รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 19 ตุลาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 19, 2009 10:56 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 ต.ค. 2552

Summary:

1. ทีดีอาร์ไอชี้วิกฤติรอบนี้หนักกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง

2. นักวิชาการ ห่วงนโยบายประชานิยมทำหนี้สาธารณะพุ่ง

3. ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พุ่งทะลุหมื่นจุดรับข่าวดีผลการประกอบการบริษัทชั้นนำ

Highlight:
1. ทีดีอาร์ไอชี้วิกฤติรอบนี้หนักกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง
  • สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าผลกระทบจากวิกฤติซับไพร์มแก้ไขยากกว่าวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 เนื่องจากการส่งออกหดตัวลงมาก และไทยพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในอดีตพบว่ามีการขยายตัวถึงร้อยละ 4.5 ต่อปี แต่ปรากฎว่ารายได้เกษตรกรยังคงติดลบ ซึ่งการใช้มาตรการการคลังของรัฐบาลยังไม่ประสบความสำเร็จเพราะยังไม่สามารถกระตุ้นให้ภาคเอกชนกลับมาลงทุนได้ และอาจส่งผลให้ยอดหนี้สาธารณะปรับสูงขึ้นอีกจากปัจจุบันอยู่ที่ระดับร้อยละ 45.35 ต่อ GDP
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวขึ้น ซึ่งสะท้อนได้จากการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งวัดจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนก.ย.52 ที่หดตัวในอัตราที่ชะลอลงร้อยละ -9.6 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -15.2 ต่อปี สะท้อนถึงการบริโภคที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ การลงทุนในโครงการไทยเข้มแข็ง2555 หรือ SP2 สศค. คาดว่าจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยและทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 53 ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี และทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวในระยะยาวตามศักยาภาพที่ร้อยละ 5.0-5.5 ต่อปี
2. นักวิชาการ ห่วงนโยบายประชานิยมทำหนี้สาธารณะพุ่ง
  • คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งนี้มีความยาวประมาณ 4-5 ปี ซึ่งขณะนี้ผ่านมาเพียงครึ่งทาง ดังนั้น คงต้องใช้เวลาอีกระยะเศรษฐกิจจึงจะฟื้นตัวสู่ภาวะปกติ ซึ่ง คาดว่าในปี 2553 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 1-2 ต่อปี
  • อย่างไรก็ตาม หากมองภาพในระยะยาว 4-5 ปี จะต้องหาตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ที่จะมาทดแทนมาตรการทางการคลังของรัฐบาลที่กำลังมีข้อจำกัด เพราะหนี้สาธารณะสูงขึ้น ส่วนภาคเอกชน คาดว่าหลังจากปี 2554 กำลังการผลิตของภาคเอกชนจึงจะกลับมาเป็นปกติ เพราะเอกชนจะเริ่มการลงทุนก็เมื่อมีความมั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจ และต้องระวังสถานการณ์ราคาน้ำมันที่คาดว่าอาจจะปรับตัวสูงขึ้นอีก หากภาวะเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลโดยเฉพาะโครงการไทยเข้มแข็งจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าในปี 2555 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 58-59 และจะค่อยลดลง จนกระทั่งประมาณปี 2559 อัตราส่วนนี้จะลดต่ำลงกว่าร้อยละ 50 ซึ่งจะไม่กระทบกระเทือนต่อเสถียรภาพฐานะการคลัง นอกจากนี้ การลงทุนนี้จะเกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจไทยต่อไป
3. ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พุ่งทะลุหมื่นจุดรับข่าวดีผลการประกอบการบริษัทชั้นนำ
  • ดัชนีดาวโจนท์ ( Dow Jones index) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวอย่างรุนแรง เมื่อวันพุธที่ 15 ตุลาคม 52 โดยได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าหมื่นจุดเป็นครั้งแรกในรอบปี หลังจากได้รับแรงกระตุ้นจากผลประกอบการของบริษัทชั้นนำ โดยเฉพาะบริษัท อิลเทล ที่ยอดขายในไตรมาส 3 ดีขึ้นกว่าที่คาดเอาไว้ ส่วน เจ.พี. มอร์แกน เชส ทำกำไรได้เหนือความคาดหมายเช่นเดียวกัน ปัจจัยบวกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯส่งผลให้ตลาดหุ้นในเอเซียปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย โดยดัชนีนิกเกอิ (Nikkei index) ของญี่ปุ่นพุ่งขึ้นถึง 134.70 จุด หรือร้อยละ 1.34 อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นของสหรัฐฯยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าจุดสูงสุดที่เคยทำไว้ โดยมีสาเหตุมาจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับตัวดีขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ สะท้อนถึงสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยในไตรมาส 2 ปี 52 เหตุผลหลักมาจากปริมาณการลงทุนในสินค้าคงคลังและทรัพย์สินถาวร (Fixed Investment) ของภาคธุรกิจชะลอตัวด้วยอัตราที่ลดลง สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของผลกำไรการประกอบการที่ร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐฯในไตรมาสที่ 2 ของปี 52 หดตัวด้วยอัตราที่ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ -0.7 ต่อปี อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานในสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูง ที่ร้อยละ 9.8 ในเดือนกันยายน ส่วนด้านความเสี่ยง การอ่อนค่าของดอลลาห์สหรัฐและการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันอีกครั้ง อยู่ที่ 75.96 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มีแนวโน้มที่จะผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น เป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐในอนาคต

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ