รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 13 ตุลาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 13, 2009 11:57 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 13 ต.ค. 2552

Summary:

1. ธปท. ยันไม่คุมเงินทุนเคลื่อนย้านป้องกันเงินบาทผันผวน

2. เศรษฐกิจไทยยังเปราะบาง คาดกนง.ใช้นโยบายผ่อนปรนดอกเบี้ยต่อถึงสิ้นปี 52

3. ประเทศในภูมิภาคเอเชียกำลังประเมินความเป็นไปได้ในการขึ้นอัตราดอกเบี้ย

Highlight:
1. ธปท. ยันไม่คุมเงินทุนเคลื่อนย้ายป้องกันเงินบาทผันผวน
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค ซึ่งเป็นผลจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลง นอกจากนี้ ยังมาจากการเก็งกำไรทองคำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความผันผวนต่อค่าเงินในระยะนี้ และอีกปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่ามาจากเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้ามาลงทุนในประเทศ โดยพบว่าช่วงที่ผ่านมามีเงินเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยถึง 6.0 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น อีกทั้ง ไทยยังเกินดุลชำระเงินและดุลการค้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทต่อเหรียญสหรัฐเทียบกับช่วงต้นปีที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นร้อยละ 4.23 ต่อปี ในขณะที่เมื่อคิดเป็นดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินประเทศคู่ค้าหลัก 12 สกุลเงิน พบว่า แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.1 ต่อปี โดยค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมีสาเหตุหลักมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงกว่า 14.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 ทั้งนี้ ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอาจจะแข็งค่าขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งภาครัฐและภาคเอกชนจึงจำเป็นต้องเร่งเพิ่มลงทุน ซึ่งจะทำให้มีการนำเข้าสินค้าประเภททุนและเครื่องจักรเพิ่มขึ้น และจะช่วยลดแรงกดดันของค่าเงินบาทแข็งค่าได้
2. เศรษฐกิจไทยยังเปราะบาง คาด กนง.ใช้นโยบายผ่อนปรนดอกเบี้ยต่อถึงสิ้นปี 52
  • เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยว่า เศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะรับมือกับการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่มีเงื่อนไขทางโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่ต้องมีการลงทุนใหม่ภายในสองปีนี้ โดยสัญญาณที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ส่งออกมาว่า เศรษฐกิจไทยยังเปราะบางอยู่ ทำให้จะยังคงใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยแบบผ่อนปรนไปถึงสิ้นปี 52
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ของไทยยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ -0.1 ต่อปีในเดือน ก.ย. 2552 ซึ่งยังต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐาน (Inflation targeting) ของ ธปท. ที่ตั้งไว้ร้อยละ 0 — 3.5 ต่อปีอยู่มาก ทำให้คาดว่า ธปท. จะยังไม่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะเวลาอันใกล้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในอนาคต ทิศทางนโยบายการเงินอาจจะต้องตึงตัวขึ้นได้ ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอาจมีการปรับเพิ่มขึ้นในช่วงต้นปี 2553
3. ประเทศในภูมิภาคเอเชียกำลังประเมินความเป็นไปได้ในการขึ้นอัตราดอกเบี้ย
  • แหล่งข่าวเอเอฟพีรายงานว่า นักวิเคราะห์ต่างเชื่อว่าใกล้ถึงเวลาที่ประเทศในเอเชียกำลังจะเข้าสู่วัฎจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ทั้งนี้ ออสเตรเลียถือเป็นประเทศแรกที่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสัปดาห์ก่อนคิดเป็นร้อยละ 0.25 ขึ้นมาสู่ระดับร้อยละ 3.25 ขณะนี้ประเทศในเอเชียกำลังประเมินความเข้มแข็งเศรษฐกิจของตน รวมทั้งแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเพื่อเตรียมพร้อมในการปรับเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต โดยนักวิเคราะห์คาดว่า ประเทศไทย ไต้หวัน สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย จะเริ่มขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2553 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเกาหลีใต้และอินเดีย ต่างส่งสัญญาณว่ายังคงเร็วเกินไปที่จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในช่วงเวลานี้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณของการเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย โดยที่ธนาคารพัฒนาเอเซีย (ADB) ได้ปรับคาดการณ์ล่าสุดเศรษฐกิจของเอเชียขึ้นเป็นร้อยละ 3.9 ต่อปี ในปี 2552 จากเดิมที่คาดไว้เมื่อเดือน มี.ค. 52 ที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี และ ADB คาดการณ์เศรษฐกิจเอเชีย ขยายตัวได้ร้อยละ 6.4 ต่อปีในปี 2553 ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทำให้เกิดความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในระยะต่อไป ทำให้ธนาคารกลางอาจต้องพิจารณาดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นในอนาคต ภายใต้กรอบระยะเวลาที่เหมาะสม

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ