รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 1 ตุลาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 1, 2009 12:05 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 ต.ค. 2552

Summary:

1. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯ คาดการณ์ 3 เดือน สูงกว่าระดับ 100 ในรอบ 20 เดือน

2. ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยในเดือนส.ค.52 เริ่มทรงตัว คาดฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

3. ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะหยุดโครงการซื้อพันธบัตรจากภาคธุรกิจเดือนนี้

Highlight:
1. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯ คาดการณ์ 3 เดือน สูงกว่าระดับ 100 ในรอบ 20 เดือน
  • ประธานสภาอุตฯ เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมไทยเดือน ส.ค.52 พบว่าได้ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก.ค.52 ที่ระดับ 89.9 มาอยู่ที่ระดับ 88.0 เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการลดลง เป็นผลมาจากบางอุตสาหกรรมเริ่มมีสตอกสินค้าสูงขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว ประกอบกับวัตถุดิบบางตัวมีราคาสูงขึ้น ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ได้ปรับตัวขึ้นมาอยู่เกินระดับ 100 ครั้งแรกในรอบ 20 เดือน โดยขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 102.1 เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ค.52 ที่อยู่ในระดับร้อยละ 96.7
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯ ปรับตัวลดลงครั้งแรกหลังจากได้ปรับขึ้น 5 เดือนติดต่อกัน แสดงให้เห็นถึงความกังวลของภาคอุตสาหกรรมที่ต่างมองว่าเศรษฐกิจจะมีการฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ ประกอบกับการเร่งการผลิตอย่างรวดเร็วในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาทำให้มีสินค้าในสต๊อกมากพอกับยอดคำสั่งซื้อ จึงมีการชะลอการผลิตลงเพื่อดูสถานการณ์ให้ชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ดี สัญญาณจากดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าสะท้อนว่าความเชื่อมั่นในช่วงครึ่งหลังของปียังอยู่ในระดับสูง จึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมในการขยายสินเชื่อเพื่อรองรับการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
2. ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยในเดือนส.ค.52 เริ่มทรงตัว คาดฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
  • ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยตัวเลขเศรษฐกิจในเดือน ส.ค. 52 โดยระบุว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในเดือนสิงหาคมโดยรวมชะลอลงจากเดือนก่อน หลังจากปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้าสะท้อนการฟื้นตัวในลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป โดยเครื่องชี้ภาคการผลิต การบริโภคภาคเอกชน และการนำเข้าที่ปรับฤดูกาลแล้วหดตัวจากเดือนก่อน ขณะที่การส่งออกทรงตัว อย่างไรก็ดี เครื่องชี้หลายตัวยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งการลงทุนภาคเอกชน การท่องเที่ยว ผลผลิตและรายได้เกษตรกรจากพืชผลสำคัญ และการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นรวมทั้งแรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายภาครัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจเดือน ส.ค. 52 บางตัวจะชะลอลงจากเดือนก่อน แต่เมื่อพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจเฉลี่ย 2 เดือนแรกของไตรมาส 3 พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนอย่างชัดเจน ทั้งเครื่องชี้เศรษฐกิจภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มมีแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นในครึ่งหลังของปี 52 ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการเศรษฐกิจของ สศค. ณ เดือน ก.ย. 52 ที่คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาส 4 และคาดว่าปี 52 จะหดตัวร้อยละ -3.0 ต่อปี
3. ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะหยุดโครงการซื้อพันธบัตรจากภาคธุรกิจเดือนนี้
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะหยุดโครงการซื้อพันธบัตรจากภาคธุรกิจภายในเดือนนี้ (ต.ค.) โดยเป็นเหตุผลจากการที่ภาคธุรกิจสามารถหาแหล่งเงินทุนเอกชนได้ด้วยตัวเองแล้ว และทางธนาคารเกรงว่าหากคงการซื้อพันธบัตรไว้จนถึงกำหนดในเดือน ธ.ค. นั้นจะเป็นการทำให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินทุนของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่เดิมที่ 0.1% เนื่องจากมองว่าเสถียรภาพของเศรษฐกิจยังคงมีความเสี่ยงอยู่จากปัญหาอัตราการว่างงาน และปัญหาเงินฟืด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา เป็นช่วงปิดบัญชีประจำครึ่งปีของญี่ปุ่น ส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลกลับเข้าสู่ตลาดเงินญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากจากกำไรของบริษัทญี่ปุ่นที่มีบริษัทในเครือหรือบริษัทปฏิบัติการอยู่ในต่างประเทศ ดังนั้นจะทำให้สภาพคล่องโดยรวมในญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต่างลดความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อลง ดังนั้น การหยุดโครงการซื้อพันธบัตรจากภาคธุรกิจของธนาคารกลางญี่ปุ่นในปัจจุบันจึงถือเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติเพื่อให้ระบบการเงินสามารถไหลเวียนได้เอง อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางญี่ปุ่นก็ควรจะติดตามตัวเลขทางการกู้ยืมของภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ