รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนสิงหาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 28, 2009 13:45 —กระทรวงการคลัง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนสิงหาคม 2552 ว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณของการเริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า อันเป็นผลจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ อันได้แก่การบริโภคและลงทุนภาคเอกชนที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกที่มีสัญญาณของการฟื้นตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราการว่างงานปรับตัวลดลง สอดคล้องกับการจ้างงานในภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับสูงมาก โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนสิงหาคม 2552 มีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนสิงหาคม หดตัวลดลงที่ร้อยละ -15.4 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -16.3 ต่อปี สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนสิงหาคม 2552 ที่หดตัวที่ร้อยละ -10.2 ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวถึงร้อยละ -15.6 ต่อปี อีกทั้งปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนสิงหาคม หดตัวลดลงที่ร้อยละ -1.1 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -9.1 ต่อปี สอดคล้องกับเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนในอนาคต (Leading Indicator) ที่วัดจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนสิงหาคม 2552 อยู่ที่ระดับ 67.4 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3 เดือนติดต่อกัน สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจไทยที่เพิ่มขึ้น โดยได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนยังคงมีความเปราะบางสะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ -13.8 ต่อปี ส่วนหนึ่งมาจากรายได้เกษตรกรที่ลดลง ส่งผลกระทบต่อความต้องการซื้อรถจักรยานยนต์ของกลุ่มเกษตรกร

2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนสิงหาคม 2552 มีสัญญาณของการฟื้นตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่วัดจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน หดตัวลดลงที่ร้อยละ-7.6 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าหดตัวถึงร้อยละ -21.0 ต่อปี สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนได้จากภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมหดตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ -0.9 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าหดตัวถึงร้อยละ -13.3 ต่อปี ขณะที่ยอดขายปูนซีเมนต์ในเดือนกรกฎาคม 2552 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 ต่อปี ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองบ่งชี้ว่าการลงทุนภาคการก่อสร้างเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น

3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนสิงหาคม 2552 พบว่า นโยบายการคลังมีส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยรายจ่ายรัฐบาลประจำเดือนสิงหาคมเท่ากับ 142.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.1 โดยเป็นผลมาจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำในเดือนสิงหาคม 2552 มีจำนวน 119.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.0 ต่อปี และรายจ่ายลงทุนมีจำนวน17.2 พันล้านบาท ขยายตัวถึงร้อยละ 36.7 ต่อปี ด้านรายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาลในเดือนสิงหาคม 2552 จัดเก็บได้ 199.4 พันล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 11.4 โดยภาษีฐานรายได้ขยายตัวถึงร้อยละ 25.0 ต่อปี ขณะที่ภาษีฐานการบริโภคมีการหดตัวน้อยลงที่ร้อยละ -16.1 ต่อปี เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายในประเทศในเดือนสิงหาคม 2552 ปรับตัวดีขึ้น

4. การส่งออกเริ่มมีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในเดือนสิงหาคม 2552 โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนสิงหาคม 2552 อยู่ที่ 13.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฏาคม 2552 ที่อยู่ที่ 12.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ -18.4 ขณะที่เมื่อพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่า อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกในเดือนสิงหาคมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามที่ร้อยละ 0.6 ต่อเดือน (ปรับปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) บ่งชี้ว่าภาคการส่งออกมีสัญญาณของการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากการขยายการส่งออกที่ดีขึ้นไปยังตลาดภูมิภาคและตลาดเกิดใหม่ อันได้แก่ จีน ตะวันออกกลาง เวียดนาม และออสเตรเลีย เป็นหลัก ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐพบว่ายังคงหดตัวเมื่อเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 11.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหดตัวร้อยละ -32.8 ต่อปี โดยเป็นผลมาจากปริมาณนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -29.9 ต่อปี และราคาสินค้านำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -4.2 ต่อปี ในขณะที่เมื่อพิจารณาในรายสินค้าพบว่า แม้ว่ามูลค่าการนำเข้ารวมยังคงหดตัวแต่มูลค่าการนำเข้าในหมวดสินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค มีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศ ทั้งนี้ มูลค่านำเข้าที่หดตัวมากกว่ามูลค่าส่งออก ทำให้ดุลการค้าในเดือนสิงหาคม เกินดุลต่อเนื่องที่ 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

5. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือนสิงหาคม 2552 พบว่า ภาคบริการจากการท่องเที่ยวภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรมีการปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้ภาคการเกษตรวัดจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเริ่มปรับตัวดีขึ้นที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี ในเดือนสิงหาคม 2552 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.6 ต่อปี ตามการเพิ่มของผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปีและหมวดผลไม้ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการออกผลและการเก็บเกี่ยว ทำให้รายได้ของเกษตรกรที่แท้จริงมีการหดตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ -15.8 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -19.1 ต่อปี ด้านเครื่องชี้ภาคบริการจากการท่องเที่ยวเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนสิงหาคมมีจำนวน 1.1 ล้านคน หดตัวที่ร้อยละ -1.0 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -14.2 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 ต่อเดือน (ปรับปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 1.6 ต่อเดือน (ปรับปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะจากยุโรปและเอเชียใต้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่เครื่องชี้การผลิตภาคอุตสาหกรรมวัดจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม หดตัวลดลงที่ร้อยละ -8.6 ต่อปีปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -8.9 ต่อปี อันเป็นผลจากการหดตัวที่ลดลงของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องแต่งกายเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม อัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเริ่มปรับตัวดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ห้าที่ร้อยละ 57.3 ของกำลังการผลิตรวม

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยอัตราการว่างงานในเดือนกรกฎาคม 2552 ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวม ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานหดตัวลดลงในเดือนสิงหาคมมาอยู่ที่ร้อยละ -1.0 และร้อยละ -0.2 ต่อปีตามลำดับ อันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ และราคาสินค้าหมวดอาหาร สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 อยู่ที่ร้อยละ 43.4 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 50 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนสิงหาคมอยู่ในระดับสูงที่ 127.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นเกินกว่า 5.0 เท่า

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ