รายงานภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่น ประจำสัปดาห์วันที่ 5 - 9 ตุลาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 12, 2009 14:42 —กระทรวงการคลัง

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ดังนี้

1. รัฐบาลใหม่ญี่ปุ่นเตรียมออกกฎหมายพักหนี้แก่ SMEs และผู้กู้ซื้อบ้าน 3 ปี

2. แผนปรับปรุงระบบประกันบำเหน็จบำนาญของรัฐบาลใหม่

3. เดือน ก.ย.52 ทุนสำรองระหว่างประเทศของญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

4. การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ส.ค.52 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4

-----------------------------------

1. รัฐบาลใหม่เตรียมออกกฎหมายประชานิยมพักหนี้แก่ SMEs และผู้กู้ซื้อบ้าน 3 ปี

นาย Shizuka Kamei รัฐมนตรีกำกับดูแลบริการการเงิน (Financial Services) เตรียมเสนอร่างกฎหมายเพื่อพักหนี้รวมเงินต้นและดอกเบี้ยแก่ SMEs และผู้กู้ซื้อบ้านที่ได้รับความเดือนร้อนจากการตกงานเป็นเวลา 3 ปี เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของ SMEs ซึ่งมีอยู่มากกว่าร้อยละ 90 ในญี่ปุ่นโดยรัฐบาลจะใช้เงินงบประมาณค้ำประกันหนี้เสียแก่สถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม ภายหลังมีการประกาศแผนดังกล่าวได้ส่งผลให้ราคาหุ้นของธนาคารลดลงมาตลอดเป็นผลจากการเทขายหุ้นเป็นจำนวนมาก เพราะความกังวลว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีผลทำให้กำไรของธนาคารลดลงเพราะต้องรับภาระต้นทุนจากการพักหนี้ดังกล่าว นอกเหนือจากการที่ FSA ใช้กฎเกณฑ์การสำรองเงินกองทุนขั้นต่ำที่ค่อนข้างเคร่งครัด ทำให้สถาบันการเงินญี่ปุ่นต้องออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนเป็นจำนวนมาก เพื่อลดการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นปัจจุบัน ในจำนวนนี้ได้แก่ Mizuho Mitsui Financial Group, Nomura Holding และ Sumitomo Mitsui Financial Group เป็นต้น

นโยบายประชานิยมของนาย Kamei กำลังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพราะนอกจากได้ทำให้หุ้นของธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นตกลงติดต่อมาตลอดแล้ว ยังเป็นที่สงสัยว่าการพักหนี้ดังกล่าวจะแก้ปัญหาฐานะการเงินของ SMEs รวมทั้งเศรษฐกิจญี่ปุ่นโดยรวมได้หรือไม่ เพราะท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของโลก ทำให้ดีมานด์ต่อสินค้าญี่ปุ่นยังคงอ่อนแอ ประกอบกับค่าเงินเยนที่แข็งขึ้น ทำให้สินค้าญี่ปุ่นกำลังสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน นอกจากนี้ กำลังสร้างความกังวลแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงภาระทางการคลังที่รัฐบาลจะต้องเข้าไปรับภาระ เพิ่มขึ้นซึ่งปัจจุบันมีภาระหนี้สาธารณะอยู่แล้วเกือบร้อยละ 200 GDP

นาย Kamei เคยอยู่พรรค LDP สมัยนายกรัฐมนตรี Koizumi แต่ถูกไล่ออกจากพรรคเพราะคัดค้านการแปรรูปกิจการไปรษณีย์ ภายหลังได้รับตำแหน่งรัฐมนตรี กำกับดูแลบริการการเงิน ครั้งนี้คาดว่าจะสั่งทบทวนการแปรรูปกิจการไปรษณีย์ที่กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการปัจจุบัน

2. แผนปรับปรุงระบบประกันบำเหน็จบำนาญของรัฐบาลใหม่

ระบบการประกันบำเหน็จบำนาญของญี่ปุ่นมี 4 แบบได้แก่ 1) Kokumin Nenkin Pension System เป็นระบบประกันสำหรับผู้ที่ทำธุรกิจส่วนตัว (Self-employed) 2) Kosei Nenkin System เป็นระบบประกันสำหรับผู้ที่ทำงานเป็นพนักงานบริษัท และ 3) Kyosai Nenkin System เป็นระบบประกันสำหรับข้าราชการ ซึ่งปัจจุบันกำลังมีปัญหาและมีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก ได้แก่

1) เบี้ยประกันและวงเงินเอาประกันที่จะได้รับของแต่ละระบบแตกต่างกันมาก

2) ภายใต้ระบบ Kokumin Nenkin มีเพียงประมาณร้อยละ 50 ของบุคคลที่อยู่ในระบบนี้จ่ายเบี้ยประกัน ซึ่งหากจำนวนผู้ทำประกันในระบบนี้ไม่เพิ่มขึ้นต่อไป จะทำให้จำนวนเงินที่จะได้รับของผู้เอาประกันลดน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาสำคัญทางสังคมต่อไป

ทั้งนี้ รัฐบาลปัจจุบันจากพรรค DPJ ได้วางแผนที่จะปรับปรุงแก้ไขระบบการประกันของญี่ปุ่นโดยการสร้างระบบที่เท่าเทียมกัน มีหลักการว่าผู้ที่มีรายได้เท่ากันจะต้องจ่ายเบี้ยประกันเท่ากันภายใต้ระบบดังกล่าวจะประกันวงเงินขั้นต่ำให้ผู้เอาประกันได้รับเดือนละ 70,000 เยน บวกกับส่วนต่างของยอดรวมการจ่ายเบี้ยประกันของแต่ละบุคคล ซึ่งส่วนหนึ่งของเงินทุนใช้ประกันวงเงินขั้นต่ำสำหรับผู้เอาประกันจะมาจากรายได้จากการเก็บภาษีบริโภค จนกว่ารายได้จากเบี้ยประกันนั้นจะเพิ่มมากขึ้นจนทำให้สามารถลดจำนวนการใช้เงินจากรายได้ของภาษีบริโภคได้

ภายใต้ระบบประกันใหม่นี้ ลูกจ้างจะต้องจ่ายเบี้ยประกันในอัตราร้อยละ 7.5 ของรายได้และผู้ว่าจ้างจะต้องรับผิดชอบจ่ายให้ลูกจ้างในอัตราเดียวกัน ซึ่งระบบนี้มีแผนที่จะเริ่มใช้ในปี 2557 แต่พรรค DPJ ก็ยังไม่ได้แสดงความชัดเจนในส่วนของผู้ที่ทำธุรกิจส่วนตัวว่าจะต้องจ่ายเบี้ยประกันเป็นจำนวนร้อยละ 15 เองหรือไม่ (เนื่องจากเป็นทั้งผู้ว่าจ้างและลูกจ้าง) รวมทั้งไม่ได้มีการกล่าวถึงรายละเอียดแผนการขึ้นภาษีบริโภคเพื่อนำมาเป็นเงินทุนในส่วนนี้แต่อย่างใด

3. เดือน ก.ย.52 ทุนสำรองระหว่างประเทศของญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ณ 30 ก.ย.52 ทุนสำรองระหว่างประเทศของญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 1,053 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นอันดับสองรองจากจีน อยู่ในรูปแบบต่างๆ

4. ยอดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ส.ค.52 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4

กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ส.ค.52 มีจำนวน 1.17 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 2 เดือน เนื่องจากการส่งออกลดลงอย่างมาก มีการเกินดุลการค้าและบริการเพิ่มขึ้น แต่การเกินดุลรายได้ลดลง

การเกินดุลการค้ามีจำนวน 303.7 พันล้านเยน โดยยอดการส่งออกลดลงร้อยละ 37.1 มีจำนวน 4.23 ล้านล้านเยน การลดลงติดต่อกัน 11 เดือนแล้ว ขณะที่การนำเข้าลดลงร้อยละ 42.8 มีจำนวน 3.92 ล้านล้านเยน ซึ่งลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1986 เป็นต้นมา เนื่องจากราคาน้ำมันลดลงถึงร้อยละ 50 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า โดยที่การนำเข้าลดลงอย่างมากทำให้การเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 3 เดือน นอกจากนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวลงทำให้การนำเข้าเครื่องจักรลดลงด้วย

ส่วนการเกินดุลการค้าและบริการมีจำนวน 180.9 พันล้านเยน มีการขาดทุนบริการเพิ่มขึ้นนอกจากนี้ ส่วนการเกินดุลรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลจากการลงทุนต่างประเทศซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำญี่ปุ่นเกินดุลบัญชีเดินสะพัดตลอดมา ลดลงร้อยละ 24.5 มีจำนวน 1.06 ล้านล้านเยนเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของโลกต่ำ ทำให้ดอกเบี้ยและเงินปันผลจากการลงทุนต่างประเทศลดลงและค่าเงินเยนแข็งตัวขึ้นถึง 94.84 ต่อ 1 ดอลลาร์ทำให้การเกินดุลรายได้ลดลงด้วย

ดุลบัญชีทุนและการเงินขาดดุล 1.07 ล้านล้านเยน โดยลงทุนโดยตรงในต่างประเทศลดลงในขณะที่มีการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้นมากเป็น 1.61 ล้านล้านเยน เทียบกับเดือน ส.ค.ปีที่ผ่านมามีเงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศเพิ่มถึง 2.89 ล้านล้านเยนรายละเอียดปรากฎตามตารางที่แนบ

ดุลการชำระเงิน ระหว่างประเทศประจำเดือนสิงหาคม 2552

(Balance of Payments)

หน่วย: พันล้านเยน

                    รายการ                               สิงหาคม 2552        สิงหาคม 2551
1. ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account Balance)                   1,171.2           1,061.0
(เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า)                                     (10.4)           (-49.0)
 1.1 ดุลการค้าและบริการ (Goods & Services Balance)               180.9            -257.0
 (เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า)                                     (-)               (-)
  1.1.1 ดุลการค้า (Trade Balance)                               303.7            -141.2
 (เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า)                                     (-)               (-)
        การส่งออก (Exports)                                  4,226.7           6,715.4
 (เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า)                                   (-37.1)             (0.8)
        การนำเข้า (Imports)                                  3,923.0           6,856.6
 (เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า)                                   (-42.8)            (18.5)
  1.1.2 ดุลบริการ (Services Balance)                           -122.8            -115.9
 1.2 รายได้จากดอกเบี้ย/เงินปันผล (Income)                        1,060.6           1,404.6
 1.3 การโอนรายได้ (Current Transfers)                          -70.3             -86.6
2. ดุลบัญชีทุนและการเงิน (Capital & Financial Account Balance)  -1,072.0            -346.0
 2.1 ดุลบัญชีการเงิน (Financial Account Balance)               -1,022.6            -326.5
      การลงทุนโดยตรง (Direct Investment)                      -358.7            -561.2
      การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ (Portfolio Investment)          -1,601.6           2,894.5
      การลงทุนในตราสารอนุพันธ์ด้านการเงิน (Financial Derivatives)   129.3             -20.4
      การลงทุนอื่นๆ (Other investments)                          808.4          -2,639.5
 2.2 ดุลบัญชีทุน (Capital Account Balance)                        -49.4             -19.5
3. ยอดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิ (Changes in Reserve Assets)  -120.8            -320.6
ที่มา: กระทรวงการคลังญี่ปุ่น


สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ