รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 8 ตุลาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 8, 2009 11:55 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 8 ต.ค. 2552

Summary:

1. บีโอไอ เผยยอดส่งเสริมการลงทุนช่วง 9 ด.แรกของปี 2552 ลดลง 12%

2. ราคาทองในประเทศพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

3. ธ.กลางออสเตรเลียขึ้นดอกเบี้ยจากร้อยละ 3.00 เป็นร้อยละ 3.25

Highlight:
1. บีโอไอเผยลงทุนกระเตื้อง ยอดขอรับฯ 9 เดือนแตะ 3 แสนล้าน
  • สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยว่าภาพรวมของยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนของไทยปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของจำนวนโครงการ และมูลค่าเงินลงทุน โดยในช่วง 9 เดือน (ม.ค. — ก.ย. 52) มีจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนผ่านบีโอไอจำนวนทั้งสิ้น 810 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 302,700 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุนของช่วง 9 เดือนในปีนี้ ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 51 แต่ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนในปีนี้เริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่กลางปี 52 และเห็นชัดเจนยิ่งขึ้นในช่วง 3 เดือนล่าสุด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนที่ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นสอดคล้องกับเครื่องชี้ด้านการลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่เริมฟื้นตัว โดยล่าสุดยอดขายเหล็กที่ปรับผลทางฤดูกาลแล้วเดือน ก.ค. 52 ขยายตัวร้อยละ 8.4 ต่อเดือน และยอดขายปูนซีเมนต์ที่ปรับผลทางฤดูกาลแล้วเดือน ก.ค. 52 ขยายตัวร้อยละ 2.9 ต่อเดือน สะท้อนว่าการลงทุนด้านก่อสร้างเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว นอกจากนี้ มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนที่ปรับผลทางฤดูกาลแล้วเดือน ก.ค. 52 ขยายตัวร้อยละ 0.8 ต่อเดือน สะท้อนว่าการลงทุนด้านเครื่องมือเครื่องจักรปรับตัวดีขึ้น
2. ราคาทองในประเทศพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์
  • สมาคมค้าทองคำประกาศราคาทองประจำวันที่ 7 ต.ค. 52 เพิ่มขึ้นกว่า 300 บาท โดยราคาทองรูปพรรณขายออกที่บาทละ 16,750 บาท และราคาทองคำแท่งขายออกที่บาทละ 16,350 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังกระแสข่าวกลุ่มประเทศอาหรับเตรียมยุติการใช้สกุลเงินดอลลาร์ในการซื้อขายน้ำมัน และธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ทรุดตัวหนัก นักลงทุนแห่เทขายลดความเสี่ยง และโยกเงินมาลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งทองคำและน้ำมันแทน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาทองคำในประเทศปรับตัวสูงขึ้นทำสถิติใหม่ตามราคาทองคำในตลาดโลกที่ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 1,045 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ เนื่องจากนักลงทุนเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐอย่างหนัก หลังได้รับปัจจัยลบจากกลุ่มประเทศอาหรับ และหันมาถือครองทองคำที่เป็นทรัพย์สินที่มีความมั่นคงที่สุดแทน นอกจากนั้น ยังได้รับปัจจัยบวกจากการที่กองทุนทองคำ SPDR ทยอยเข้าซื้อทองเพิ่มอีก 1.525 ตัน อย่างไรก็ดี ราคาทองคำในประเทศไม่ได้ปรับขึ้นรุนแรงนัก เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศค.คาดว่าราคาทองคำยังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นต่อไป และมีแนวรับแรกที่ 1,020 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์
3. ธนาคารกลางออสเตรเลียขึ้นดอกเบี้ยจากร้อยละ 3.00 เป็นร้อยละ 3.25
  • ธนาคารกลางออสเตรเลีย ได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยธนาคารอีกร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.25 ท่ามกลางสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่ดีขึ้นเป็นลำดับ การตัดสินใจดังกล่าวยังทำให้ออสเตรเลียกลายเป็นประเทศแรกในกลุ่มของประเทศพัฒนาแล้วที่กล้าตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากความเสี่ยงเรื่องการหดตัวทางเศรษฐกิจในออสเตรเลียผ่านไปแล้ว ทั้งนี้ อาร์บีเอได้ลดอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 7.25 จนเหลืออยู่ที่ร้อยละ 3.00 ในเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 49 ปี ท่ามกลางการทุ่มงบประมาณมหาศาลกว่า 7 หมื่นล้านเหรียญออสเตรเลีย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของออสเตรเลียอาจตามมาด้วยการปรับดอกเบี้ยนโยบายของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียที่เริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้แต่ละประเทศเริ่มพิจารณาที่จะปรับแนวทางนโยบายจากที่เคยมุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเดียว มาเป็นการเพิ่มนโยบายเพื่อป้องกันสภาวะเงินเฟ้อด้วย เนื่องจากสัญญาณด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจเริ่มบ่งชี้ถึงความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อ อาทิ การอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ การปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาของทุกประเทศทั่วโลกที่กระทำพร้อมๆ กันและการดำเนินการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ (Quantitative Credit Easing) โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อออสเตรเลียไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจออสเตรเลียจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 ต่อปีในปี 52 และเพิ่มเป็นร้อยละ 2.0 ต่อปี ในปี 53 (คาดการณ์ ณ ก.ย. 52)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ