานิสงค์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของต่างประเทศในช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดแตะระดับ 91.19 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ (ณ 24 ก.ย. 52)ยังส่งผลกระทบต่อการส่งออกของญี่ปุ่นอีกด้วย
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสิงคโปร์ในเดือนส.ค.52 หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -0.3 ต่อปี จากร้อยละ -0.5 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า และหากพิจารณารายเดือน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนส.ค.จะขยายตัวที่ร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า จากเดือนก.ค. ที่ขยายตัวร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้า ผลจากราคาสินค้าประเภทคมนาคมและการสื่อสารปรับตัวขึ้นร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ราคาสินค้าประเภทเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าก็ปรับตัวขึ้นเช่นกันที่ร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
มูลค่าการส่งออกสินค้าของฮ่องกงเดือนส.ค.52 หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 ที่ร้อยละ -13.6 ต่อปี ชะลอลงจากร้อยละ -19.9 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า โดย มูลค่าการส่งออกสินค้านำเข้า ซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 97 ของการส่งออกรวม หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -13.2 ต่อปี ในขณะที่ มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ผลิตในประเทศ ยังคงหดตัวในระดับสูงแต่ด้วยอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ -37.3 ต่อปี ในแง่มิติคู่ค้า การส่งออกไปยังเอเชียโดยรวมหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -10.7 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า ในขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ และจีน ยังคงหดตัวถึงร้อยละ -14.6 และร้อยละ -11.1 ต่อปีตามลำดับ ในขณะที่การนำเข้าสินค้าเดือนส.ค.52 หดตัวร้อยละ -9.8ต่อปี ชะลอลงมากจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -17.8 ต่อปี ทำให้ดุลการค้าฮ่องกงเดือนส.ค. 52 ขาดดุลที่ -21.8 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง
ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไต้หวันเดือนส.ค.52 กลับมาหดตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ -9.6 ต่อปี หลังจากที่หดตัวน้อยที่สุดในรอบ 10 เดือนที่ร้อยละ-7.9 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า (ตัวเลขปรับปรุง) และหากคิดเป็นรายเดือนโดยปรับผลทางฤดูกาลแล้ว การส่งออกในเดือนส.ค.จะหดตัวที่ร้อยละ -0.4 จากเดือนก่อนหน้า หลังจากที่ขยายตัวติดกันมาถึง 6 เดือน ทั้งนี้ เป็นการหดตัวในทุกหมวดอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเป็นภาคสินค้าส่งออกหลัก หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -9.4 ต่อปี ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่หดตัวสูงถึงร้อยละ -22.3 ต่อปี เป็นสัญญาณว่าภาคอุตสาหกรรมไต้หวันยังคงมีความเสี่ยงและความเปราะบาง
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th