รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 29 กันยายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 29, 2009 14:05 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 ก.ย. 2552

Summary:

1. ก.พาณิชย์ระดมผู้ประกอบการไทยรับมือเปิดเสรีบริการอาเซียนปี 53

2. ที่ประชุม G-20 วางแผนสร้างสมดุลทางการเงินระหว่างประเทศ

3. Fed อาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบรวดเร็วและรุนแรง

Highlight:
1. ก.พาณิชย์ระดมผู้ประกอบการไทยรับมือเปิดเสรีบริการอาเซียนปี 53
  • กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้อาเซียนได้กำหนดเป้าหมายการเปิดตลาดในสาขาบริการต่างๆ โดยจะมีการเร่งรัดเปิดเสรีใน 4 สาขาบริการ ได้แก่ ท่องเที่ยว สุขภาพ ขนส่งทางอากาศ สาขาโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ ซึ่งกำหนดให้อาเซียนสามารถถือหุ้นอย่างน้อยร้อยละ 70 และยกเลิกข้อจำกัดการเข้าสู่ตลาดอื่นๆ ทั้งหมด โดยมีผลในปี 53 หรือหลังจากที่มีการลงนาม และในปี 56 จะต้องเปิดให้อาเซียนถือหุ้นอย่างน้อยร้อยละ 70 ในสาขาขนส่ง (Logistic) ส่วนสาขาบริการอื่นๆ ต้องเปิดให้อาเซียนสามารถถือหุ้นได้อย่างน้อยร้อยละ 70 ในปี 58
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเปิดเสรีทางการค้าบริการภายในภูมิภาคอาเซียน จะช่วยส่งเสริมการค้าและบริการระหว่างกัน ทั้งนี้ ภาคบริการภายในประเทศมีส่วนสำคัญในระบบเศรษฐกิจไทย โดยมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของขนาดเศรษฐกิจ (GDP) อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีภาคบริการดังกล่าวอาจส่งผลให้มีการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องมีการเตรียมความพร้อม รวมถึงภาครัฐต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นการรองรับการเปิดเสรีบริการอาเซียนดังกล่าว
2. ที่ประชุม G-20 วางแผนสร้างสมดุลทางการเงินระหว่างประเทศ
  • สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ที่ประชุมสุดยอดผู้นำ G-20 ณ เมือง Pittsburgh ได้เห็นพ้องในข้อตกลงแนวทางการสร้างสมดุลทางการเงินของโลก โดยสหรัฐฯ จำเป็นต้องลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ที่ทำให้ต้องพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากประเทศจีนเพื่อการนำเข้าสินค้า ในขณะเดียวกันประเทศจีนควรเน้นการใช้จ่ายภายในประเทศมากขึ้น เพื่อทดแทนอุปสงค์จากตลาดสหรัฐฯ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุหนึ่งของวิกฤติการเงินโลกเกิดจากปัญหาความไม่สมดุลของการเงินโลก โดยที่สหรัฐเป็นประเทศขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (Deficit countries) ในขณะที่กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด (Surplus countries) ดังนั้น ในการแก้ไขปัญหาความไม่สมดุลทางการเงินดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือในระดับประเทศที่คล้าย Plaza Accord เมื่อปี ค.ศ. 1985 ในการปรับระดับค่าเงินให้เหมาะสม และอาจจะต้องเร่งการดำเนินการให้ค่าเงินสกุลอื่นๆ เช่น ยูโร หยวน และเยนมีบทบาทในการค้าและการเงินระหว่างประเทศมากขึ้น
3. Fed อาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบรวดเร็วและรุนแรง
  • เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) กล่าวถึงกรณีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Federal Fund Rate) ของ FED ในระยะต่อไปนั้นอาจจะเป็นการปรับขึ้นแบบรวดเร็วและรุนแรง (Aggressive) ทั้งนี้ เวลาของการปรับขึ้นดังกล่าวจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ Fed เริ่มมั่นใจในการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ ทั้งนี้ หลังจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมานั้น รัฐบาลและ Fed ได้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการทำนโยบายการคลังแบบขยายตัว (Expansionary Fiscal Policy) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ซึ่งรวมถึงอัดฉีดสภาพคล่อง(Quantitative Easing) ทำให้เป็นไปในว่าสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นนั้นอาจเกินกว่าระดับที่เหมาะสมหากเศรษฐกิจพลิกฟื้นขึ้นอีกครั้ง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปัจจุบันปริมาณเงินในระบบของสหรัฐ (Monetary Base) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 842 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 51 มาอยู่ที่ระดับ 1.70 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน ขณะที่งบดุล (Balance sheet) ของ Fed ได้ขยายตัวขึ้นจากประมาณ 1.14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐมาเป็น 2.14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบันเช่นกัน อันเป็นผลจากการที่ Fed เข้าอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อช่วยเหลือภาคการเงิน อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจพลิกฟื้นขึ้นอีกครั้ง อาจทำให้ปริมาณเงินในระบบสูงเกินไปได้ ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เริ่มพลิกฟื้นขึ้นทำให้นักลงทุนเริ่มกังวลความเสี่ยงเงินเฟ้ออีกครั้ง ดังนั้น การออกมาประกาศดังกล่าวก็เพื่อเป็นการลดการคาดการณ์เงินเฟ้อ (Inflation Expectation) ที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม หาก Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยรวดเร็วรุนแรงจริง อาจทำให้ราคาพันธบัตรตกลง ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตร หรือ Yield พุ่งสูงขึ้นมาก และอาจนำไปสู่ความผันผวนในตลาดพันธบัตร และตลาดเงินตลาดทุนในระยะต่อไปได้

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ