รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 9 ตุลาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 9, 2009 12:04 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 ต.ค. 2552

Summary:

1. ธปท. เผยพ่อค้าทองส่งทองไปขายต่างประเทศกดดันค่าเงินให้แข็งเพิ่มขึ้น

2. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย. 52 อยู่ที่ระดับ 68.4

3. ส่งออกไต้หวันเริ่มหดตัวชะลอลง

Highlight:
1. ธปท. เผยพ่อค้าทองส่งทองไปขายต่างประเทศกดดันค่าเงินให้แข็งเพิ่มขึ้น
  • ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. ได้เข้าไปดูแลค่าเงินอยู่ในขณะนี้เนื่องจากมีความเห็นว่ามีการแข็งค่าเร็วเกินไปและอาจส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทยซึ่งยังไม่เข้มแข็งมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่องมาจากหลายปัจจัย ได้แก่ เงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้มีเงินไหลเข้ามาแล้ว 6 หมื่นล้านบาท การที่ไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มอ่อนค่า รวมถึงในช่วงที่ผ่านมามีการส่งออกทองคำรายย่อยไปขายเป็นจำนวนมากจากราคาทองในตลาดโลกที่พุ่งทำสถิติสูงสุด ก็ทำให้ความต้องการเงินบาทมีมากขึ้นและส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นด้วยเช่นกัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในระยะต่อไปนั้นค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแข็งขึ้นอีก เนื่องจากทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในระยะยาวมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง จากการที่นักลงทุนเริ่มมั่นใจต่อเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ทำให้มีความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น (Risk Appetite) และความเสี่ยงเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มที่อาจจะสูงขึ้นในอนาคตจากการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบของทางการสหรัฐในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา เหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะส่งผลต่อเนื่องให้ประเทศต่าง ๆ ที่เป็นผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมีแนวโน้มที่จะขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและเปลี่ยนไปถือสินทรัพย์ในสกุลเงินอื่นมากขึ้น เนื่องจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐจะส่งผลให้กำไรจากการเปลี่ยนจากดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินท้องถิ่นลดลง การกระทำดังกล่าวก็จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอีก และทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าเพิ่มมากขึ้น
2. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย. 52 อยู่ที่ระดับ 68.4
  • ม.หอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือน ก.ย. 52 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 68.4 จากเดิม 67.4 ในเดือน ส.ค. 52 โดยได้รับปัจจัยบวกจากการที่รัฐบาลใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่ 2 ภายใต้วงเงิน1.43 ล้านล้านบาท ประกอบกับราคาน้ำมันปรับตัวลดลง จึงส่งผลทางจิตวิทยาในทางบวกต่อผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานในอนาคต
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ปรับตัวดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจไทยที่เพิ่มขึ้น โดยได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่าในระยะต่อไปดัชนีความเชื่อผู้บริโภคจะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1) ทิศทางเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกและรายได้ของประชาชน และ 2.) การประสานนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ได้แก่ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (SP2) และนโยบายขยายสินเชื่อ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วขึ้น
3. ส่งออกไต้หวันเริ่มหดตัวชะลอลง
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติไต้หวัน ประกาศตัวเลขมูลค่าการส่งออกสินค้าและนำเข้าสินค้าของไต้หวันเดือน ก.ย.52 โดยหดตัวน้อยที่สุดในรอบ 11 เดือนที่ร้อยละ -12.7 และร้อยละ -21.1ต่อปี ตามลำดับ หดตัวชะลอลงมากเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัวที่ร้อยละ -24.6 และร้อยละ -32.3 ต่อปี ตามลำดับ อนึ่ง การนำเข้าที่ยังคงหดตัวมากกว่าการส่งออก ทำให้ดุลการค้าไต้หวันเดือนส.ค. 52 ยังคงเกินดุลที่ 2.55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ภาคการส่งออกของไต้หวันเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น โดยหดตัวน้อยลงมาก จากที่เคยหดตัวถึงร้อยละ -44.1 ต่อปี ในเดือน ม.ค. 52 ได้รับอานิสงส์จากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน โดยเฉพาะการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกไปยังจีนที่กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 2.1 ต่อปี ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ หดตัวด้วยอัตราที่ชะลอลง ทั้งนี้ สินค้าส่งออกหลักของไต้หวันคือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสินค้าคงทนและอ่อนไหวต่ออุปสงค์จากภายนอกมาก การที่การส่งออกของไต้หวันหดตัวชะลอลงมากจึงเป็นสัญญาณว่า เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลบวกต่อประเทศที่มุ่งเน้นการส่งออกอื่นๆ รวมทั้งไทยด้วย อนึ่ง ไต้หวันเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 14 ของไทย มีสัดส่วนร้อยละ 1.6 ของมูลค่าการส่งออกในปี 51

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ