บทสรุปผู้บริหาร: บทวิเคราะห์เรื่อง Global Macroeconomic Report: ทิศทางเศรษฐกิจโลกและความเสี่ยงในระยะต่อไป

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 19, 2009 11:59 —กระทรวงการคลัง

บทสรุปผู้บริหาร

หลังเกิดวิกฤตการเงินสหรัฐฯที่เริ่มลุกลามในกลางเดือนกันยายน 2007 เป็นต้นมาและนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจโลกนั้น ส่งผลให้รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างพร้อมเพรียงกัน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการคลังแบบผ่อนคลาย (Expansionary Fiscal Policy) ผ่านมาตรการกระตุ้นบริโภคระยะสั้น เช่น การแจกจ่ายเช็คให้กับประชาชน และมาตรการลงทุนระยะยาวในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ (Infrastructure Investment) มาตรการการเงินแบบผ่อนคลาย (Expansionary Monetary Policy) ผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มาตรการเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินต่าง ๆ และมาตรการสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับภาคการผลิตและกระตุ้นภาคการบริโภคเอกชน ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวก็เพื่อเป็นการบรรเทา และจำกัดวงวิกฤตดังกล่าว รวมถึงทำให้เศรษฐกิจโลกกลับสู่สภาวะปรกติโดยเร็วที่สุด

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวส่งผลให้เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทย ไม่ว่าจะเป็น จีน สหรัฐฯ ยุโรป เอเชียตะวันออก และญี่ปุ่น ได้ส่งสัญญาณผ่านพ้นจุดต่ำสุดของวิกฤตเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้แล้ว

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับความเสี่ยงที่อาจจะชะลอตัวลงอีกครั้งได้ หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ หมดลงในระยะต่อไป ในขณะที่ระดับหนี้สาธารณะ (Public Debt) ของหลาย ๆ ประเทศเริ่มปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากการทำมาตรการการคลังแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลให้มี ข้อจำกัดทางการคลังมากขึ้นและทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไปเป็นไปได้ยากขึ้น

นอกจากนั้น ความเสี่ยงในระยะต่อไปหลังเศรษฐกิจโลกเริ่มพลิกฟื้นนั้น คืออัตราเงินเฟ้อที่อาจจะปรับตัวสูงขึ้นจากการที่ทางการของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้ทำการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการทำนโยบายการคลังแบบขยายตัว (Expansionary Fiscal Policy) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ซึ่งรวมถึงอัดฉีดสภาพคล่อง(Quantitative Easing) ซึ่งเป็นไปได้ว่าสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นนั้นอาจเกินกว่าระดับที่เหมาะสม ซึ่งอาจนำไปสู่การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นได้ในระยะต่อไป

1. บทนำ

หลังจากการล้มละลายของวาณิชธนกิจ Lehman Brothers ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2551 ซึ่งนำมาสู่ความตื่นตระหนกและความผันผวนในตลาดการเงินโลก และลุกลามสู่ภาคเศรษฐกิจจริงต่อเนื่องเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่นั้น ส่งผลให้ทางการของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกันอย่างพร้อมเพรียง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านการคลัง เช่น การเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนผ่านการแจกจ่ายเช็ค และการอัดฉีดสภาพคล่องให้กับระบบการเงินการธนาคารเป็นจำนวนมหาศาล ในขณะที่ ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้ออกมาตรการการเงินโดยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเพิ่มสภาพคล่องในระบบธนาคารด้วยเช่นกัน ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวก็เพื่อบรรเทา และจำกัดวงวิกฤตดังกล่าวรวมถึงทำให้เศรษฐกิจโลกกลับสู่สภาวะปรกติโดยเร็วที่สุด

ถึงแม้ว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทยจะไม่ได้เป็นต้นเหตุของปัญหาเหมือนวิกฤติการเงินในปี 2540 แต่เศรษฐกิจโลกที่หดตัวลงอย่างรุนแรงส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียที่มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิด (Open economy) และต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก (Export-oriented)

ดังนั้น สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จึงศึกษา วิเคราะห์ และติดตามภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทยหลังได้รับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ผ่านข้อมูลเชิงสถิติ เพื่อเป็นประโยชน์กับทางการประเทศไทยในการออกนโยบายต่าง ๆ ในการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ได้อย่างมีประสิทภาพและทันท่วงที โดยแบ่งการวิเคราะห์ตามประเทศคู่ค้าขนาดใหญ่ของไทย โดยแบ่งตามสัดส่วนการส่งออกของไทย อันได้แก่ ยุโรป (ในที่นี้หมายถึงกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร 15 ประเทศ หรือ Euro Zone) สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก ดังมีรายละเอียดดังนี้

2. กลุ่มประเทศยุโรป
2.1 ภาพรวมเศรษฐกิจยุโรปในปัจจุบัน

สภาพเศรษฐกิจยุโรปในปัจจุบันน่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดของวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้แล้ว สะท้อนได้จาก GDP ของเศรษฐกิจยุโรป (Euro Zone) ในไตรมาสที่ 2 หดตัวที่ร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หดตัวลดลงอย่างมากจากไตรมาสแรกที่หดตัวร้อยละ -2.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งสาเหตุหลักของการหดตัวน้อยลงเกิดจากการที่เศรษฐกิจเยอรมนีและฝรั่งเศส ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 และ 2 ในเศรษฐกิจยุโรปตามลำดับ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ขยายตัวสูงกว่าที่ตลาดคาดที่ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Q-o-Q) จากไตรมาสก่อนที่หดตัวที่ร้อยละ -3.5 และ -1.3 ต่อปีตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

ขณะที่เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของเศรษฐกิจยุโรปพบว่าเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นมาจากการขยายตัวของภาคการส่งออกที่ทำให้ GDP ในไตรมาส 2 (Contribution to GDP Growth) ขยายตัวร้อยละ 0.3 ต่อปี และการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 ต่อปี

ทั้งนี้ในส่วนของภาคการส่งออกที่ขยายตัว น่าจะมาจากความต้องการตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอันเป็นผลจากการที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลต่าง ๆ โดยเฉพาะรัฐบาลจีนที่เป็นปัจจัยบวก (Positive Externality) นำไปสู่การส่งออกสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้น เห็นได้จากตัวเลขการส่งออกจากยุโรปไปยังจีนที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 ในครึ่งปีแรกของปี 2552

นอกจากนั้น การส่งออกสินค้าทุนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นนั้นทำให้ภาคการผลิตเริ่มพลิกฟื้นขึ้น เห็นได้จากดัชนีชี้วัดภาคการผลิตต่าง ๆ ล่าสุดที่เริ่มมีสัญญาณพื้นตัว เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) เดือนกรกฎาคมอยู่ที่ระดับ 48.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 46.3 และเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2551

นอกจากปัจจัยการส่งออกที่ขยายตัวขึ้นแล้ว สศค. คาดว่าสาเหตุหนึ่งที่ภาคการผลิตขยายตัวดีขึ้นน่าจะเป็นเพราะผู้ประกอบการระบายสินค้าคงคลังออกไป (Destock) เป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็วในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ในขณะที่สัญญาณเศรษฐกิจและคำสั่งซื้อที่ปรับตัวดีขึ้นทำให้ผู้ผลิตเริ่มผลิตเพื่อสะสมสินค้าคงคลังอีกครั้ง (Restock) ซึ่งเป็นผลทำให้ดัชนีชี้วัดภาคการผลิตต่าง ๆ เริ่มพลิกฟื้นอีกครั้ง โดยเฉพาะในเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าทุนเพื่อส่งออกเป็นหลัก เห็นได้จากผลผลิต ภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing Output) และ ยอดสั่งซื้อใหม่ (New Orders) ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากหดตัวลงมากในช่วงที่ผ่านมา

ในขณะเดียวกันภาคการบริโภคเอกชนก็ส่งสัญญาณการฟื้นตัวด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาเป็นรายประเทศพบว่ามีความแตกต่างกันในเรื่องของอัตราการเจริญเติบโตของการบริโภคภาคเอกชน โดยการบริโภคเอกชนของสเปนและอิตาลีซึ่งมีภาคการบริโภคเป็นสัดส่วนที่ใหญ่สุดของประเทศปรับตัวลดลง แต่การบริโภคภาคเอกชนของประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศสปรับตัวดีขึ้น โดยตัวเลขการบริโภคภาคครัวเรือน (Household Consumption) ของประเทศฝรั่งเศสในไตรมาสที่ 2 ขยายตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ต่อปี สูงกว่าไตรมาสก่อนหน้า ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Q-o-Q Annualized) สะท้อนจากโดยตัวเลขการบริโภคสินค้าอุตสาหกรรม (Manufactured Goods) ของฝรั่งเศสในเดือนมิถุนายนที่ขยายตัวร้อยถึงร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งการขยายตัวของภาคการบริโภคของทั้งเยอรมนีและฝรั่งเศสมีส่วนช่วยทำให้ GDP ของทั้งสองประเทศขยายตัวดีขึ้น ในขณะที่ GDP ของสเปนและอิตาลียังคงหดตัวต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งของการขยายตัวดีขึ้นของการบริโภคภาคเอกชนนั้นน่าจะเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆของรัฐบาล โดยเฉพาะของประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศส อาทิ “cash-for-clunkers” หรือโครงการแลกรถยนต์เก่าที่กินน้ำมันมากเพื่อซื้อรถยนต์ใหม่โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐของทางการเยอรมนี ที่ไปกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน

2.2 ความเสี่ยงของเศรษฐกิจยุโรปในระยะต่อไป

สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าเศรษฐกิจยุโรปเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้น แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายฝ่ายมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปในครั้งนี้ยังคงมีความเปราะบางอยู่ โดยเฉพาะในภาคการจ้างงานในบางประเทศ เห็นได้จากการที่อัตราการว่างงานของสเปนและเบลเยี่ยมยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ร้อยละ 17.9 ของกำลังแรงงานรวมในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ในกรณีของสเปน และร้อยละ 11.3 ของกำลังแรงงานรวมในกรณีของเบลเยี่ยม

นอกจากนั้น การที่ทางการเยอรมนีและฝรั่งเศสได้มีมาตรการเข้าสนับสนุนค่าจ้างแรงงานของลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งมีจำนวนประมาณ 1.4 ล้านคน และส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ ในขณะที่โครงการ “Cash-for-Clunkers” ที่ทำให้ยอดขายรถยนต์ และการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว ซึ่งหากมาตรการดังกล่าวสิ้นสุดลง ขณะที่ภาคเศรษฐกิจจริง โดยเฉพาะภาคการบริโภคมิได้ขยายตัวอย่างยั่งยืน แต่เป็นเพียงการ Restock สินค้าคงค้างดังที่กล่าวข้างต้น อาจทำให้เศรษฐกิจกลับมา หดตัวอีกครั้ง รวมถึงอัตราการว่างงานโดยรวมอาจปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้งได้ และทำให้รายได้สุทธิ (Disposable Income) ของผู้บริโภคลดลง ส่งผลกระทบต่อการบริโภค และอาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังของเยอรมนีและฝรั่งเศส รวมถึงเศรษฐกิจยุโรปโดยรวม เป็นไปได้ยากขึ้น

ความเสี่ยงอีกประการหนึ่ง คือ การที่ฐานะการการคลังของประเทศสเปนและอิตาลีที่ปรับตัวลดลงจากการทำนโยบายการคลังแบบผ่อนคลายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการลดภาษีและการใช้จ่ายของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเห็นได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP (Public debt-to-GDP ratio) ของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะประเทศอิตาลี ณ ช่วงสิ้นปี 51 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 104.1 ต่อ GDP ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

ขณะที่ สศค. คาดการณ์ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของอิตาลีในปี 2552 จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 115.2 ต่อ GDP ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจของประเทศอิตาลีกลับมาหดตัวลงอีกครั้งจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น อัตราการว่างงานที่ยังคงสูง ก็จะทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นไปได้ยากขึ้น

กล่าวโดยสรุป จากภาวะเศรษฐกิจที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจยุโรป (Eurozone) ได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดของภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว ทำให้เป็นไปได้ว่าลักษณะการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจยุโรปจะรอดพ้นจากการหดตัวอย่างต่อเนื่องยาวนาน (หรือที่เรียกว่า U-shape หรือ L-shape) และกำลังเข้าสู่สภาวะฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม สศค. วิเคราะห์ว่า การฟื้นตัวครั้งนี้ยังคงมีความเปราะบาง เนื่องจากเผชิญกับความเสี่ยงหลายประการทั้งจากอัตราการว่างงานที่ยังคงสูง รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั้งในยุโรปเองและต่างประเทศ ที่อาจเผชิญข้อจำกัดทางการคลังในอนาคต ทำให้ไม่สามารถกระตุ้นได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งความเสี่ยงทั้งสองอาจทำให้การส่งออกสินค้าทุนโดยรวมและภาคการบริโภคของยุโรปที่ขยายตัวในไตรมาสนี้ อาจจะชะลอลงในอนาคต

3. ประเทศสหรัฐฯ
3.1 ภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐฯในปัจจุบัน

หลังจาก GDP ในไตรมาสที่ 1 หดตัวถึงร้อยละ -6.4 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Q-o-Q Annualized) อันเป็นผลจากวิกฤตการเงินที่ลุกลามเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจ เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งสะท้อนจากตัวเลขเบื้องต้นของ GDP ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ที่หดตัวน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ร้อยละ -1.0 ต่อปี จากไตรมาสก่อน

หากพิจารณาองค์ประกอบของเศรษฐกิจสหรัฐฯ พบว่า เศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นผลจากการหดตัวที่น้อยลงของการลงทุนภาคเอกชน ที่หดตัวที่ร้อยละ -20.4 ต่อปี ในไตรมาสที่ 2 ลดลงจากไตรมาส 1 ที่หดตัวถึง ร้อยละ 50.5 ต่อปี ทั้งนี้ การหดตัวที่ลดลงนั้นเป็นผลจากการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ (Residential Investment) ที่หดตัวลดลงที่ร้อยละ -9.0 ต่อปี ในไตรมาสที่ 2 จากที่เคยหดตัวร้อยละ -36.4 ต่อปีในไตรมาสก่อน

การหดตัวที่ลดลงของการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ที่แท้จริงนั้นสอดคล้องกับดัชนีชี้วัดภาคอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ล่าสุดที่เริ่มมีสัญญาณพื้นตัว เช่น ยอดจำหน่ายบ้านมือสอง (Existing home sales) ราคาบ้านมัฐยฐาน (Median Home Price) ยอดบ้านใหม่เริ่มสร้าง (Housing Starts) และใบขออนุญาตก่อสร้าง (Building Permits) ล้วนแล้วแต่ปรับตัวดีขึ้นทั้งสิ้น บ่งชี้ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการเงินโลก เริ่มแสดงสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น

นอกจากการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์แล้ว ภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น การลงทุนที่ไม่ใช่ภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น (Nonresidential Investment) และภาคการส่งออกหดตัวลดลงเช่นกัน โดยหดตัวที่ร้อยละ -8.9 และ -7.0 ต่อปี ตามลำดับ บ่งชี้ว่าการลงทุนในส่วนของเครื่องมือเครื่องจักรรวมถึงการส่งออกสุทธิเริ่มมีการปรับตัวดีขึ้น

สาเหตุหนึ่งที่การลงทุนโดยรวมและการส่งออกสุทธิขยายตัวได้ดีนั้น น่าจะมาจากความต้องการตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งส่งผลให้ภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้นตาม สะท้อนได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (ISM Manufacturing Purchasing Manager Index: ISM PMI) ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำการผลิต (Leading Indicator) ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะยังคงบ่งชี้ถึงภาวะการผลิตที่ชะลอตัวอยู่ โดยล่าสุดมาอยู่ที่ระดับ 52.9 ในเดือนสิงหาคม จากระดับต่ำสุดที่ระดับ 32.9 ในเดือนมกราคม ทั้งนี้หากอัตราดังกล่าวต่ำกว่าระดับ 50 ถือว่าภาคการผลิตอยู่ในภาวะชะลอตัว แต่หากอัตราดังกล่าวต่ำกว่าระดับ 40 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตอยู่ในภาวะถดถอย

3.2 ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

สาเหตุของการส่งสัญญาณที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งนั้นเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆของรัฐบาลโดยเฉพาะมาตรการเร่งด่วนอย่างโครงการสวัสดิการผู้ว่างงาน (Making work Pay Tax Credit) มาตรการ Cash-for-Clunkers หรือโครงการแลกรถยนต์เก่าที่กินน้ำมันมากเพื่อซื้อรถยนต์ใหม่ที่ช่วยกระตุ้นยอดขายรถยนต์ และมาตรการเข้าช่วยเหลือภาคการเงินผ่านโครงการ Capital Assistant Program (CAP) รวมไปถึงมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชน นอกจากนั้น การที่รัฐใช้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้การใช้จ่ายภาครัฐโดยรวม ทั้งในส่วนรัฐบาลกลางและท้องถิ่น ขยายตัวถึงร้อยละ 5.6 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม สศค. วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีความเสี่ยงต่อการชะลอตัวอีกครั้ง อันเนื่องมาจากการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งมีสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดที่ร้อยละ 70 ของ GDP หดตัวร้อยละ -1.2 ในไตรมาส 2 หลังจากมีการขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 ในไตรมาสที่ 1 ซึ่งน่าจะมีสาเหตุดังนี้

ประการที่หนึ่ง ประชาชนสหรัฐฯ มีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้นหลังจากเกิดวิกฤต ซึ่งเห็นได้จากสัดส่วนการออมภาคเอกชนต่อรายได้ที่ใช้จ่ายได้จริง (Personal Saving as a percent of Disposable Income) ของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 6.0 ในเดือนพฤษภาคม

ประการที่สอง การที่ทางการสหรัฐฯ ทำนโยบายขาดดุลอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2552 จะอยู่ที่ร้อยละ 86.2 ของ GDP ปรับเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 67.7 ของ GDP ณ ช่วงสิ้นปี 2551 ซึ่งจะทำให้ประชาชนคาดว่ารัฐบาลอาจจะต้องเพิ่มภาษีในอนาคตเพื่อลดหนี้สาธารณะ (Ricardian Equivalence) ประชาชนจึงเก็บออมเงินที่ได้จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 อาจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ประการที่สาม การที่ผู้ผลิตหยุดการผลิตชั่วคราวในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 จนถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2552 เพื่อระบายสินค้าคงทน (Durable good) คงค้าง รวมถึงการลดราคาของสินค้าเพื่อระบายสินค้าคงค้างในไตรมาสที่ 1 จึงน่าจะทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าคงทนในไตรมาสที่ 1 และชะลอการซื้อการบริโภคสินค้าประเภทนี้ในไตรมาสที่ 2 ลง และทำให้ภาคการบริโภคเอกชนโดยรวมหดตัวลงไปด้วย และ (4) ภาคการเงินที่ยังคงกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจที่จะกระทบต่อปริมาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จึงชะลอการปล่อยสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคลง เห็นได้จากตัวเลขสินเชื่อผู้บริโภค (Consumer Credit) ที่หดตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ -10.0 ต่อเดือนในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 และนับเป็นการหดตัวติดต่อกันยาวนานนับตั้งแต่ปี 2534

นอกจากนั้น การที่อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปอยู่ในระดับที่สูงสุดในรอบ 26 ปีที่ร้อยละ 9.7 ในเดือนสิงหาคม และอาจขึ้นไปอยู่ที่ระดับที่สูงกว่าร้อยละ 10 ในต้นปี 2553 ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะทำให้รายได้สุทธิของผู้บริโภค(Disposable Income) ลดลง และทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯในครึ่งปีหลังเป็นไปได้ยากขึ้น

3.3 ทิศทางสภาวะเศรษฐกิจในอนาคต

จากภาวะเศรษฐกิจที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว ทำให้เป็นไปได้ว่าลักษณะการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะรอดพ้นจากการหดตัวอย่างต่อเนื่องยาวนาน (หรือที่เรียกว่า U-shape หรือ L-shape) และกำลังเข้าสู่สภาวะฟื้นตัว

อย่างไรก็ตามนักเศรษฐศาสตร์หลายฝ่ายกังวลว่าเศรษฐกิจในปัจจุบันอาจกลับมาหดตัวอีกครั้ง (W-shape recovery) หลังเริ่มพลิกฟื้น เนื่องจากภาคเศรษฐกิจที่พลิกฟื้นขึ้นเป็นการลงทุนภาคเอกชนและภาคการส่งออกที่หดน้อยลงที่ร้อยละ -7.0 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หดตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ที่หดตัวถึงร้อยละ -29.9 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ภาคอื่น ๆ ยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะภาคการบริโภคที่เริ่มเห็นความเสี่ยงของการ ชะลอตัวลงอีกครั้ง ดังนั้น หากมีปัจจัยเสี่ยงใด ๆ ที่นำไปสู่การที่ผู้บริโภคตื่นตระหนกอีกครั้ง เช่น ภาวะโรคระบาดของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 ความผันผวนของตลาดเงินทุน และอัตราการว่างงานที่ยังคงเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจมีผลทำให้ภาคการบริโภคหดตัวลงอีกครั้งได้ นอกจากนั้น สถานการณ์ด้านภาคการเงินที่ยังมีความเปราะบางสูง แม้ว่าทางการจะเข้าช่วยเหลือผ่านโครงการต่างๆ เช่น Capital Assistant Program (CAP) โดยล่าสุดการล้มละลายของธนาคาร Colonial Bank ในมลรัฐ Alabama บ่งชี้ว่าสถานการณ์ภารการเงินยังคงเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค และการบริโภคโดยรวมได้

นอกจากนี้ หากพิจารณาทางด้านอุปทานแล้ว มีความเป็นไปได้ว่าช่วงที่ผ่านมาสัญญาณการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม ที่วัดจากดัชนี ISM Manufacturing Purchasing Manager Index (ISM PMI) นั้นมาจากการที่สินค้าคงคลังเริ่มขายออกไปได้หลังจากยุติการผลิตชั่วคราวเพื่อระบายสินค้าคงค้างเหล่านี้ และเป็นไปได้ว่าหากภาคการบริโภคยังไม่ฟื้นตัวกลับมาอย่างยั่งยืน อาจทำให้สินค้าคงคลังกลับมามากขึ้น และทำให้ภาคอุตสาหกรรมหยุดการผลิตอีกครั้ง

ทั้งนี้ความเสี่ยงในระยะต่อไปหลังจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้น อาจจะเป็นอัตราเงินเฟ้อได้ เนื่องจากหลังจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมานั้น รัฐบาลและ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) ได้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการทำนโยบายการคลังแบบขยายตัว (Expansionary Fiscal Policy) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ซึ่งรวมถึงอัดฉีดสภาพคล่อง (Quantitative Easing) ซึ่งเป็นไปในว่าสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นนั้นอาจเกินกว่าระดับที่เหมาะสมสะท้อนได้จากปริมาณเงินในระบบ U.S. Monetary Base ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 842 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีที่แล้วมาอยู่ที่ระดับ 1.70 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน และดุลบัญชี (Balance sheet) ของ Fed ได้ขยายตัวขึ้นจากประมาณ 1.14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐมาเป็น 2.14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปัจจุบันเช่นกัน ในขณะเดียวกัน การที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ออกมาประกาศว่าอาจจะทำการลดจำนวนพันธบัตรในโครงการ Supplementary Financing Program (SFP) ลงเหลือเพียง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่เคยตั้งเป้าไว้ที่ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะไม่มีการต่ออายุพันธบัตรที่จะครบกำหนด เนื่องจากปัญหาของระดับหนี้ทั้งหมด (Gross Total Debt) ของสหรัฐที่ปรับตัวเข้าไปอยู่ใกล้กับระดับเพดานหนี้ (Debt Ceiling) ที่กฎหมายหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ กำหนดไว้ที่ 12.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นั้น ส่งผลให้รัฐสภาสหรัฐฯจำเป็นต้องปรับเพิ่มเพดานหนี้ดังกล่าว ซึ่งหากสภา Congress ของสหรัฐฯไม่สามารถปรับขยายเพดานหนี้ดังกล่าวได้ทันท่วงที ก็อาจส่งผลให้ทางการสหรัฐฯ และ Fed ไม่สามารถดูดซับสภาพคล่องเพิ่มขึ้นได้อีก ซึ่งทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคต (Inflation Expectation) เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคาพันธบัตรตกลง ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรหรือ Yield พุ่งสูงขึ้นมาก นำไปสู่ความผันผวนในตลาดพันธบัตร และลุกลามไปสู่ตลาดโภคภัณฑ์ ตลาดเงินตลาดทุน และอาจนำไปสู่วิกฤตการเงินอีกครั้งได้

3.4 แนวนโยบายของทางการสหรัฐฯ

จากความเสี่ยงดังกล่าว ทำให้ สศค. คาดว่าในครึ่งหลังของปี 2552 ทางการสหรัฐฯ น่าจะพยายามเร่งรัดการเบิกจ่ายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในประเทศให้มากขึ้น (หรือที่เรียกว่า Crowding-in or Multiplier Effect)

ทั้งนี้ สศค. วิเคราะห์ว่าปัญหาสำคัญของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อยู่ที่อัตราการเบิกจ่ายที่ค่อนข้างต่ำโดยเมื่อ เทียบกับวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมดจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 7.87 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.87 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นมาตรการด้านภาษี ขณะที่อีกประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นการใช้จ่ายภาครัฐโดยตรง) นั้นยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก โดยงบประมาณในด้านภาษีได้มี การเบิกจ่ายไปเพียงประมาณ 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐโดยตรงนั้นได้มีการเบิกจ่ายไปเพียงประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งโดยรวมแล้วส่งผลให้ยอดการเบิกจ่ายเท่ากับประมาณ 8.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเพียงประมาณร้อยละ 10 จากวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 7.87 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

ดังนั้น ในระยะต่อไป ความท้าทายของรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา คือการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบกระตุ้นเศรษฐกิจให้มากขึ้น โดยเฉพาะงบประมาณที่ใช้ในโครงการที่เกี่ยวกับการสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทั้งนี้ แม้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้จะรวมระยะเวลา 10 ปี แต่ตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลแล้วนั้น จะมีการเร่งการเบิกจ่ายมากในช่วง 3 ปีแรก ที่ประมาณ 1.85 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2552 3.99 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2553 และ 1.34 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2554 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าการเบิกจ่ายในเชิงปฏิบัติอาจเผชิญกับความยากลำบาก เนื่องจากหลายโครงการเป็นโครงการระดับมลรัฐซึ่งจำเป็นต้องผ่านการเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติในมลรัฐด้วย

อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลกลางไม่สามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายให้ได้ตามแผนแล้วนั้น อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงต่อการชะลอตัวลงอีกครั้ง (หรือเป็น W-Shape Recovery) ได้

นอกจากนั้นความเสี่ยงจากการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ (Inflation Expectation) ที่อาจจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคตจากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ก็อาจจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงอีกครั้งได้ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ อาจจะต้องรวมมือกับทาง Fed ในการลดการคาดการณ์ดังกล่าวลง โดยการที่ทางการสหรัฐฯเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวเพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นกลับมาโดยเร็ว ซึ่งน่าจะส่งผลให้ยอดการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น การเพิ่มขึ้นของรายได้รัฐบาลนั้นก็จะเป็นการช่วยลดการขาดดุลงบประมาณ และลดจำนวนการให้ Fed ช่วยซื้อพันธบัตรรัฐบาล(Government Debt Monetization) ลงได้ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่อาจจะสร้างความผันผวนให้กับตลาดโภคภัณฑ์ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้ออาจจะปรับตัวสูงขึ้นและเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจจะยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ให้กลับมาชะลอตัวลงอีกครั้งได้

4. ประเทศญี่ปุ่น
4.1 ภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปัจจุบัน และสาเหตุของการฟื้นตัว

ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ มีสัญญาณของการผ่านพ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นกัน ทั้งนี้ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นหดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -6.4 ต่อปี (Y-o-Y) จากร้อยละ -8.6 ต่อปี ในไตรมาสที่ 2 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว (ปรับปัจจัยฤดูกาลแล้ว) จะพบว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวถึงร้อยละ 3.7 ต่อปี (Q-o-Q, Seasonally-Adjusted Annualized Rate: SAAR)

ขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น (ปรับปัจจัยฤดูกาลแล้ว) อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่อไตรมาส เร่งขึ้นจากไตรมาสแรกที่หดตัวร้อยละ -3.1 ต่อไตรมาส โดยภาคการส่งออกถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวม โดยการส่งออกสุทธิมีส่วนทำให้ GDP ขยายตัวถึงร้อยละ 1.6 (Contribution to GDP Growth)

ทั้งนี้การขยายตัวของภาคการส่งออกนี้เป็นอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นภาคการบริโภคเอกชนและภาคการลงทุนในประเทศจีน ซึ่งญี่ปุ่นมีสัดส่วนการส่งออกไปจีนถึงประมาณร้อยละ 16 ของการส่งออกทั้งหมด โดยผลผลิตยานยนต์ในไตรมาสที่ 2 เติบโตที่ร้อยละ 17.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกที่หดตัวถึงร้อยละ -38.3 และเมื่อพิจารณาเฉพาะการส่งออกยานยนตร์ไปยังประเทศจีนนั้น ไตรมาสที่ 2 เติบโตถึงร้อยละ 51 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกที่หดตัวร้อยละ -36.3 ในขณะที่การส่งออกเครื่องจักรและเครื่องใช้ไฟฟ้าไปจีนเติบโตที่ร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกที่หดตัวร้อยละ -21.6

นอกจากนั้นการบริโภคภาคเอกชนเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Q-o-Q) ขยายตัวที่ร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากไตรมาสแรกที่หดตัวร้อยละ -1.2 และเป็นส่วนทำให้ GDP ในไตรมาส 2 ขยายตัว (Contribution to GDP) ร้อยละ 0.5 ต่อปี โดยเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 27 ล้านล้านเยน (2.86 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) หนึ่งในมาตรการดังกล่าวคือ การให้เงินอุดหนุนจำนวน 12,000 เยนให้กับประชาชนทุกคน โดยเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี และผู้มีอายุสูงกว่า 65 ปี จะได้เงินพิเศษเพิ่มอีกรวมเป็นเงิน 20,000 เยน ส่งผลให้การลงทุนภาครัฐเติบโตถึงร้อยละ 8.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2541

การฟื้นตัวของภาคส่งออกและภาคการบริโภคเอกชนนั้น ทำให้คำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น และทำให้ภาคการผลิตมีการปรับตัวดีขึ้นด้วยเช่นกัน สะท้อนจากดัชนีอุตสาหกรรมรวม (All-industry activity index) ของญี่ปุ่น ซึ่งประกอบไปด้วยภาคการบริการ ภาคการผลิต ภาคก่อสร้างและการบริโภคและการลงทุนภาครัฐ ในเดือนมิถุนายนปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 92.6 และเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 อย่างไรก็ตามผลผลิตภาคการก่อสร้าง (Construction output) หดตัวร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หดตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกที่หดตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

4.2 ความเสี่ยงของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมานั้นมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางการญี่ปุ่นและประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะจากจีน ที่เป็นตลาดการส่งออกหลักของญี่ปุ่น ที่อาจจะชะลอตัวในระยะต่อไป

ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชน (Private Investment) ยังคงหดตัวที่ร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งมาจากการหดตัวของการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ (Private Residential Investment) ที่ร้อยละ -9.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และการลงทุนที่ไม่ใช่ภาคอสังหาริมทรัพย์ (Nonresidential Investment) หดตัวร้อยละ -4.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าซึ่งการหดตัวดังกล่าวเป็นการสะท้อนถึงความเชื่อมั่นผู้ผลิตต่อความต้องการภายในและภายนอกประเทศที่ยังคงมีความไม่แน่นอน

ในขณะเดียวกันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นอาจจะมีข้อจำกัดมากขึ้น เนื่องจากการที่ฐานะดุลการคลังของญี่ปุ่นมีความเปราะบางอยู่มาก ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP (Public debt-to-GDP ratio) ณ ช่วงสิ้นปี 2552 จะสูงถึงประมาณร้อยละ 200 ต่อ GDP ตัวเลขดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้นหากความต้องการภายในและภายนอกประเทศกลับมาหดตัวอีกครั้ง

นอกจากนั้น ถึงแม้ว่ดัชนีบ่งชี้ด้านภาคแรงงาน เช่น ชั่วโมงทำงานนอกเวลา (Overtime Hours) จะสะท้อนถึงการผ่านพ้นจุดต่ำสุดของอัตราการว่างงานไปแล้วก็ตามแต่การทิ่อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับที่สูงที่สุดในรอบ 6 ปีที่ร้อยละ 5.7 ของกำลังแรงงานรวม และมีการคาดการณ์ว่าในไตรมาสที่ 1 ปี 53 จะขึ้นไปอยู่ที่ระดับร้อยละ 6.1 ของกำลังแรงงานรวม รวมถึงการที่ผู้ประกอบการยังคงมีแนวโน้วที่จะลดต้นทุนผ่านการลดค่าจ้าง (pay cuts) และการเลิกจ้าง (layoffs) ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะทำให้รายได้สุทธิของผู้บริโภค (Disposable Income) ลดลงและทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังเป็นไปได้ยากขึ้น

นอกจากนั้นการที่สกุลเงินเยน (Yen Currency) โดยรวมแข็งค่ากว่าสกุลเงินอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ยูโร รวมถึงสกุลเงินต่าง ๆ ในประเทศเอเซีย เมื่อเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในปี 2553 ก็อาจจะทำให้ประเทศญี่ปุ่นเสียเปรียบทางด้านการค้าในเชิงของราคาสินค้าส่งออก (Price Competitiveness) และทำให้ไม่สามารถได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างเต็มที่

5. ประเทศจีน
5.1 ภาพรวมของเศรษฐกิจจีนในปัจจุบัน

นับจากเดือนกันยายน 2551 หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกทวีความรุนแรง ทำให้เศรษฐกิจของหลายประเทศตกต่ำอย่างไรก็ตามเศรษฐกิจจีนกลับขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกอยู่บ้างก็ตาม โดยการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 7.9 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.1 ในไตรมาสแรก ขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว (Q-o-Q Annualized) พบว่าขยายตัวได้ดีถึงร้อยละ 16.4 ต่อปี ขณะที่เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของเศรษฐกิจจีนพบว่า มาจากการขยายตัวของภาคการลงทุน และภาคการบริโภคภายในประเทศ ทั้งนี้ในส่วนของภาคการลงทุนที่ขยายตัวถึงร้อยละ 15.8 ต่อปีในไตรมาสที่ 2 นั้นมาจากการลงทุนรวมที่เพิ่มขึ้น (Gross Capital Formation) ซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.4 ต่อปี ขณะที่ภาคการบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวเช่นกัน โดยพิจารณาจากการบริโภคภาคเอกชนที่แท้จริงที่ขยายตัวร้อยละ 7.4 ต่อปี ขณะที่ดัชนีชี้วัดต่าง ๆ บ่งชี้ว่าการบริโภคเริ่มฟื้นตัวเช่นกัน เช่น ยอดค้าปลีก(Retail Sales) ขยายเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 15.0 ในครึ่งปีแรก อย่างไรก็ตาม ในภาคการค้าระหว่างประเทศนั้น การส่งออกของจีนได้หดตัวลงอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ -19.7 ต่อปี ในไตรมาสที่ 1 และ -23.5 ต่อปี ในไตรมาสที่ 2 สืบเนื่องมาจากตลาดใหญ่ในการส่งออกของจีน ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯหรือยุโรป ได้ชะลอตัวในการนำเข้าจากอุปสงค์ในประเทศที่ยังคงอ่อนแอ ส่วนการนำเข้ามีการหดตัวลดลงที่ร้อยละ -30.8 ต่อปี ในไตรมาสที่ 1 มาอยู่ที่ -20.2 ในไตรมาสที่ 2 ต่อปี ทำให้ดุลการค้าโดยรวมของจีนติดลบที่ร้อยละ -2.9 ในครึ่งปีแรกปี 2552

5.2 สาเหตุของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้นเป็นผลจากการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากนโยบายของรัฐเป็นสำคัญ โดยในส่วนการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวนั้นเป็นผลจากโครงการภาครัฐที่กระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชน (Crowding-in Effect) โดยการลงทุนในสาธารณูปโภคที่ขยายตัวร้อยละ 57.4 ต่อปี ในครึ่งปีแรกนั้น ส่วนใหญ่มาจากการลงทุนในโครงการสร้างทางรถไฟที่ขยายตัวร้อยละ 126.5 ต่อปี และโครงการสร้างถนนที่ขยายตัวร้อยละ 54.7 ต่อปี ในขณะที่การขยายตัวของการบริโภคนั้นเป็นการขยายตัวของสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ และอัญมณีและเครื่องประดับเป็นหลัก

ทั้งนี้ กลไกหลักในการกระตุ้นภาคการบริโภคได้แก่การปล่อยสินเชื่อจากธนาคารของรัฐ โดยปริมาณสินเชื่อที่ปล่อยกู้ในครึ่งปีแรกมีถึง 7.8 ล้านล้านหยวน ซึ่งแม้จะช่วยให้เศรษฐกิจไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโลกมากนัก รวมทั้งไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อในระยะใกล้ (อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่หดตัวร้อยละ -1.7 ในเดือนมิถุนายน) แต่ก็ทำให้เกิดฟองสบู่ในสินทรัพย์ (Asset price bubble) โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ขยายตัวถึงร้อยละ 75 นับจากต้นปีในเดือนมิถุนายน ในขณะที่ราคาบ้านเพิ่มขึ้นถึงประมาณร้อยละ 20 รวมไปถึงการที่ปริมาณเงินความหมายกว้าง (M2) ขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละประมาณ 25 ต่อปี

การที่เศรษฐกิจจีนเริ่มมีความเสี่ยงของ Asset Price Bubble นั้น ทำให้ทางการจีนออกมาตรการป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว โดยได้ประกาศตั้งเป้าสัดส่วนเงินกันสำรองหนี้เสีย (Loan loss Provisioning) เป็น 1.5 เท่า ในเดือนสิงหาคม 2552 จาก 1.34 เท่า ขณะที่ธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China: PBOC) ได้เริ่มออกพันธบัตรอายุ 1 ปี เพื่อดูดซับสภาพคล่องจำนวน 1 แสนล้านหยวนเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน นอกจากนั้น คณะกรรมาธิการการธนาคารของจีน (The China Banking Regulatory Commission) ยังได้ขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ทั่วประเทศในการตรวจสอบสินเชื่อใหม่ ซึ่งทางคณะกรรมการได้ตักเตือนให้ทางสถาบันการเงินต่างๆ ทำตามกฎในการปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างเคร่งครัด โดยกำหนดให้วางเงินมัดจำอย่างน้อยร้อยละ 40 ของมูลค่าสินทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งการเข้มงวดสินเชื่อขึ้นดังกล่าวทำให้สัญญาณล่าสุดจากการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารธนาคารขนาดใหญ่ของจีน เช่น ธนาคารเพื่ออุตสาหกรรมและการพาณิชย์ของจีน (ICBC) บ่งชี้ว่าแนวโน้มการปล่อยสินเชื่ออาจเริ่มลดลง

5.3 แนวโน้มสภาวะเศรษฐกิจในอนาคตและแนวนโยบายของทางการจีน

สศค. วิเคราะห์ว่าในระยะต่อไปเศรษฐกิจจีนอาจเริ่มมีความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น เนื่องจาก แม้ว่าความเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น (Demand-pull Inflation) จะยังมีไม่มากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงน่าจะเป็นส่วนผลักดันให้ระดับการผลิตของจีนต่ำกว่าศักยภาพ หรือเกิด Output Gap ขึ้น อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าในระยะต่อไป Output Gap ของจีนจะเริ่มลดลง โดยหากผู้ประกอบการปรับตัวโดยปรับลดคนงานออก ซึ่งจะทำให้ศักยภาพการผลิตของจีนลดลง และเพิ่มความเสี่ยงของ Demand-pull inflation นอกจากนั้นความเสี่ยงเงินเฟ้อจากราคาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น (Costpush Inflation) อาจเริ่มเพิ่มขึ้นหากราคาสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มปรับตัวสูงขึ้น (ปัจจุบันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มิใช่พลังงานในจีนเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 5 ต่อปี แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดจะยังหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -1.2 ต่อปีในเดือนสิงหาคมก็ตาม) ในขณะที่ระยะต่อไปมีแนวโน้มว่าราคาโภคภัณฑ์อาจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหากอุปสงค์ภายในประเทศยังคงขยายตัว และความคาดหวังเงินเฟ้อ ที่เริ่มเพิ่มขึ้นตามทิศทางราคาสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น ทั้งในตลาดหลักทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์

ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้ สศค. คาดว่าทางการจีนจะเข้าบริหารจัดการด้านเรื่องการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ขณะเดียวกันจีนอาจเริ่มยุติการทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย โดยอาจเริ่มปรับขึ้นสัดส่วนเงินกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ และขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจากระดับปัจจุบันที่ร้อยละ 2.25 ต่อปี (ดอกเบี้ยเงินฝาก 1 ปี) และร้อยละ 5.31 ต่อปี (ดอกเบี้ยเงินกู้ 1 ปี) ตามลำดับ

6. เอเชียตะวันออก (ไม่รวมญี่ปุ่นและจีน)
6.1 ภาพรวมเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียบูรพาในปัจจุบัน

ภาพรวมของเศรษฐกิจในเอเชียบูรพา (ไม่รวมญี่ปุ่นและจีน)ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวพิจารณาจาก GDP ในหลาย ๆ ประเทศที่หดตัวชะลอลง เช่น เกาหลีใต้ที่ GDP ไตรมาสที่ 2 หดตัวที่ร้อยละ -2.5 ต่อปี จากไตรมาสแรกที่หดตัวร้อยละ -4.2 ต่อปี ฮ่องกงในไตรมาสที่ 2 หดตัวที่ร้อยละ -3.8 ต่อปี จากไตรมาสแรกที่หดตัวร้อยละ -7.8 ต่อปี ไต้หวันในไตรมาสที่ 2 หดตัวร้อยละ -7.5 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากไตรมาสแรกที่หดตัว -10.1 ต่อปี สิงคโปร์หดในไตรมาสที่ 2 ตัวร้อยละ -3.5 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากไตรมาสแรกที่หดตัว -9.6 ต่อปี และไทยหดตัวที่ร้อยละ -4.9 ต่อปี ในไตรมาสที่ 2 จากไตรมาสแรกที่หดตัวร้อยละ -7.1 ต่อปี

ขณะที่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Q-o-Q) โดยปรับผลกระทบตามฤดูกาล (Seasonally Adjusted) แล้ว พบว่าเศรษฐกิจของเอเชียบูรพาขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นทั้งสิ้น โดยเกาหลีใต้ขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 ต่อไตรมาสในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นกว่าไตรมาสแรกที่เติบโตร้อยละ 0.1 ต่อไตรมาสฮ่องกงเติบโตที่ร้อยละ 3.2 ต่อไตรมาส จากไตรมาสแรกที่หดตัวร้อยละ -4.0 ต่อไตรมาสและประเทศไทยจะเติบโตที่ร้อยละ 2.4 ต่อไตรมาสเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกที่หดตัวร้อยละ -1.9 ต่อไตรมาส

6.2 สาเหตุการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้นมาจากความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอันเป็นผลจากการที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลต่าง ๆ โดยเฉพาะรัฐบาลจีนที่เป็นปัจจัยบวก (Positive Externality) ส่งผลให้ความต้องการสินค้านำเข้าของจีนมีมากขึ้น และผลักดันให้ภาคการส่งออกของเอเชียบูรพาที่มีจีนเป็นตลาดส่งออกหลักกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหนึ่งซึ่งเห็นได้จากปริมาณการส่งออก (Export Volume) ในไตรมาสที่ 2 ของประเทศในภูมิภาคที่ขยายตัวขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ฮ่องกง และสิงคโปร์ ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 11.2 8.6 และ 5.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

การที่ภาคการส่งออกเริ่มกลับมาฟื้นตัวนั้นทำให้รายได้สุทธิ (Disposable Income) ของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น เนื่องจากเอเชียบูรพามีสัดส่วนของภาคการส่งออกต่อ GDP ในระดับสูงดังนั้น เมื่อการส่งออกเริ่มปรับตัวดีขึ้น จึงทำให้รายได้ผู้บริโภคเพิ่มขึ้นตาม ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเห็นได้จากตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนของประเทศแถบเอเชียบูรพาในไตรมาสที่ 2 ส่วนใหญ่มีทิศทางขยายตัว จากไตรมาสแรกที่หดตัวลงมาก

นอกจากนั้น สาเหตุของการที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวนั้น มาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของทางการในประเทศเอเชียบูรพา ดังจะเห็นได้จากมาตรการระยะสั้นที่รัฐบาลประเทศต่างๆ นำมาใช้จะเน้นการกระตุ้นการบริโภคเป็นหลัก เช่น ไต้หวันได้ออกมาตรการแจกเช็คของขวัญรายบุคคลเป็นจำนวน 3,600 ดอลลาร์ไต้หวันต่อคน และประเทศไทยที่ได้ออกมาตรการเช็คช่วยชาติคนละ 2,000 บาทและผู้สูงอายุได้รับเงินเบี้ยกตัญญูเดือนละ 500 บาท เป็นต้น

ทั้งนี้ การที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในเอเชียบูรพาสามารถที่จะทำได้อย่างต่อเนื่องนั้น สาเหตุหลักน่าจะมาจากการที่ฐานะดุลการคลังของทางการเหล่านี้ยังคงมีความแข็งแกร่ง ซึ่งเห็นได้จาก สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP (Public debt-to-GDP ratio) ของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ ณ ช่วงสิ้นปี 2551 ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะน้อยกว่าที่ทาง Maastricht Treaty ของสหภาพยุโรปที่กำหนดเพดานไว้ที่ร้อยละ 60 ต่อ GDP

นอกจากนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ยังมีประสิทธิภาพมากกว่าหลาย ๆ ประเทศ เช่น สหรัฐฯ รวมไปถึงยุโรป เนื่องจากการที่ภาคครัวเรือนของประเทศในเอเชียบูรพามีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประเทศในแถบตะวันตก ซึ่งเหตุผลดังกล่าวทำให้ประชาชนมีโอกาสที่จะใช้จ่ายจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การลดภาษี รวมถึงการแจกจ่ายเช็คของรัฐบาลมากกว่าการออม

การที่เศรษฐกิจภาคการใช้จ่าย โดยเฉพาะการบริโภคและการส่งออกปรับตัวดีขึ้นนั้น ส่งผลให้ภาคการผลิตมีการปรับตัวที่ดีขึ้น เห็นได้จากตัวเลขโดยรวมล่าสุดในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ของการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial production) ของเอเชียบูรพาที่ขยายตัวถึงร้อยละ 36 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Q-o-Q Annualized)

ในขณะเดียวกันหากพิจารณาเป็นรายประเทศแล้วนั้น พบว่าอัตราการผลิตภาคอุตสาหกรรมของประเทศในภูมิภาคส่วนใหญ่มีการหดตัวในอัตราที่ชะลอลง ไม่ว่าจะเป็นของเกาหลีใต้ในเดือนมิถุนายนที่หดตัวร้อยละ -1.2 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -9.0 ต่อปี รวมไปถึงของไต้หวันในเดือนกรกฎาคมที่หดตัวร้อยละ -8.1 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -11.4 ต่อปี สอดคล้องกับตัวเลขการส่งออกดังกล่าวที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงการที่ผู้ประกอบการระบายสินค้า คงคลังออกไป (Destock) เป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็วในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ในขณะที่สัญญาณเศรษฐกิจและคำสั่งซื้อที่ปรับตัวดีขึ้นทำให้ผู้ผลิตเริ่มผลิตเพื่อสะสมสินค้าคงคลังอีกครั้ง (Restock)

6.3 ความเสี่ยงของเศรษฐกิจเอเชียบูรพาในระยะต่อไป

ความเสี่ยงของเศรษฐกิจเอเชียบูรพาได้แก่ ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงอีกครั้ง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมานั้นอาจกล่าวได้ว่าการขยายตัวของประเทศในเอเชียบูรพาเป็นผลหลักจากการขยายตัวของการนำเข้าจากจีนเป็นหลัก โดยมูลค่าการนำเข้าจากเกาหลีของจีนนั้นขยายตัวได้ถึงร้อยละ 26.6 (ปรับฤดูกาลแล้ว) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เช่นเดียวกับมูลค่าการส่งออกจากไทยไปยังจีนขยายตัวถึงร้อยละ 20.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (ปรับฤดูกาลแล้ว) เช่นกัน

ทั้งนี้ สาเหตุหลักของการขยายตัวของการนำเข้าของจีนนั้นมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของทางการจีน เช่น การลดภาษี การให้เงินอุดหนุนผู้มีรายได้น้อยเพื่อซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ การเร่งปล่อยสินเชื่อจากธนาคารของรัฐและเอกชน รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Investment) ของรัฐบาล เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชน (Crowding-in)

อย่างไรก็ตาม สศค. วิเคราะห์ว่า เป็นไปได้สูงว่าในระยะต่อไป มูลค่าการนำเข้าอาจไม่ยั่งยืนเนื่องจาก (1) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมาซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 4 ล้านล้านหยวนนั้นอาจเริ่มชะลอลงในระยะต่อไป ประกอบกับความเสี่ยงเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ธนาคารกลางจีนจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดขึ้นในระยะต่อไป (2) มาตรการกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนผ่านการเร่งปล่อยสินเชื่อจากธนาคารของรัฐและเอกชนอย่างไม่รัดกุมนั้นเริ่มส่งสัญญาณความเสี่ยงการเกิดฟองสบู่ในสินทรัพย์ (Asset Price Bubble) เห็นได้จากดัชนีตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 75 นับจากต้นปีในเดือนมิถุนายน ในขณะที่ราคาบ้านเพิ่มขึ้นถึงประมาณร้อยละ 20 ส่งผลให้รัฐบาลต้องเข้ามามีมาตรการต่าง ๆ ในการลดความเสี่ยงดังกล่าวลงซึ่งอาจส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในช่วงที่ผ่านมาอาจจะต้องชะงักลง (3) การที่ความต้องการสินค้าต่าง ๆ ขยายตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวอาจจะกลับมาหดตัวอีกครั้งเนื่องจากสินค้าเหล่านั้นเป็นสินค้าจำพวกสินค้าคงทน (Durable goods) ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งมีความคงทน ทำให้ความต้องการในระยะต่อไปอาจเริ่มลดลง และ (4) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่รวดเร็วในช่วงที่ผ่านมาอาจเป็นผลจากการที่ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้ประกอบการระบายสินค้าคงคลังออกไป (Destock) เป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็วในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ในขณะที่สัญญาณเศรษฐกิจและคำสั่งซื้อที่ปรับตัวดีขึ้นทำให้ผู้ผลิตเริ่มผลิตเพื่อสะสมสินค้าคงคลังอีกครั้ง (Restock) และทำให้ความต้องการนำเข้าวัตถุดิบต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้นในระยะสั้น

ทั้งนี้ จากปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้นทำให้ สศค. เห็นว่าในระยะต่อไป เศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจของเอเชียบูรพา อาจเริ่มมีความเสี่ยงต่อการชะลอลงอีกครั้งหลังจากเริ่มปรับตัวดีขึ้น (W-shape Recovery)

6.4 แนวนโยบายของทางการเอเชียบูรพา

สศค. วิเคราะห์ว่า เพื่อป้องกันการหดตัวอีกครั้ง ทางการของประเทศในเอเชียบูรพาจะต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของประเทศในเอเชียบูรพาในช่วงที่ผ่านมานั้น มักเป็นมาตรการที่กระตุ้นการบริโภคที่มีผลระยะสั้นเป็นหลัก ในขณะที่การกระตุ้นการลงทุนระยะยาวมีไม่มากนัก

ขณะเดียวกัน จากการพิจารณาโครงสร้างเศรษฐกิจ พบว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียบูรพา ส่วนใหญ่มีสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP ที่ลดลงมามากโดยเฉพาะหลังวิกฤตการณ์การเงินเอเชียบูรพาในปี 2540 เช่น มาเลเซียที่ลดการลงทุน จากร้อยละ 43 ต่อ GDP ในปี 2540 เหลือเพียงร้อยละ 19 ในปี 2551

ดังนั้น ในระยะต่อไป จึงเป็นไปได้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของเอเชียบูรพาในระยะต่อไป น่าจะมุ่งเน้นที่จะกระตุ้นการลงทุนภาครัฐเป็นหลัก โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Investment) เพื่อให้เกิดการลงทุนภาคเอกชน (Crowding-in Effect) ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับภาคการผลิตในการฟื้นตัวเมื่อความต้องการของตลาดโลก รวมถึงความต้องการภายในประเทศกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง นอกจากนั้น การที่สถานะทางการคลังของประเทศในเอเชียบูรพายังคงแข็งแกร่ง สะท้อนจากหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ประเทศเหล่านี้มีศักยภาพในการกระตุ้นการลงทุนได้

ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวก็จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) และการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว (Potential Output) ซึ่งจะส่งผลต่อสัดส่วนของรายได้ต่อครัวเรือน ต่อ GDP ให้สูงขึ้น รวมถึงทำให้สัดส่วนการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนต่อ GDP ให้สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคนี้มีความสมดุลมากขึ้น

7. สรุป

กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทยได้ส่งสัญญาณผ่านพ้นจุดต่ำสุดของวิกฤตเศรษฐกิจโลกแล้ว ซึ่งสะท้อนได้จากดัชนีบ่งชี้ต่าง ๆ ล่าสุดจากทั้งภาคอุปสงค์และอุปทานที่กลับมาขยายตัวอีกครั้ง โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ยังคงขยายตัวเมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส (Q-o-Q) และรายปี (Y-o-Y)

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากการชะลอตัวอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะ (1) หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจในสัดส่วนที่ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น จีน หรือ สหรัฐฯ ชะลอตัวลงในระยะต่อไป ก็อาจจะส่งผลทำให้การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกและไทยที่พึ่งพาภคการส่งออกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กลับมาชะลอตัวอีกครั้ง (W-Shape Recovery) (2) ในขณะเดียวกันการที่รัฐบาลและธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ทั่งโลกได้ทำการอัดฉีดสภาพคล่องเป็นจำนวนมหาศาลเพื่อกระตุ้นและเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้ต้องมีมาตรการดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบไปด้วยพร้อม ๆ กัน ซึ่งหากธนาคารทั่วโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่มีการขยายตัวของดุลบัญชี (Balance Sheet) ขึ้นก่อนวิกฤตเศรษฐกิจที่ประมาณ 1.14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มาเป็น 2.14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน ไม่สามารถดูดซับสภาพคล่องได้อย่างทันท่วงที ในขณะทีเหตุการณ์ล่าสุด กระทรวงการคลังสหรัฐฯประกาศว่าจะทำการลดจำนวนพันธบัตรในโครงการ Supplementary Financing Program (SFP) หรือโครงการช่วยดูดซับสภาพคล่องของทางกระทรวงการคลัง ลงเหลือเพียง 1.5 หมื่อล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจุบันที่ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะไม่มีการต่ออายุพันธบัตรที่ครบกำหนดเนื่องจากหนี้สาธารณะที่คาดว่าใกล้จะถึงกำหนดเพดานหนี้ (Debt Ceiling) ที่ระดับ 12.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็อาจจะทำให้ตลาดเกิดความวิตกกังวลว่าการปรับลดจำนวนออกพันธบัตรในโครงการดังกล่าวอาจนำไปสู่สภาพคล่องล้นระบบการเงิน ส่งผลให้การคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคตเพิ่มขึ้น (Inflation Expectation) ซึ่งจะทำให้ราคาพันธบัตรตกลง ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรหรือ Yield พุ่งสูงขึ้นมาก และอาจนำไปสู่ความผันผวนในตลาดพันธบัตร ลุมลามไปสู่ตลาดโภคภัณฑ์ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้ออาจจะปรับตัวสูงขึ้นและเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกที่อาจจะยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ให้กลับมาชะลอตัวลงอีกครั้งได้

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ