นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังปรับปรุงแก้ไขระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน มีผลถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว โดยได้ปรับปรุงแก้ไขหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินจากที่ทำการปกครองจังหวัดเป็นสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งทำให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด มีวงเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน จำนวน 50 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อเกิดภัยพิบัติ เกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายของประชาชน หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินประชาชนหรือรัฐ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ที่มิใช่การชดใช้ความเสียหาย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด สามารถที่เบิกจ่ายเงินทดรองราชการเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด ดังนี้
ด้านช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยแจกจ่ายเป็นสิ่งของหรือจ่ายเป็นเงินสด เช่น
(1) ค่าอาหารจัดเลี้ยงมื้อละไม่เกิน 30 บาท/วัน/คน และช่วยเหลือเป็นถุงยังชีพชุดละไม่เกิน 500 บาท /ครอบครัว
(2) เครื่องครัวและอุปกรณ์ประกอบอาหาร เท่าที่จ่ายจริงครอบครัวละไม่เกิน 3,500 บาท
(3) เครื่องนุ่งห่ม เครื่องนอน และเครื่องใช้อื่น ๆ ที่จำเป็นแก่ชีวิตประจำวัน
(4) ที่อยู่อาศัย
- ค่าซ่อมแซม กรณีเสียหายบางส่วน หลังละไม่เกิน 20,000 บาท และกรณีเสียหายทั้งหลัง หลังละ ไม่เกิน 30,000 บาท
ด้านสังคมสงเคราะห์และฟื้นฟูผู้ประสบภัย โดยให้การช่วยเหลือเป็นเงินสงเคราะห์แก่เด็ก ผู้สูงอายุ หรือคนพิการ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น และเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษา และให้ความช่วยเหลือในการขนย้ายครอบครัวผู้ประสบภัยที่จำเป็นต้องย้ายถิ่นที่อยู่ใหม่ และจัดฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพระยะสั้นแก่ครอบครัวผู้ประสบภัย
ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ให้การรักษาพยาบาลฟรีแก่ประชาชนที่เจ็บป่วยจากภัยพิบัติ
ด้านพืช สนับสนุนพันธุ์พืช สารป้องกำจัดศัตรูพืช สารเคมีหรืออินทรียวัตถุ ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการขนย้ายปัจจัยการผลิตและผลผลิต
ด้านประมง สนับสนุนพันธุ์สัตว์น้ำ อาหารสัตว์น้ำ วัสดุ สารเคมีและยารักษาโรค ที่จำเป็น
ด้านปศุสัตว์ สนับสนุนอาหารสัตว์ วัคซีนและเวชภัณฑ์รักษาสัตว์ และค่าพันธุ์สัตว์
ด้านเกษตรอื่น ให้ช่วยเหลือเป็นค่าใช้จ่ายในการปรับเกลี่ยพื้นที่ การไถพรวน ค่าจ้างเหมารถยนต์ เพื่อใช้ในการขนย้ายสัตว์เลี้ยงที่ประสบภัย
ด้านสิ่งสาธารณประโยชน์ ซ่อมแซมสิ่งสาธารณประโยชน์ที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติในกรณีจำเป็นเร่งด่วนเพื่อให้กลับคืนสู่สภาพเดิม
โดยเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นในจังหวัด เช่น อุทกภัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถอนุมัติเงินทดรองราชการของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ไปใช้จ่ายในการช่วยเหลือภัยที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง/แต่ละเหตุการณ์ และให้มีอำนาจจัดสรรเงินดังกล่าวให้อำเภอ/กิ่งอำเภอ โดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้ผู้ว่าฯ รับผิดชอบการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในจังหวัดทั้งหมดในลักษณะที่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการได้ทันที
นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากจังหวัดโดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด มีวงเงินทดรองไว้ใช้จ่ายเมื่อเกิดภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน แล้วยังมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและมีวงเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ได้แก่ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (100 ล้านบาท) กระทรวงกลาโหม (50 ล้านบาท) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (10ล้านบาท) กระทรวงสาธารณสุข (10 ล้านบาท) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (50 ล้านบาท) กระทรวงมหาดไทย (50 ล้านบาท) และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (50 ล้านบาท) เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของตน
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 รัฐบาลได้ใช้จ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในด้านต่าง ๆ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,088,763,677.74 บาท โดยแยกเป็นอุทกภัย 6,761,591,526.63 บาท ภัยแล้ง 2,254,597,621.72 บาท ฝนทิ้งช่วง 148,617,972.70 บาท ภัยหนาว 719,639,944.00 บาท อัคคีภัย 132,336,299.85 บาท วาตภัย 391,541,718.08 บาท ภัยจากโรคระบาดด้านสัตว์ 367,595,810.26 บาท ภัยจากโรคระบาดด้านพืช 188,134,236.50 บาท ภัยผู้ก่อการร้าย 35,458,835.00 บาท ฟ้าผ่า 12,864,820.00 บาท ภัยอื่น 74,038,059.00 บาท ไฟป่า 2,008,235.00 บาท ภัยลูกเห็บ 338,599.00 บาท นายแพทย์พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ กล่าวในที่สุด
สำนักกฎหมาย กรมบัญชีกลาง
โทร. 0-2270-0300
--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 143/2552 8 ตุลาคม 52--