Macro Morning Focus ประจำวันที่ 14 ต.ค. 2552
1. ครม. อนุมัติกรอบวงเงินลงทุนไทยเข้มแข็งเพิ่มอีก 230,000 ล้านบาท
2. ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ (ไทย) คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 52 จะหดตัวร้อยละ 3.5
3. ตัวเลขจีดีพีเบื้องต้นของประเทศสิงคโปร์ในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 0.8 ต่อปี
- คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกรอบเงินลงทุนในโครงการไทยเข้มแข็ง 2555 เพิ่มอีก 227,000 ล้านบาท จากเดิมที่อนุมัติไว้ 1.06 ล้านล้านบาท และเห็นชอบให้กระทรวงการคลังนำเงินจาก พ.ร.ก. กู้เงิน 400,000 ล้านบาท มาใช้ในโครงการลงทุนไทยเข้มแข็ง 350,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 50,000 ล้านบาท จะส่งสมทบเข้ากระทรวงการคลัง และในสัปดาห์หน้าจะ พิจารณาจัดสรรเงินลงทุนให้โครงการต่าง ๆ จำนวน 150,000 ล้านบาท เช่น โครงการประกันราคาสินค้าเกษตร 41,000 ล้านบาท โครงการบ้านมั่นคงวงเงิน 6,000 ล้านบาท สมทบให้กองทุนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง 19,000 ล้านบาท และสมทบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 30,000 ล้านบาท เป็นต้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง (SP2) มีความจำเป็นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมากในขณะที่ภาคการส่งออกยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งจะเป็นส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปี 2553 กลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.5 — 4.1 ต่อปี) และการลงทุนภาครัฐจะเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 8.2 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.2 — 11.3 ต่อปี) ขณะที่การบริโภคภาครัฐในปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.8 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 — 5.7 ต่อปี)
- นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ (ไทย) กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยว่า คาดว่าการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างช้าๆ มากกว่าจะฟื้นตัวในลักษณะรูปตัว V โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในปี 2552 จะหดตัว 3.5% และจะพลิกกลับมาขยายตัวราว 2.8% ในปี 2553 จากนั้นในปี 2554 จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง 4.5% โดยมองว่าแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นต้องระมัดระวัง 3 ปัจจัย คือ เสถียรภาพการเมืองที่ยังไม่นิ่งเพราะจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนทำให้ไม่ฟื้นตัวเร็วตามที่คาดการณ์ไว้ และส่งผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชนจะยังไม่ขยายตัวดีขึ้น ขณะที่กำลังการผลิตส่วนเกินภายในประเทศยังมีอยู่มาก โดยภาคอุตสาหกรรมหลัก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยังมีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำมากเพียง 60% ของกำลังการผลิตทั้งหมดซึ่งการจะกลับมาเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของการส่งออกเป็นไปได้ยาก ในขณะที่วัฎจักรของการลงทุนใหม่ต้องใช้เวลาฟื้นตัวและการลงทุนใหม่เพื่อขยายกำลังการผลิตในอนาคตอันใกล้ยังเป็นไปได้ยากเช่นกัน
- สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2552 จะหดตัวร้อยละ -3.0 ต่อปี โดยจะสามารถเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลังและกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในไตรมาสสุดท้ายเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการใช้จ่ายของภาครัฐโดยเฉพาะรายจ่ายเพื่อการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง และการปรับตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจคู่ค้าโดยเฉพาะประเทศในเอเชีย ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุนที่ยังฟื้นตัวช้า
- ทางการสิงคโปร์ประกาศตัวเลขเบื้องต้นของจีดีพีในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี จากไตรมาส 2 ที่หดตัวร้อยละ -3.2 ต่อปี และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าจะขยายตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 14.9 จากร้อยละ 22.0 ในไตรมาสที่ 2
- สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจสิงคโปร์มีแนวโน้มที่จะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีอย่างรวดเร็วนั้น เป็นผลมาจากภาคการส่งออกของประเทศโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนั้น มาตรการภาคการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางสิงคโปร์มีส่วนอย่างมากสำหรับภาคผู้ผลิตให้สามารถปรับเพิ่มศักยภาพในการผลิตได้ตามอุปสงค์นอกที่ขยายตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคโดยเฉพาะจีน โดยที่ผ่านมาทางธนาคารกลางสิงคโปร์ได้ทำการแทรกแซงค่าเงินสิงคโปร์ให้อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยภาคส่งออกของประเทศ
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th