นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ขอสรุปผลการดำเนินการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐประจำเดือนสิงหาคม 2552 พร้อมทั้งรายงานสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2552 ดังนี้
1. การปรับโครงสร้างหนี้ภาครัฐ
1.1 เดือนสิงหาคม 2552
หนี้ในประเทศ
กระทรวงการคลังได้ดำเนินการแปลงตั๋วเงินคลังเป็นพันธบัตรรัฐบาล วงเงิน 11,000 ล้านบาท
รัฐวิสาหกิจได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ โดยทำการ Roll over วงเงินรวม 4,000 ล้านบาท โดย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ทำการ Roll over หนี้เดิม วงเงินแห่งละ 2,000 ล้านบาท
1.2 ช่วง 11 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2552
หนี้ในประเทศ
กระทรวงการคลังได้ดำเนินการปรับโครงสร้าง
หนี้ในประเทศ วงเงินรวม 130,999.20 ล้านบาท โดยการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินในส่วนของ FIDF1 49,999.20 ล้านบาท การปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่ครบกำหนด70,000 ล้านบาท และการแปลงตั๋วเงินคลังเป็นพันธบัตรรัฐบาล 11,000 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจได้ทำการ Roll over หนี้เดิมรวม 43,119 ล้านบาท
2. การกู้เงินภาครัฐ
เดือนสิงหาคม 2552
กระทรวงการคลังได้กู้เงินในประเทศเพื่อชดเชย การขาดดุลงบประมาณโดยการออกพันธบัตรรัฐบาล วงเงิน 9,000 ล้านบาท
รัฐวิสาหกิจได้กู้เงินในประเทศ วงเงินรวม 14,970 ล้านบาท โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้มีการกู้เงินรวม 8,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการกู้เงินบาทสมทบ 2,040 ล้านบาท กู้เพื่อทดแทนเงินกู้ต่างประเทศ 1,960 ล้านบาท และกู้เพื่อดำเนินกิจการทั่วไป 4,000 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกู้เพื่อดำเนินกิจการทั่วไป 2,900 ล้านบาท และการกู้เพื่อลงทุนในโครงการของการเคหะแห่งชาติ 4,070 ล้านบาท
ช่วง 11 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2552
ภาครัฐได้กู้เงินในประเทศรวม 663,825 ล้านบาท โดยเป็นการกู้เงินของกระทรวงการคลัง 487,030 ล้านบาทและของรัฐวิสาหกิจ 176,795 ล้านบาท
3. การชำระหนี้ภาครัฐ
เดือนสิงหาคม 2552
กระทรวงการคลังได้ดำเนินการชำระหนี้จากงบประมาณรวม 6,382 ล้านบาท โดยเป็นการชำระคืนเงินต้น 584 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรวม 5,798 ล้านบาท
ช่วง 11 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2552
กระทรวงการคลังได้ชำระคืนต้นเงินกู้ ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมจากงบประมาณรวม 131,242 ล้านบาท
รายงานหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2552
ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2552 มีจำนวน 3,984,377 ล้านบาท หรือร้อยละ 45.35 ของ GDP เป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 2,589,542 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,090,998 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน 204,817 ล้านบาท และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 99,020 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 152,806 ล้านบาท โดยหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง และหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น 122,627 ล้านบาท และ 38,006 ล้านบาท ตามลำดับ สำหรับหนี้รัฐวิสาหกิจ ที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ลดลง 1,072 ล้านบาท และ 3,000 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนหน่วยงานอื่นของรัฐนั้นไม่มีหนี้คงค้าง
การเพิ่มขึ้นสุทธิของหนี้สาธารณะคงค้างเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมานั้น ที่สำคัญเกิดจากการเพิ่มขึ้นของ หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง และหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน โดยหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพิ่มขึ้นสุทธิ 122,627 ล้านบาท รายการที่สำคัญเกิดจากรัฐบาลได้ทำการออกพันธบัตรรัฐบาลสำหรับนักลงทุนประเภทสถาบัน และออกพันธบัตรออมทรัพย์สำหรับประชาชนทั่วไปเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 35,000 ล้านบาท และ 30,000 ล้านบาท ตามลำดับ ประกอบกับรัฐบาลได้ดำเนินการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 9,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินที่ได้จากการออกพันธบัตร ไปทยอยชำระคืนต้นเงินกู้ระยะสั้นที่ใช้เป็น Bridge Financing วงเงิน 30,000 ล้านบาท ซึ่งในเดือนมิถุนายนได้ดำเนินการออกพันธบัตรไปแล้ว จำนวน 21,000 ล้านบาท โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาล ที่ครบกำหนดในเดือนพฤษภาคม 2552 นอกจากนี้รัฐบาลได้ออกพันธบัตรออมทรัพย์ภายใต้เงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 จำนวน 50,000 ล้านบาท เพื่อสมทบเงินคงคลัง
สำหรับหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นสุทธิ 38,006 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกันในส่วนของหนี้ในประเทศ รายการที่สำคัญเกิดจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ออกหุ้นกู้ วงเงิน 35,000 ล้านบาท
สำหรับหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันลดลงสุทธิ 1,072 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากการลดลงของหนี้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน รายการที่สำคัญเกิดจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยไถ่ถอนหุ้นกู้ จำนวน 1,000 ล้านบาท
สำหรับหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ลดลง 3,000 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากการซื้อคืนพันธบัตรของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน
สำหรับหน่วยงานอื่นของรัฐนั้นไม่มีหนี้คงค้าง เนื่องจากกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติชำระคืนต้นเงินกู้ระยะยาวเรียบร้อยแล้ว
หนี้สาธารณะ 3,984,377 ล้านบาท แยกออกเป็นหนี้ต่างประเทศ 379,527 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.53 และหนี้ในประเทศ 3,604,850 ล้านบาท หรือร้อยละ 90.47 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และเป็นหนี้ระยะยาว 3,538,308 ล้านบาท หรือร้อยละ 88.80 และหนี้ระยะสั้น 446,069 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.20 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง
ส่วนประสานสัมพันธ์นักลงทุน สำนักนโยบายและแผน
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ โทร. 0 2265 8050 ต่อ 5510
--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 134/2552 29 กันยายน 52--