กระทรวงการคลังเสนอมาตรการเร่งรัดเบิกจ่ายงบ ปี 53

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 30, 2009 08:52 —กระทรวงการคลัง

กระทรวงการคลังเสนอมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2553 โดยมีเป้าหมายเบิกจ่ายในภาพรวมร้อยละ 94 และงบลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 75 จากวงเงินงบประมาณรวม 1.7 ล้านล้านบาท

นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าวันนี้ 29 กันยายน 2552 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 จำนวน 1.7 ล้านล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมาตรการเร่งรัดติดตามดังกล่าว ได้กำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ดังนี้

การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75.00 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนของแต่ละหน่วยงาน

การเบิกจ่ายงบประมาณในภาพรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 94.00 ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย 1,700,000 ล้านบาท

กรณีหน่วยงานสังกัดกระทรวงกลาโหมที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ ซึ่งได้รับงบรายจ่ายอื่นและเบิกจ่ายในลักษณะรายจ่ายลงทุน กำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายงบประมาณในภาพรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 92.00 ของวงเงินงบประมาณในภาพรวมของแต่ละหน่วยงาน

โดยเป้าหมายอัตราการเบิกจ่ายในไตรมาสแรก กำหนดการเบิกจ่ายในภาพรวม ร้อยละ 20 และงบลงทุนร้อยละ 12 โดยคาดว่าน่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากสัดส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำร้อยละ 84.5 รายจ่ายลงทุนร้อยละ 12.5 และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ร้อยละ 3.0 ของวงเงินงบประมาณ 1,7 ล้านล้านบาท ซึ่งปกติรายจ่ายประจำ เช่น เงินเดือน ค่าสาธารณูปโภค ส่วนใหญ่เบิกจ่ายได้ตามวงเงินงบประมาณที่ได้รับอยู่แล้ว สำหรับรายจ่ายลงทุนเป็นรายการเบิกจ่ายปีเดียวจะได้รับจัดสรรเงินงบประมาณเต็มวงเงินที่จะทำสัญญา แต่ส่วนใหญ่มักประสบปัญหาไม่สามารถทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันได้ตามแผน ก็ต้องมีมาตรการเพื่อติดตามเร่งรัดอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ทราบปัญหาอุปสรรคและแก้ไขทันที ประกอบกับได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้นำอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุน และอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายภาพรวม ตามเป้าหมายที่คณะรัฐมนตรีกำหนดเป็นตัวชี้วัดในคำรับรองการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ ด้วย

นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางการดำเนินงานของส่วนราชการ จังหวัด และรัฐวิสาหกิจ ได้กำหนดไว้ ดังนี้

1. ให้ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจถือปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2548 โดยเร่งดำเนินการโอนจัดสรรงบประมาณรายจ่ายตามแผนงบประมาณ แผนงบประมาณในเชิงบูรณาการ ผลผลิตหรือโครงการ ประเภทงบรายจ่าย และรายการในงบรายจ่ายที่ต้องดำเนินการในเขตพื้นที่จังหวัด ยกเว้นงบบุคลากร ไปยังสำนักเบิกส่วนภูมิภาคนั้นๆ ตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณที่กำหนดโดยอย่างช้าไม่เกิน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ

2.ให้ดำเนินการเกี่ยวกับการกำหนดคุณลักษณะหรือแก้ไขครุภัณฑ์ แบบแปลน รูปแบบ เปลี่ยนแปลงรายการปรับเปลี่ยนแผนงาน/โครงการ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย เหมาะสมกับการใช้งาน สถานการณ์ หรือภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และวงเงินงบประมาณที่ได้รับ ให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2

3. ให้บันทึกใบสั่งซื้อสั่งจ้าง (Purchasing Order : PO) ในระบบ GFMIS ให้เป็นปัจจุบัน เพื่อติดตามสถานะการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณของแต่ละหน่วยงาน รวมทั้งบันทึกข้อมูลแผนงาน งวดงานและงวดเงิน ตามระบบที่กระทรวงการคลังกำหนด และรายงานผลความก้าวหน้าตามแผนงาน งวดงานและงวดเงินที่สอดคล้องกับความสำเร็จของงานในแต่ละเดือน

4. ให้เร่งการจัดฝึกอบรม ประชุมสัมมนา ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2553 และเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2553

5. การเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายเงิน ให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดกำกับหน่วยงานในสังกัดให้ปฏิบัติตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินอย่างเคร่งครัด โดยให้ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจแต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานในการเร่งรัดการใช้จ่ายเงินงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 เป็นการเฉพาะ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายให้คลังจังหวัดดำเนินการเร่งรัดการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานในจังหวัดเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย

6. สำหรับการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายนั้น ทางกรมบัญชีกลางจะรายงานผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 รวมทั้งปัญหาอุปสรรค และมาตรการที่ควรดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเป็นรายไตรมาสและในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นรายงานผลการใช้จ่ายเงิน และปัญหาอุปสรรค ให้คณะกรรมการติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐเป็นรายไตรมาส และเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามมาตรการที่เสนอแล้ว จะได้แจ้งให้ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจได้ทราบต่อไป” นายแพทย์พฤฒิชัย กล่าว

สำนักบริหารการรับ-จ่ายเงิน

กรมบัญชีกลาง

โทร. (02) 271-3123

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 135/2552 29 กันยายน 52--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ