Macro Morning Focus ประจำวันที่ 7 ต.ค. 2552
1. กรุงเทพโพลล์ระบุนักเศรษฐศาสตร์คาดเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปี 52 โต 1.45%
2. ธนาคารกรุงไทยเตรียมสินเชื่อก่อสร้างวงเงิน 1 หมื่นล้านหนุนแผนไทยเข้มแข็ง
3. อัตราการว่างงานสหรัฐปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 9.8 ของกำลังแรงงานรวม
- ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) สำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรภาครัฐและเอกชน รวม 14 แห่ง เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปี 52 ซึ่งผลสำรวจระบุว่าร้อยละ 87.2 ของกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 จะขยายตัวดีกว่าช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว โดยมีค่าเฉลี่ยของการขยายตัวที่ร้อยละ 1.45 โดยเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นว่า รัฐบาลควรเน้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านการลงทุนมากขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาการว่างงาน รวมทั้งจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ในระยะยาว
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ปี 52 ของไทยยังต้องพึ่งพามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลัก เนื่องจากอุปสงค์ทั้งภายในและภายนอกประเทศยังอ่อนแอ ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ไตรมาสที่ 4 ปี 52 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 3 - 4 ต่อปี เนื่องจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเป็นช่วงเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้ฐานในการคิดคำนวณการเติบโตอยู่ในระดับต่ำ และส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงขึ้น ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความสามารถในการเบิกจ่ายงบประมาณในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งของภาครัฐ
- ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่าได้เตรียมสินเชื่อก่อสร้างไทยเข้มแข็งในวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท รวมทั้งจัดช่องด่วนพิเศษ (Fast Track) ซึ่งสามารถอนุมัติสินเชื่อได้ภายใน 15 วัน เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการรองรับแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง โดยขณะนี้ธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อก่อสร้างไปแล้วจำนวน 1 พันล้านบาท นอกจากนี้ ธนาคารจะออกหนังสือค้ำประกันทันใจไทยเข้มแข็ง 2555 ให้กับผู้ประกอบการภายใน 1 วัน เพื่อใช้ในการค้ำประกันการยื่นซองประกวดราคาต่อหน่วยงานราชการ และจะให้สินเชื่อในวงเงิน 30% ของมูลค่างานในทันที ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ จะสามารถอนุมัติสินเชื่อก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 2พันล้านบาท
- สศค. วิเคราะห์ว่า แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งวงเงิน 1.43 ล้านล้านบาทจะส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อในภาคก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในปี 53 ที่คาดว่าจะมีโครงการที่พร้อมดำเนินการถึงร้อยละ 75 ของโครงการทั้งหมด ดังนั้น การปล่อยสินเชื่อที่รวดเร็วและเพียงพอของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐและธนาคารกรุงไทยจึงมีความสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมาก ทั้งนี้ ในช่วง ก.พ. - ก.ค. 2552 ธ. กรุงไทย ปล่อยสินเชื่อเฉลี่ย 4.5 พันล้านบาทต่อเดือน ในขณะที่ ธ. พาณิชย์ทั้งระบบเรียกคืนสินเชื่อเฉลี่ย -39.9 พันล้านบาทต่อเดือน
- อัตราการว่างงานของสหรัฐ ณ สิ้นเดือน ก.ย. 52 ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 9.8 ของกำลังแรงงานรวม หรือประมาณ 15.1 ล้านคน โดยระดับดังกล่าวเป็นระดับการว่างงานที่สูงที่สุดในรอบ 26 ปี ทั้งนี้ หลังจากที่เกิดวิกฤติการทางเศรษฐกิจตั้งแต่เดือน ธ.ค. 50 จำนวนคนว่างงานได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 7.2 ล้านคนจากผลกระทบดังกล่าว
- สศค. วิเคราะห์ว่าปัญหาการว่างงานของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและค่าจ้างที่ค่อนข้างคงที่ (Stagnant wages) อาจทำให้ประชาชนวิตกกังวลที่จะบริโภคและใช้จ่าย ทั้งนี้ ภาคการบริโภคของสหรัฐฯ ซึ่งมีสัดส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 70 ของ GDP หากไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวแล้ว ย่อมส่งผลลบต่อการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจรวม ในขณะเดียวกัน รัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงเผชิญกับปัญหาทางด้านการจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะ 2 จากระดับหนี้สาธารณะที่อาจปรับตัวขึ้นไปอยู่ระดับสูงเกือบถึงระดับร้อยละ 60 ของ GDP ในปี 53 ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) เผชิญกับข้อจำกัดทางด้านความเสี่ยงของเงินเฟ้อในระยะต่อไป ดังนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ ควรให้ความสำคัญกับการเบิกจ่ายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 ให้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดอัตราการว่างงานในระยะต่อไปลงได้
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th