รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 6 ตุลาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 6, 2009 11:53 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 6 ต.ค. 2552

Summary:

1. นายกฯ เผยเศรษฐกิจไทยยังเปราะบาง หวังไทยเข้มแข็งกระตุ้นการฟื้นตัว

2. IMF คาดเอเชียจะปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายภายในครึ่งแรกของปี 53

3. กลุ่มเศรษฐกิจสหภาพยุโรปส่งสัญญาณพ้นจุดต่ำสุด

Highlight:
1. นายกฯ เผยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างเปราะบาง หวังไทยเข้มแข็งช่วยระยะยาว
  • นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจไทยจากเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจต่างๆ ส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดแรงงาน ที่พบว่าตัวเลขการว่างงานลดลงเหลือประมาณ 5-7 แสนคนจากที่เคยคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านคน อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงมีความเปราะบางสูง ขณะที่คาดว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (SP2) จะสามารถทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวอย่างยั่งยืน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เครื่องชี้ด้านแรงงานปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟิ้นตัว โดยการว่างงานในเดือนก.ค. 52 มีจำนวน 4.8 แสนคน (หรือร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวม) ปรับตัวลดลงจากช่วงต้นปี 52 ที่มีผู้ว่างงานถึง 7.7 แสนคน ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะที่ 2 (SP2) ซึ่งมุ่งเน้นการลงทุนของภาครัฐเพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนต่อเนื่อง (Crowding-in Effect) นั้นจะก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน และเพิ่มการกระจายการลงทุนด้านการบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานสู่ชนบท โดยจากแบบจำลองของ สศค. พบว่า แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งจะมีส่วนช่วยให้การจ้างงานเพิ่มขึ้นจากกรณีฐานประมาณ 6 แสนคนต่อปีในปี 53-55
2. IMF คาดเอเชียจะปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายภายในครึ่งแรกของปี 53
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่า ประเทศในเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน และไทย จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในครึ่งแรกของปี 53 ในขณะเดียวกัน โจเซฟ สติกลิทซ์ (Joseph Stiglitz) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล มองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีความเปราะบางอยู่ และอาจจะประสบกับปัญหาอัตราเงินฝืด (Deflation) ได้ ดังนั้น ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในอัตราต่ำจนสิ้นปี 53
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หากการคาดการณ์ของ IMF เป็นจริง เป็นไปได้ว่า Fed อาจจะต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามเอเซียในระยะต่อไป เนื่องจากหากธนาคารกลางเอเชียมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามที่มีการคาดการณ์ไว้ จะทำให้เกิดแรงกดดันต่อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐให้อ่อนค่าลงมากยิ่งขึ้นจากระดับปัจจุบันที่อ่อนค่าลงมากแล้ว ซึ่งจะทำให้ความต้องการในการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ลดลง และมีการเทขายพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลสหรัฐต้องปรับขึ้นผลตอบแทนพันธบัตรเพื่อจูงใจนักลงทุน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ ในอนาคต รวมถึงทำให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินทุนได้
3. กลุ่มเศรษฐกิจสหภาพยุโรปส่งสัญญาณพ้นจุดต่ำสุด
  • สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มการฟื้นตัวจากตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนล่าสุดเดือน ส.ค.52 เทียบกับเดือนก่อนหน้าชะลอตัวที่ร้อยละ 0.2 ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.5 ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนได้หดตัวที่ร้อยละ - 2.6 ต่อปี ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจยุโรปจะเริ่มขยายตัวในไตรมาสที่ 3 ของปี 52 ดีขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ที่หดตัวที่ร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ปรับปัจจัยฤดูกาลแล้ว) ทั้งนี้ เป็นผลจากการใช้จ่ายงบกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการขยายตัวในภาคการส่งออก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่เศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ทำให้สนับสนุนให้การบริโภคเอกชนฟื้นตัวเพิ่มขึ้น เช่นมาตรการ cash-for-clunkers” ของเยอรมนีที่รับแลกรถยนต์เก่าที่กินน้ำมันมากเพื่อซื้อรถยนต์ใหม่ ซึ่งทำให้ยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้นส่งผลให้การส่งออกสุทธิของยุโรปขยายตัวดีขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไปเศรษฐกิจยุโรปมีความเสี่ยงจากอัตราว่างงานที่สูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 9.6 ขณะที่หนี้สาธารณะของภาครัฐ ที่อยู่ระดับสูง เช่นรัฐบาลอิตาลีมียอดหนี้สาธารณะปัจจุบันที่สูงถึงร้อยละ 104.1 ต่อ GDP ทำให้ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้มากนัก

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ