Macro Morning Focus ประจำวันที่ 30 ก.ย. 2552
1. หนี้สาธารณะในเดือน ก.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับใกล้ 4 ล้านล้านบาท
2. รัฐบาลเพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้านอีก 19,500 ล้านบาท
3. ผู้ประกอบการเสนอรัฐหามาตรการลดต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยที่ยังสูงอยู่
- ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลังเปิดเผยว่ายอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 ก.ค. 52 มีจำนวน 3.98 ล้านบาทหรือประมาณร้อยละ 45.35 ของ GDP ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 3.83 ล้านล้านหรือประมาณร้อยละ 43.38 ของ GDP ทั้งนี้ ปริมาณหนี้ที่เพิ่มขึ้นถึง 1.52 แสนล้านบาทเป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงถึง 1.22 แสนล้านบาทโดยเป็นการหนี้จากการกู้ผ่านพันธบัตรรัฐบาลที่ออกให้สถาบันการเงินและประชาชนซื้อ
- สศค. วิเคราะห์ว่า ระดับหนี้สาธารณะดังกล่าวสอดคล้องกับการจัดทำนโยบายการคลังแบบขยายตัวโดยการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรวมถึงเป็นการกู้เงินเพื่อโครงการไทยเข้มแข็งในช่วงถัดไป อย่างไรก็ตาม ระดับหนี้สาธารณะดังกล่าวยังคงอยู่ภายใต้ระดับกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ที่ระดับร้อยละ 50 ของ GDP ทั้งนี้ จากแบบจำลองของ สศค. ในกรณีต่ำที่สมมติให้เศรษฐกิจไทยในอนาคตขยายตัวเฉลี่ยเพียงร้อยละ 3 ต่อปี และเงินเฟ้อขยายตัวเฉลี่ยเพียงร้อยละ 2.4 ต่อปีพบว่าแนวโน้มรายได้ของประเทศ (อัตราขยายตัวของ Nominal GDP) จะขยายตัวสูงกว่าต้นทุนของการกู้เงินของรัฐบาล (อัตราดอกเบี้ย) ซึ่งแสดงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศ และหนี้สาธารณะจะลดลงได้ในระยะยาว
- นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติเพิ่มเงินกองทุนเศรษฐกิจพอเพียงให้กับกองทุนที่มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว 69,932 กองทุน จากทั้งหมด 78,013 กองทุน โดยเป็นวงเงินที่จัดสรรให้กองทุนหมู่บ้านเพิ่ม 19,559 ล้านบาท ตามขนาดของหมู่บ้าน นอกจากนี้ จะส่งนักศึกษาจบใหม่ในโครงการต้นกล้าอาชีพ 8,000 คน เข้าไปอบรมระบบบัญชีให้กองทุนหมู่บ้าน โดยรัฐบาลจะวางกรอบระบบการกู้เงินของกองทุนหมู่บ้านเพื่อให้มีประสิทธิภาพ เพราะเห็นว่าผู้กู้ยังใช้เงินไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ โดยสัดส่วนร้อยละ 20 กู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน
- สศค. วิเคราะห์ว่า การเพิ่มเงินกองทุนให้กับกองทุนหมู่บ้านดังกล่าวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งของรัฐบาล จะช่วยกระตุ้นการจ้างงานและการใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งเป็นการบรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทั้งนี้ จากแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคของ สศค. คาดว่าแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งจะทำให้การจ้างงานเพิ่มสูงขึ้นจำนวน 5 แสนคนต่อปี
- นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลสำรวจดัชนีต้นทุนโลจิสติกส์การส่งออกไทยปี 2552-2553 ว่า ตั้งแต่ปี 2546-2550 ต้นทุนโลจิสติกส์เท่ากับ 1,603,900 ล้านบาท มีสัดส่วนต่อจีดีพีร้อยละ 18.9 และใน ปี 2551 ต้นทุนสูงขึ้นถึงร้อยละ 20.1 ของจีดีพี ส่วนในปี 2552 จากราคาน้ำมันที่ลดลงและปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ต้นทุนโลจิสติกส์มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลง แต่ยังมีสัดส่วนโดยเฉลี่ยร้อยละ 19 สำหรับสิ่งที่ผู้ประกอบการอยากเห็นคือ ต้นทุนโลจิสติกส์ไทยที่ลดลงเฉลี่ยร้อยละ 10-15 ของจีดีพี ดังนั้น จึงอยากให้ภาครัฐหามาตรการว่าจะทำอย่างไรให้ต้นทุนลดลงอย่างน้อยปีละร้อยละ 1-2 ใน 5 ปีของหน้าเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันกับประเทศคู่ค้าได้
- สศค. วิเคราะห์ว่า ในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งระยะที่ 2 ที่จะดำเนินการตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ถึง 2555 ได้มีโครงการในสาขาการขนส่งและโลจิสติกส์ซึ่งมีจำนวนเม็ดเงินที่ใช้ลงทุนมากที่สุดประมาณร้อยละ 40 ของวงเงินลงทุนทั้งหมด ซึ่งการลงทุนในเรื่องการขนส่งดังกล่าวจะมีช่วยในเรื่องต้นทุนของผู้ประกอบการ แม้ว่ากว่าโครงการต่างๆจะแล้วเสร็จจะต้องใช้เวลา 3-4 ปี แต่ในระยะสั้นนี้ ผู้ประกอบการจะได้อานิสงค์ในเรื่องของราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำตามภาวะเศรษฐกิจโลก
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th