รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 2 ตุลาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 2, 2009 14:14 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 2 ต.ค. 2552

Summary:

1. อัตราเงินเฟ้อเดือนก.ย.52 หดตัวที่ร้อยละ -1.0 ต่อปี

2. SME ชี้แจงการอนุมัติวงเงินกู้ 140 ล้านบาท

3. ดัชนี Tankan ของประเทศญี่ปุ่นในไตรมาส 3 ปี 52 ปรับตัวเพิ่มขึ้น

Highlight:
1. อัตราเงินเฟ้อเดือนก.ย.52 หดตัวที่ร้อยละ -1.0 ต่อปี
  • รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (Headline Inflation) เดือนก.ย. 52 เท่ากับ 105.3 หดตัวลดลงที่รัอยละ -1.0 ต่อปี และเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 รอบปีนี้ หากเทียบกับเดือนก่อนหน้า เงินเฟ้อจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 9 เดือนปีนี้ หดตัวที่ร้อยละ -1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา (YTD)
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 4 ของปี น่าจะเริ่มเป็นบวก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเริ่มมีการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น รวมถึงราคาน้ำมันดิบดูไบที่มีการคาดการณ์ว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ ที่ประมาณ 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ -0.8 ต่อปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปี 53 คาดว่าจะอยู่ในช่วงคาดการณ์ระหว่างร้อยละ 2.0 ถึง 3.0ต่อปี
2. SME ชี้แจงการอนุมัติวงเงินกู้ 140 ล้านบาท
  • ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) ได้ชี้แจงกรณีของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ให้สัมภาษณ์ว่าสมาชิกของส.อ.ท. ที่ยื่นขอกู้เงินจากเอสเอ็มอีแบงก์ ได้รับการอนุมัติวงเงินกู้เพียง 140 ล้านบาทจากที่ยื่นขอกู้สูงถึง 4,000 ล้านบาท ทางธนาคารชี้แจงว่าผู้กู้ส่วนใหญ่ที่ ส.อ.ท. ส่งมาให้มีปัญหาหนี้กับธนาคารพาณิชย์และต้องการรีไฟแนนซ์เอสเอ็มอีแบงก์ แต่โดยสภาพกิจการแบกรับภาระหนี้ไม่ไหว ส่วนที่มีการรับรองความน่าเชื่อถือ มีแค่ 10 ราย เป็นวงเงิน 429 ล้านบาท ซึ่งธนาคารก็ได้อนุมัติไปแล้ว 8 ราย วงเงิน 140 ล้านบาท ตามที่เป็นข่าว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากวิกฤตเศรษฐกิจโลกจากปลายปี 51 ส่งผลให้เศรษฐกิจจริง (Real Sector) โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมหดตัวทันทีที่ร้อยละ -6.7 ต่อปี ในไตรมาสที่ 4 ปี 51 โดยธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งนี้ ภาครัฐได้ดำเนินนโยบายช่วยเหลือทั้งนโยบายการคลัง โดยเฉพาะ SP1 ที่จะรักษากำลังซื้อของประชาชน และนโยบายการเงินที่จะเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ ผ่านการขยายสินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 6 แห่งและธนาคารกรุงไทยหรือสินเชื่อ fast track ซึ่งคาดว่าจะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
3. ดัชนี Tankan ของประเทศญี่ปุ่นในไตรมาส 3 ปี 52 ปรับตัวเพิ่มขึ้น
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ผลิตรายใหญ่ (Tankan Sentiments, Big Manufacturer) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคบริการ (Tankan Sentiments, Big Non-Manufacturer) ของประเทศญี่ปุ่นในไตรมาส 3 ปี 52 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ -33 และ -24 โดยการปรับตัวเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นการปรับตัวขึ้นมาจากระดับ -48 และ -29 ในไตรมาสที่ 2 ตามลำดับ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังมีความเสี่ยงจาก (1) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 27 ล้านล้านเยน (2.86 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ที่อาจเริ่มหมดลงในระยะต่อไป ในขณะที่ฐานะการคลังของญี่ปุ่นอ่อนแอมาก โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP (Public-debt-to-GDP ratio) ณ ช่วงสิ้นปี 52 คาดว่าจะสูงถึงร้อยละ 200 ต่อ GDP ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเผชิญกับความเสี่ยงต่อการดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไปหากอุปสงค์ภายในและภายนอกประเทศกลับมาหดตัวอีกครั้ง (2) ค่าเงินเยนที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นในระยะนี้อาจส่งผลต่อรายได้ผู้ส่งออกญี่ปุ่น และ (3) อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับที่สูงที่สุดในรอบ 6 ปีที่ร้อยละ 5.7 ของกำลังแรงงาน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ