รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 5 - 9 ตุลาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 13, 2009 12:06 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week

ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์เดือน ก.ย. 52 หดตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ -11.5 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -13.8 ต่อปีตามการบริโภคที่เริ่มฟื้นตัวมากขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อพิจารณาในรายไตรมาสพบว่าปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในไตรมาสที่ 3 ปี 52 หดตัวที่ร้อยละ -12.9 ต่อปีจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวที่ร้อยละ -9.4 ต่อปี ตามปัจจัยฐานสูงเมื่อปีที่แล้วที่รายได้เกษตรกรขยายตัวในระดับสูงส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขยายตัวในระดับสูงตาม ทั้งนี้ คาดว่าทั้งปี 52 ปริมาณจำหน่ายรถจักยานยนต์จะหดตัวที่ร้อยละ -12.0 ต่อปี จากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 ต่อปี โดย 9 เดือนแรกปี 52 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวที่ร้อยละ -12.8 ต่อปี

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนก.ย. 52 อยู่ที่ระดับ 68.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 67.4 ถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น 4 เดือนติดต่อกัน สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจไทยที่เพิ่มขึ้น โดยได้รับปัจจัยบวกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่าในระยะต่อไปดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1.)ทิศทางเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกและรายได้ของประชาชน และ 2.) ความต่อเนื่องในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ได้แก่ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (SP2) และนโยบายขยายสินเชื่อจะส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วขึ้น

Economic Indicators: Next Week

ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนก.ย. 52 หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -10.5 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -12.6 ต่อปี และเป็นการหดตัวชะลอลงมากเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 52 ที่หดตัวที่ร้อยละ -35.8 ต่อปี ตามสัญณาณการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 52 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์จะปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (SP2) ที่จะมีการเบิกจ่ายจริงในช่วงปลายปี ซึ่งจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น และช่วยให้ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์จะปรับตัวดีขึ้นตาม

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ก.ย. 52 คาดว่าจะขยายที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปีและยางพารา เนื่องจากอยู่ในช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว ประกอบกับสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว ส่งผลให้เกษตรกรทำการเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลผลิตมันสำปะหลัง คาดว่าผลผลิตจะลดลง เนื่องจากผลผลิตออกมามากในช่วงต้นปีประกอบกับราคามันสำปะหลังที่ทรงตัวในระดับต่ำ ไม่จูงใจให้เกษตรกรทำการเก็บเกี่ยวมากนัก

อัตราการว่างงานเดือนส.ค. 52 คาดว่าจะปรับตัวลดลงที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวมลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ที่อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวม จากการที่หลายกลุ่มอุตสาหกรรมเริ่มมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการเรียกแรงงานที่ปลดออกไปให้กลับเข้าทำงานเพิ่มขึ้น และเริ่มมีการขาดแคลนแรงงาน รวมถึงคาดว่าการจ้างงานที่น่าจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นของภาคบริการในสาขาโรงแรมและภัตตาคาร เนื่องจากมาตรการจากภาครัฐที่สนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐจัดสัมมนาภายในประเทศ ส่งผลให้การจ้างงานภาคบริการสาขาโรงแรมและภัตตาคารปรับตัวดีขึ้น

Foreign Exchange Review

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆแทบทุกสกุล

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าตามความต้องการที่จะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง (Risky assets) ที่ยังคงมีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการลงทุนในสกุลเงินและตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลียและในภูมิภาคตามความเชื่อมั่นของตลาดต่อภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในสัปดาห์นี้ ปัจจัยที่สนับสนุนความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนในตลาดได้แก่ (1) ตัวเลขการว่างงานเบื้องต้น (Initial Jobless claims) ของสหรัฐที่ระกาศออกมาอยู๋ที่ 521,000 ตำแหน่งซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 540,000 ตำแหน่ง (2) ตัวเลขดัชนีนอกภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐ (ISM Non-Manufacturing) ประจำเดือนก.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50.9 จุด ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงกว่าระดับ 50 จุดเป็นครั้งแรกในรอบปี (3) การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจออสเตรเลียซึ่งบ่งชี้ได้จากตำแหน่งการจ้างงานประจำเดือน ส.ค. ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบเกือบ 2 ปีที่ 40,600 ตำแหน่งในขณะที่ตลาดคาดว่าจะปรับตัดลดลง 10,000 ตำแหน่งประกอบกับการที่ธนาคารกลางออสเตรเลียได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 25 Bps นั้นเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดเช่นกัน ทั้งนี้ ปัจจัยความเชื่อมั่นดังกล่าวได้ส่งผลให้ตลาดนำ เงินออกจากสินทรัพย์ที่ปลอดภัยในสกุลดอลลาร์สหรัฐ (Safe haven) ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงแต่ให้ผลตอบแทนมากกว่า

ด้านค่าเงินยูโรในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นตามแรงความต้องการที่จะลงทุนในสินทรัพย์รูปสกุลยูโรประกอบกับค่าเงินยูโรได้รับผลกระทบจากเข้าซื้อเงินยูโรก่อนการประกาศอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งตลาดคาดว่าจะคงไว้ที่ร้อยละ 1.00 ต่อปีซึ่งธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ออกมาประกาศคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับร้อยละ 1.00 ต่อปีและไม่ได้กล่าวถึงแผนที่จะถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งทำให้นักลงทุนคลายความกังวลและไม่ได้เทขายเงินสกลุลยูโร ในขณะเดียวกัน เงินปอนด์สเตอลิงค์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากการเข้าซื้อเงินปอนด์ก่อนที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปีเช่นกัน

ด้านค่าเงินเอเชียในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นมากแทบทุกสกุลตามความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงนำโดยค่าเงินริงกิตมาเลเซียซึ่งแข็งค่าขึ้นมากที่สุดในรอบ 13 เดือนหลังจากที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซียว่าเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 จะหดตัวลดลงจากไตรมาสที่ 2 ในขณะเดียวกัน ค่าเงินรูเปียห์แข็งค่า ขึ้นจากการที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 6.50 ต่อปี

ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นที่ร้อยละ 0.63 นับจากช่วงสัปดาห์ก่อนขณะที่แข็งค่าขึ้นร้อยละ 2.04 เมื่อเทียบกับต้นเดือน ก.ย. และยังคงแข็งค่ากว่าเงินสกุลภูมิภาคอื่น ๆ ยกเว้นรูเปียห์อินโดนิเซียและวอนเกาหลีนับจากต้นปี

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นสูงสุดเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในรอบ 14 เดือน โดยแตะระดับ 33.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยการเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินภูมิภาคสกุลอื่นๆ โดยหากพิจารณาเปรียบเทียบกับต้นเดือนกันยายนค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในอัตราที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับค่าเงินภูมิภาคอื่นๆ ยกเว้นค่าเงินหยวนและดอลลาร์สิงคโปร์หากพิจารณาจากดัชนีค่าเงินบาท (NEER) พบว่าปรับตัวลดลงจากระดับในสัปดาห์ก่อนที่อยู่ที่ 1.39 มาอยู่ที่ 1.09 ในสัปดาห์นี้ โดยการแข็งค่าของค่าเงินบาทยังคงได้รับแรงกดดันจากการเกินดุลการค้าจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นและราคาทองคำที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นส่งผลให้การส่งออกทองคำมากขึ้นและมีการแปลงรายได้ที่ได้รับจากการค้าทองในรูปดอลลาร์มาเป็นบาทในขณะที่แรงเงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ยังคงมีมากอย่างต่อเนื่องโดยในสัปดาห์ที่ผ่านมามีมูลค่ารวมสุทธิถึงประมาณ 4,800 ล้านบาท

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 12 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐปอนด์สเตอร์ลิงค์ ยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลีดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 9 ต.ค. 52 แข็งค่าขึ้นจากค่าเงิน ณ วันที่ 1 ม.ค. 52 ที่ร้อยละ 1.09 แต่อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 1.39

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับ หยวน (ร้อยละ 4.3) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 4.3) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 4.2) เปโซเงินริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 2.3) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 2.3) เยน (ร้อยละ 2.1) ฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 2.0) ดอลลาร์สิงคโปร์(ร้อยละ 0.8) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับ รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ -9.4) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ -5.2) วอนเกาหลี (ร้อยละ -3.8) และยูโร (ร้อยละ -1.3) ตามลำดับ

Foreign Exchange and Reserves

ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 2 ต.ค.52 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) เพิ่มขึ้นสุทธิ 0.50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 146.98 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลดลงของ Gross Reserve จำนวน -0.93 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการเพิ่มขึ้นของ Forward Obligation จำนวน 1.43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เข้าดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทในตลาด FWD เพื่อดูแลเสถียรภาพค่าเงินในสภาวะที่มีเงินทุนไหลเข้า โดยเมื่อพิจารณาเงินลงทุนจากต่างชาติเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า มีการเข้าซื้อสุทธิต่อเนื่องที่ 0.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม การเข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินของธปท.ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ยังคงมีน้อยกว่าความต้องการขายเงินดอลลาร์สหรัฐของผู้ส่งออกและเงินทุนที่ไหลเข้าในตลาดหลักทรัพย์ จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมา (25 ก.ย.52) แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าจาก 33.59 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 33.47 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในสัปดาห์นี้

Major Trading Partners’ Economies: This Week

ตัวเลขตำ แหน่งงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ เดือนก.ย.52 ลดลง263,000 ตำแหน่ง เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ลดลง 201,000 ตำแหน่ง(ตัวเลขปรับปรุง) โดยตำ แหน่งงานในภาคบริการลดลงถึง 147,000 ตำแหน่ง ถึงแม้ว่าภาคบริการเริ่มจะมีสัญญาณฟื้นตัวบ้างแล้วก็ตาม ทำให้อัตราการว่างงานปรับสูงขึ้นที่ร้อยละ 9.8 สูงสุดในรอบ 26 ปี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากแรงงานที่เคยออกจากตลาดแรงงานไปแล้วเริ่มกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกครั้งในเดือนนี้ จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีการจัดซื้อภาคบริการสหรัฐฯ (ISM Non-Mfg PMI) เดือนก.ย.52 อยู่ที่ระดับ 50.9 ซึ่งเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนต.ค.51ที่ดัชนีนี้มีระดับสูงเกิน 50 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 48.4 บ่งชี้ว่าภาคบริการสหรัฐฯเริ่มกลับมาขยายตัวอีกครั้ง

ดัชนีการจัดซื้อภาคบริการ (Markit Service PMI) ของกลุ่มประเทศยูโรโซนเดือน ก.ย. 52 อยู่ที่ระดับ 50.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 49.9 จากการฟื้นตัวในภาคธนาคารและโรงแรม ทั้งนี้ ดัชนีดังกล่าวได้ผ่านระดับ 50 สะท้อนว่าภาคบริการกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 16 เดือน

ยูโรโซนประกาศปรับปรุงตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ปี 52 เป็นหดตัวที่ร้อยละ -4.8 ต่อปี และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหดตัวร้อยละ-0.2 (%qoq) หดตัวเพิ่มขึ้นจากตัวเลขที่ได้แถลงไว้ก่อนหน้า เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกหดตัวมากกว่าที่แถลงไว้เดิม ทั้งนี้ ฝรั่งเศสและเยอรมันที่เป็นเศรษฐกิจหลักของยูโรโซน มีอัตราการขยายตัวของ GDP ไตรมาส 2 ปี 52 ที่ร้อยละ -2.8 ต่อปี (0.3% qoq) และ -5.9 ต่อปี(0.3%qoq) ตามลำดับ

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Mfg. PMI) ของสิงคโปร์เดือนก.ย. 52 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50.6 จาก 54.4 ในเดือนก่อนหน้า ผลจากการชะลอตัวของอุปสงค์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ อย่างไรก็ตาม ดัชนีที่ยังอยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ถึงการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรม

GDP เวียดนามไตรมาส 3 ของปี 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.2 ต่อปี เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ที่ขยายตัวร้อยละ 4.4 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวที่เร่งขึ้นของภาคการผลิตสาขาหลักทั้งสาขาเกษตร และสาขาการบริการ โดยขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 4.0 และร้อยละ 6.6 ต่อปี ตามลำดับ เนื่องจากมาตรการของภาครัฐที่ออกมาในช่วงต้นปี 52 ทั้งนี้ 9 เดือนแรกปี 52 เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวที่ร้อยละ 4.6 ต่อปี

มูลค่าการส่งออกสินค้าของเวียดนาม เดือนก.ย.52 หดตัวชะลอลงเล็กน้อยติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 ที่ร้อยละ -11.3 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -24.8 ต่อปี โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นในหมวดสินค้าหลักโดยเฉพาะสิ่งทอ และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ที่ขยายตัวร้อยละ 3.6 และร้อยละ 1.9 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่การนำเข้าสินค้าเดือนก.ย.52 ขยายตัวร้อยละ 12.5 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.8 ต่อปี ทำให้ดุลการค้าเวียดนามเดือนก.ย. 52 ขาดดุลที่ -1.52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

มูลค่าการส่งออกสินค้าและนำเข้าสินค้าของไต้หวัน เดือนก.ย.52 หดตัวต่อน้อยที่สุดในรอบ 11 เดือนที่ร้อยละ -12.7 และร้อยละ -21.1 ต่อปี ตามลำดับ หดตัวชะลอลงมากเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัวที่ร้อยละ-24.6 และร้อยละ -32.3 ต่อปี ตามลำดับ โดยในแง่มิติสินค้า การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลัก หดตัวเพียงร้อยละ -3.7 ต่อปีจากร้อยละ -13.4 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ในแง่มิติคู่ค้า การส่งออกไปยังจีน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ ขยายตัวที่ร้อยละ 2.1 ต่อปี ในขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐฯยังคงหดตัวมากที่ร้อยละ -28.2 ต่อปี อนึ่ง ดุลการค้าไต้หวันเดือนส.ค. 52 ยังคงเกินดุลที่ 2.55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

มูลค่าการส่งออกสินค้าของมาเลเซีย เดือนส.ค. 52 หดตัวร้อยละ-19.8 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -22.8 ต่อปี โดยในแง่มิติสินค้า การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นสินค้าหลักหดตัวร้อยละ -13.1 ต่อปีส่วนในแง่มิติคู่ค้า ซึ่งได้แก่ อาเซียน และสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -24.4 และ-26.7 ต่อปี ตามลำดับ ส่วนจีนขยายตัวร้อยละ 0.9 ต่อปี ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนส.ค. 52 หดตัวร้อยละ -18.6 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -16.0 ต่อปี และดุลการค้าเกินดุล 9.6 พันล้านริงกิต

ธนาคารกลางออสเตรเลียได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 3.00 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.25 เนื่องจากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเริ่มปรับตัวสูงขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ