บทบาทของสหรัฐฯ ในการปฏิรูประเบียบการเงินระหว่างประเทศ และความเชื่อมโยงกับคณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 14, 2009 16:08 —กระทรวงการคลัง

คณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน

คณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน หรือ Financial Stability Board (FSB) เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2552 โดยขยายกรอบการดำเนินงานเดิมของสภาเสถียรภาพทางการเงิน หรือ Financial Stability Forum (FSF) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2542 ภายหลังเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจในเอเชีย ด้วยความร่วมมือของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานธนาคารกลาง องค์กรผู้กำกับดูแลภาคการเงิน และองค์กรผู้จัดทำระเบียบการเงินของประเทศสมาชิกในกลุ่ม G-7 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการกำกับดูแลภาคการเงิน โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับภาวะเศรษฐกิจมหภาคมากนัก แต่จะมุ่งเน้นที่การพัฒนาและจัดทำระเบียบการกำกับดูแลภาคการเงินเป็นหลักเพื่อขจัดปัจจัยความเปราะบางต่าง ๆ และสร้างความแข็งแกร่งในเสถียรภาพทางการเงิน

FSF ได้ทำการวิเคราะห์ถึงจุดอ่อนในตลาดการเงินโลกและสาเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจที่เริ่มขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2551 รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งนับเป็นก้าวแรกในการปฏิรูประเบียบการเงิน อันได้แก่ (1) เพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลระดับเงินทุน สภาพคล่องและการบริหารจัดการความเสี่ยง (2) ส่งเสริมความโปร่งใสและให้มีการประเมินผลการดำเนินงานของสถาบันการเงิน (3) ปฏิรูปบทบาทและการใช้ประโยชน์ของการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (4) เพิ่มอำนาจแก่องค์กรผู้กำกับดูแลภาคการเงินให้สามารถรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที และ (5) ดำเนินมาตรการรับมือกับปัญหาความตึงตัวในตลาดการเงินอย่างเร่งด่วน

อนึ่ง ประเทศในกลุ่ม G-20 ทั้งหมดได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ FSB เมื่อเดือนเมษายน 2552 จึงนับเป็นการขยายกรอบความร่วมมือให้ประเทศต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันมากขึ้น

บทบาทและโครงสร้างของคณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน

FSB นับเป็นกลุ่มทำงานที่จัดตั้งขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรผู้จัดทำนโยบายและระเบียบการเงินของประเทศสมาชิก เพื่อส่งเสริมความสอดคล้องของนโยบายและระเบียบการเงินทั่วโลก นอกจากนั้น FSB จะติดตามตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางของผู้นำกลุ่ม G-20

ทั้งนี้ โครงสร้างการดำเนินงานของ FSB ประกอบไปด้วย

1. ที่ประชุมเต็มคณะ (Plenary) เป็นการประชุมร่วมกันของตัวแทนจากธนาคารกลาง กระทรวงการคลัง องค์กรภาครัฐที่มีอำนาจกำกับดูแลและจัดทำระเบียบการเงินของประเทศสมาชิก โดยสัดส่วนที่นั่งจะเป็นไปตามขนาดเศรษฐกิจและกิจกรรมในตลาดเงิน นอกจากนี้ จะมีตัวแทนระดับสูงจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements: BIS) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) ทั้งนี้ การประชุมเต็มคณะจะมีขึ้นอย่างน้อยปีละสองครั้ง

2. คณะกรรมการติดตามดูแลการดำเนินงาน (Steering Committee) เป็นผู้นำเสนอแนวทางเพื่อผลักดันทิศทางการดำเนินงานของ FSB ระหว่างการประชุมเต็มรูปแบบ รวมทั้งติดตามดูแลความคืบหน้าในการดำเนินนโยบาย และการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศตามแนวทางที่ผู้นำกลุ่ม G-20 กำหนด

3. คณะกรรมาธิการ FSB (Standing Committees) ทั้งหมด 3 ชุด มีหน้าที่ในการ (1) ประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤติการเงินโลก (2) พัฒนากลไกการประเมินระหว่างกัน (PeerReview) ในการบังคับใช้ระเบียบการเงินของประเทศสมาชิกและ (3) พัฒนาแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศในการกำกับดูแลและการจัดทำระเบียบ ตามลำดับ

4. สำนักเลขาธิการ (Secretariat) เป็นผู้ติดต่อประสานงานระหว่างประเทศสมาชิกโดยมีสำนักงานอยู่ที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ณ เมืองบาเซลประเทศสวิสเซอร์แลนด์

5. ประธาน (Chair) เป็นตัวแทนและผู้แถลงการณ์ที่เกี่ยวข้องการดำเนินงานของFSB เป็นตำแหน่งที่จะได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมเต็มคณะ โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี ทั้งนี้ นายมาริโอ ดรากิ (Mario Draghi) ประธานธนาคารกลางอิตาลีเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธาน FSB คนปัจจุบัน

อนึ่ง ประเด็นเรื่องบทบาทหน้าที่ของ FSB เป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสนใจในระหว่างการประชุม Pittsburgh Summit โดยได้ตั้งข้อสังเกตในเรื่องกระบวนการนำข้อเสนอแนะด้านการปรับปรุงกฎระเบียบทางการเงินระหว่างประเทศของ FSB ให้มีผลบังคับใช้ เนื่องจากยังขาดความชัดเจน

บทบาทของสหรัฐฯ ในการปฏิรูประเบียบการเงินระหว่างประเทศ

ทางการสหรัฐฯ ได้ปฏิรูปแนวทางการกำกับดูแลภาคการเงินให้เข้มงวดขึ้นและสอดคล้องกับแนวทางของ FSB ซึ่งนับเป็นการร่วมมือระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลของประเทศอื่น ๆ ผ่านการดำเนินงานของ FSB โดยเฉพาะในส่วนของคณะกรรมการติดตามดูแลการดำเนินงานและที่ประชุมเต็มคณะ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ นับเป็นองค์กรผู้นำในการจัดตั้ง FSB และสนับสนุนให้ขยายการกำกับดูแลให้ครอบคลุมประเทศในกลุ่ม G-20 ทั้งหมด ตลอดจนจัดให้มีการหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง FSB องค์กรผู้จัดทำระเบียบการเงิน และองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ทุกสัปดาห์ เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินการเป็นไปตามแนวทางของผู้นำกลุ่มG-20 ตลอดจนส่งเสริมความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยเน้นที่การประชุมนานาชาติ (International Dialogue) และข้อตกลงระหว่างประเทศ เพื่อกระตุ้นให้ทุกประเทศ ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองระบบการเงินการธนาคารเป็นหลัก

นอกจากนั้น กระทรวงการคลังสหรัฐฯ กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาด้านระเบียบการเงินและการพัฒนาความร่วมมือในระดับทวิภาคีกับกลุ่มสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน อินเดีย และกลุ่มประเทศสมาชิก NAFTA อีกด้วย

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ