บทสรุปผู้บริหาร: บทวิเคราะห์เรื่อง สถานการณ์ค่าเงินบาทและการบริหารจัดการค่าเงินบาทตามกรอบแนวคิด Exchange Rate Management KPI

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 20, 2009 12:12 —กระทรวงการคลัง

บทสรุปผู้บริหาร

วิกฤตเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันส่งผลกระทบเข้าสู่เศรษฐกิจหลายประเทศรวมถึงไทยผ่านภาคการส่งออก โดยส่งผลให้รายได้รูปเงินบาทของสินค้าและบริการส่งออกลดลง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่าในปี 2552 จะลดลงจากปีก่อนหน้าประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท ดังนั้น ทางการจึงต้องใช้นโยบายเศรษฐกิจต่าง ๆ รวมถึงนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง เพื่อเข้าช่วยชะลอทำให้รายได้จากการส่งออกรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ จากการพิจารณาสถานการณ์ค่าเงินบาท พบว่าค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบันแข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 2.2 นับจากต้นปี สูงกว่าค่าเงินประเทศคู่ค้าคู่แข่งส่วนใหญ่ และทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ของไทยแข็งค่ากว่าค่าเงินประเทศคู่ค้าประมาณร้อยละ 1.9 บ่งชี้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าและบริการส่งออกไทยที่ลดลง

สาเหตุหลักของการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้แก่ 1) ดุลการค้าไทยที่ยังคงเกินดุลต่อเนื่อง (2) เงินทุนไหลเข้าตลาดหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่อง (3) ทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง และ (4) การบริหารจัดการค่าเงินมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอที่จะทำให้ค่าเงินบาทมีศักยภาพในการแข่งขัน

จากการพิจารณาการบริหารจัดการค่าเงินตามกรอบแนวคิด Exchange Rate Management KPI หรือการใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลงเพื่อเพิ่มรายได้ของสินค้าและบริการส่งออกในรูปเงินบาท พบว่าการบริหารจัดการค่าเงินในไตรมาสที่ 1 ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ โดยค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 35.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงใกล้กับค่าเงินนโยบายที่ 35.5 บาท ทำให้รายได้จากการส่งออกรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น 77.7 พันล้านบาทจากกรณีฐาน ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 88.9 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 2 ค่าเงินบาทเฉลี่ยที่ 34.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่ากว่าค่าเงินนโยบายที่อยู่ที่ 36.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเป็นอย่างมาก ทำให้รายได้จากการส่งออกรูปเงินบาทเพิ่มขึ้นเพียง 58.5 พันล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายยที่ 107.0 พันล้านบาทมาก

ตามการคาดการณ์ของ สศค. หากค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐยังคงอยู่ที่ 34.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปจนถึงสิ้นปี 2552 จะทำให้ได้รายได้เพิ่มขึ้นเพียง 35.6 พันล้านบาทในสองไตรมาสหลังเท่านั้น ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 124.0 และ 142.0 พันล้านบาทเป็นอันมาก และจะทำให้รายได้จากการส่งออกเป็นรูปเงินบาทของทั้งปี 2552 เพิ่มขึ้นเพียง 207.4 พันล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 427 พันล้านบาทเป็นอันมาก

สศค. วิเคราะห์ว่า ตามกรอบแนวคิด Economic Policy KPI นั้น หากต้องการให้เศรษฐกิจมีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการที่หายไปเป็นจำนวน 1.2 ล้านล้านบาทนั้น ทั้ง 3 นโยบายเศรษฐกิจหลัก อันได้แก่ นโยบายการเพิ่มรายจ่ายภาครัฐ นโยบายการเร่งขยายสินเชื่อ และนโยบายการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน จะต้องทำงานสอดประสานกัน ในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยนนั้น สศค. เห็นว่า ยังคงมีช่องทางที่จะบริหารจัดการค่าเงินเพื่อเพิ่มรายได้จากการส่งออกในรูปเงินบาท อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออก โดยเฉพาะผู้ส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร รวมถึงผู้ส่งออกสินค้าที่ใช้แรงงานในการผลิตสูง ซึ่งมักเป็นธุรกิจขนาดกลางและเล็ก อันจะมีส่วนช่วยทำให้ภาคธุรกิจไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

บทนำ

เป็นที่ทราบกันดีว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันส่งผลกระทบเข้าสู่เศรษฐกิจหลายประเทศในมุมกว้าง รวมถึงประเทศไทย ดังนั้น ทางการในหลายประเทศจึงต้องใช้นโยบายเศรษฐกิจต่าง ๆ อันได้แก่ นโยบายการเงิน นโยบายการคลังนโยบายสินเชื่อ และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน เข้าช่วยชะลอผลกระทบอันเกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าว ผ่านทางเครื่องมือต่าง ๆ อันได้แก่ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ การกระตุ้นให้เกิดการปล่อยสินเชื่อ และการใช้นโยบาย อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่า (หรือ Competitive Devaluation) ซึ่งเป็นนโยบายที่ทั่วโลก รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียหลายประเทศได้กระทำ

อย่างไรก็ตาม เพื่อประเมินประสิทธิภาพของมาตรการต่าง ๆ การประเมินผลของแต่ละมาตรการเป็นเชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) เป็นสิ่งจำเป็น ในบทความนี้ จะเป็นการประเมินผลของการใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อช่วยชดเชยรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการที่ลดลง โดยจะแบ่งเนื้อหาออกเป็น (1) สถานการณ์ค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา (2) การเปรียบเทียบอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าของไทยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และดัชนีค่าเงินบาทเพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการแข่งขัน (3) สาเหตุที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นทั้งจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน (4) ผลงานการบริหารจัดการค่าเงินบาทผ่านกรอบแนวคิด Economic Policy KPI และ Exchange Rate Management KPI โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

สถานการณ์ค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาของปี 2552

ค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาของปี 2552 จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วงดังนี้

o ช่วงที่ 1 นับจากช่วงต้นเดือนมกราคม 2552 ถึงวันที่ 3 มีนาคม 2552 ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากระดับ 34.9 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 36.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมีค่าเฉลี่ยที่ 35.1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐโดยการอ่อนค่าลงของเงินบาทเป็นไปตามทิศทางการอ่อนค่าลงของค่าเงินสกุลเอเชียเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่หดตัวอย่างรุนแรงในไตรมาสที่ 1 ของปี ทำให้นักลงทุนวิตกกังวล และถอนการลงทุนจากสินทรัพย์สกุลเอเชียที่ถูกมองว่ามีความเสี่ยงสูง และหันกลับไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ รวมถึงหันกลับมาถือสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่ถูกมองว่ามีความเสี่ยงต่ำ (Safe Haven) มากขึ้น โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 นั้น นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทยถึง -5.59 พันล้านบาท ซึ่งกระแสเงินทุนไหลออกอย่างต่อเนื่องนี้ ทำให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจึงอ่อนค่าลง

o ช่วงที่ 2 นับจากวันที่ 3 มีนาคม 2552 ถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2552 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากระดับ 36.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 34.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมีค่าเฉลี่ยที่ 35.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ปัจจัยหลักที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมี 3 ปัจจัย ได้แก่

(1) ดุลการค้าไทยที่ยังคงเกินดุลต่อเนื่อง โดยแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้การส่งออกของไทยหดตัวลง แต่เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศหดตัวลงรุนแรงกว่า เพราะเผชิญปัจจัยลบจากอื่น ๆ เช่นปัญหาการเมือง ซึ่งทำให้การบริโภคและการลงทุนในประเทศหดตัวลง ส่งผลให้การนำเข้าหดตัวลงมากกว่า ซึ่งการนำเข้าที่หดตัวมากกว่าการส่งออกทำให้ไทยเกินดุลการค้าต่อเนื่อง โดยหากพิจารณาในครึ่งแรกของปี 2552 พบว่าดุลการค้าของไทยเกินดุลถึงประมาณ 11.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้มีเงินตราต่างประเทศไหลเข้าประเทศจากภาคการส่งออกและทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้น

(2) เงินทุนไหลเข้าตลาดหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสัญญาณเศรษฐกิจโลกดีขึ้น ทำให้นักลงทุนทั่วโลกเริ่มมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจโลก จึงเริ่มนำเงินมาลงทุนในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งไทยมากขึ้น โดยพิจารณาได้จากการที่เงินทุนจากต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 2 ที่ 25.8 พันล้านบาทตามลำดับ หลังจากที่นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายหลักทรัพย์สุทธิในไตรมาสแรกที่ 5.6 พันล้านบาท ทำให้ในครึ่งแรกของปี 2552 มีเงินทุนไหลเข้าสุทธิผ่านตลาดหลักทรัพย์ถึง 1.98 หมื่นล้านบาท และเป็นแรงกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้น และ

(3) ทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง เนื่องจากการที่สัญญาณเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น นับจากช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนเป็นต้นมา ทำให้นักลงทุนโยกย้ายเงินลงทุนออกจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมาลงทุนในตลาดอื่น ๆ มากขึ้น ทำให้ดอลลาร์สหรัฐที่เคยถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงต่ำ (Safe Haven) อ่อนค่าลง หลังจากแข็งค่าขึ้นมากในช่วงต้นปี โดยในช่วงไตรมาสที่ 1 ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเทียบกับยูโรแข็งค่าถึงร้อยละ 5.3 แต่กลับอ่อนค่าลงเร็วมากในเดือนเมษายนถึงร้อยละ 7.0 ซึ่งทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.5 ซึ่งค่าเงินดอลลาร์ที่มีทิศทางอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ทำให้นักค้าเงินหันมาถือเงินสกุลยูโรและเอเชียมากขึ้น ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจึงแข็งค่าขึ้น

สาเหตุ/ตัวชี้วัด                                          ช่วงเวลา
                                      Q1             Q2         ก.ค.ถึง        ต้นปี-
                                  (ต้นปี-มี.ค.)    (เม.ย.-มิ.ย.)     ปัจจุบัน       ปัจจุบัน
1.ดุลการค้าไทยเกินดุลต่อเนื่อง
     - ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)      7.1            3.9           -           11.0
2.เงินทุนไหลเข้าตลาดหลักทรัพย์ต่อเนื่อง
     - เงินทุนต่างชาติสุทธิ (ล้านบาท)     -5,594          25,772        11,381      31,559
3.ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง
     - ค่าเงินดอลลาร์ต่อยูโร ณ สิ้นเดือน*  1.3247          1.4033        1.4362      1.4362
     - % เปลี่ยนแปลง**                  5.3            -0.3          -2.7        -2.7
ตารางที่ 1 ปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น และตัวชี้วัดของการแข็งค่าขึ้น
หมายเหตุ: * ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐต่อยูโร ณ วันที่ 1 มกราคม 2552 คือ 1.3988 ดอลลาร์สหรัฐต่อยูโร
** + ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินยูโร
  • ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินยูโร

ที่มา: กระทรวงพาณิชย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและธนาคารแห่งประเทศไทย

o ช่วงที่ 3 นับจากวันที่ 4 มิถุนายน ถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2552 ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ที่ระดับ 34.1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยหากพิจารณาจากตัวเลขในตารางที่ 1 จะพบว่าค่าเงินบาทยังคงได้รับแรงกดดันจากเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากเงินทุนต่างชาติสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 2 และช่วงหลังของปี 2552 ที่ยังมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิถึง 25,772 และ 11,381 ล้านบาทตามลำดับ ในขณะเดียวกันดุลการค้าของไทยยังคงมีแนวโน้มเกินดุลอย่างต่อเนื่องในขณะที่ค่าเงินดอลลาร์เมื่อพิจารณาเทียบกับค่าเงินยูโรแล้วจะพบว่ายังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามความต้องการถือสินทรัพย์ในสกุลที่ปลอดภัยที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในช่วงกรอบแคบที่ประมาณ 34.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ศักยภาพในการแข่งขันของค่าเงินบาทเทียบกับประเทศคู่ค้า

ทั้งนี้ หากพิจารณาอัตราการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐนับจากช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบัน (7 สิงหาคม 2552) พบว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นร้อยละ 2.21 ขณะที่ค่าเงินประเทศเพื่อนบ้านของไทยอาทิริงกิตมาเลเซีย ดอลลาร์สิงค์โปร์ ฟิลิปปินส์เปโซและค่าเงินหยวนของจีนล้วนแล้วแต่แข็งค่าขึ้นในระดับที่น้อยกว่าหรืออ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (ตารางที่ 2)

                    Local               Local currency against USD
                    Currency          and % change from base period
                    Per USD              01/01/09   —    07/08/09
                    as of              Local currency    % change
                    07/08/09             per USD at      from base*

01/01/09

          THB/USD    33.96                 34.71           2.21
          MYR/USD    3.498                 3.450          -1.37
          PHP/USD    47.75                 47.50          -0.52
          CNY/USD   6.8305                6.8208          -0.12
          KRW/USD   1226.2                1262.0          -2.92
          SGD/USD   1.4355                1.4372          -0.12

ตารางที่ 2 อัตราการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

ที่มา: Reuter และสำนักงานเศรษฐกิจการคลั

สาเหตุที่ค่าเงินของประเทศเพื่อนบ้านเทียบกับดอลลาร์สหรัฐส่วนใหญ่อ่อนค่าลงหรือแข็งค่าขึ้นในระดับน้อยกว่าค่าเงินบาทส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะทางการประเทศเพื่อนบ้านทำนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบ Competitive Devaluation เพื่อกระตุ้นภาคส่งออก ซึ่งการที่ค่าเงินประเทศเพื่อนบ้านเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงมากกว่าค่าเงินบาทนั้น ทำให้ดัชนีค่าเงินบาทตามน้ำหนักเฉลี่ยเมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลัก 14 ประเทศ (Nominal effective exchange rate) แข็งค่าขึ้นที่ร้อยละ 1.92 นับจากต้นปี 2552 ซึ่งบ่งชี้ว่าความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกไทยลดลงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านลดลงจากช่วงต้นปีที่ร้อยละ 1.92

การบริหารจัดการค่าเงินของทางการ โดยวัดจากระดับของทุนสำรองทางการ

เมื่อพิจารณาจากปริมาณการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนสำรองซึ่งทางการธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคที่ใช้บริหารจัดการเพื่อดูแลเสถียรภาพของค่าเงินพบว่าการบริหารจัดการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ในระดับที่น้อยกว่าธนาคารกลางของประเทศเพื่อนบ้านที่เผชิญกับแรงกดดันในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นโดยเฉพาะเกาหลีใต้ โดยหากพิจารณาจากระดับทุนสำรองทางการนับจากต้นปี 2552 ถึงเดือนมิถุนายน พบว่า ธปท. เข้าบริหารจัดการค่าเงินบาทโดยพบว่ามีการเพิ่มระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศขึ้นในระดับประมาณ 4.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 8.3 นับจากต้นปี บ่งชี้ว่า ธปท. เข้าซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อรักษาระดับค่าเงินบ้างทำให้ทุนสำรองมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ธปท.จะบริหารจัดการดังกล่าว ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นที่ประมาณร้อยละ 2.2 นับจากช่วงต้นปี สูงกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆของประเทศในกรณีที่เปรียบเทียบดังกล่าวแม้ว่าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของแรงกดดันการแข็งค่าของค่าเงินในประเทศเปรียบเทียบในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมานั้น พบว่าเกาหลีใต้เกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับที่มากกว่าประเทศไทย ในขณะที่เมื่อเทียบกับการบริหารจัดการค่าเงินของธนาคารกลางของเกาหลีใต้ (BOK) พบว่า BOK มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการค่าเงินมากกว่า ธปท. โดยทุนสำรองของเกาหลีเพิ่มขึ้นมากกว่าของไทยมากที่ร้อยละ 17.2 แต่ค่าเงินกลับแข็งค่าขึ้นเพียงร้อยละ1.24 นับจากต้นปี

ในขณะที่เมื่อพิจารณาจากดัชนีค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาที่ระดับร้อยละ 1.92 บ่งชี้ได้ว่าการบริหารจัดการของธปท. ยังคงมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอที่จะทำให้ค่าเงินบาทมีศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศคู่ค้าเนื่องจากแม้ว่าจะเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

ทั้งหมดนี้ บ่งชี้ว่า หาก ธปท. บริหารจัดการค่าเงินให้มีเสถียรภาพขึ้นดังเช่นประเทศเพื่อนบ้าน จะเป็นปัจจัยทางจิตวิทยาทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่า ธปท. จะดูแลค่าเงินอย่างเต็มที่ ทำให้ไม่โจมตีค่าเงินบาท ซึ่งจะทำให้ธปท. ไม่จำเป็นต้องบริหารจัดการค่าเงินเป็นจำนวนมากในอนาคต ซึ่งจะทำให้ค่าเงินมีเสถียรภาพ เอื้อต่อการส่งออก และเป็นส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากภาวะวิกฤตโลกได้เร็วขึ้น

                    ER movement against USD       Official Reserve (USD billion)       C/A Balance
                 01/01/09   24/07/09   % YTD       Jan'09      Jun'09     % YTD     (12 mths;USD bil)
KRW/USD            34.71      33.98     2.15        110.7      115.4       4.25            8.3
THB/USD           1262.0     1246.6     1.24        201.2      231.7      15.16           17.2
ตารางที่ 3  อัตราการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน ทุนสำรอง และดุลบัญชีเดินสะพัดไทยและเกาหลีใต้
ที่มา:  CEIC The Economist และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

กล่าวโดยสรุป หากพิจารณาความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเปรียบเทียบกับค่าเงินของประเทศเพื่อนบ้านพบว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่าค่าเงินของประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ ซึ่งการแข็งค่าขึ้นดังกล่าวทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคา (Price Competitiveness) ของสินค้าส่งออกไทยลดลงเมื่อเทียบกับสินค้าส่งออกของประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งที่ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าค่าเงินเพื่อนบ้านนั้นเป็นเพราะทางการของประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะเกาหลีใต้มีการบริหารจัดการค่าเงินบาทที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ ทำให้แม้ว่าจะมีเม็ดเงินไหลเข้าเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลในระดับสูง แต่การที่ทางการเข้าบริหารจัดการโดยเข้าซื้อเงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้าประเทศผ่านช่องทางดังกล่าว ทำให้ค่าเงินวอนค่อนข้างมีเสถียรภาพ

อนึ่ง การผลักดันให้ค่าเงินอ่อนค่าลงนั้น แม้ว่าจะมิได้มีส่วนช่วยให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากนัก โดยเมื่อพิจารณาจากหลักฐานเชิงประจักษ์พบว่า ผลของอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง (Price Effect) นั้นมิได้มีผลทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้นมากนัก แต่ผลจากรายได้ของประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น (Income Effect) จะมีส่วนช่วยให้การส่งออก รวมถึงเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีกว่า อย่างไรก็ตาม การที่เงินบาทอ่อนค่าลง จะทำให้รายได้รูปเงินบาทเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีส่วนให้ผู้ประกอบการส่งออก โดยเฉพาะผู้ส่งออกสินค้าที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศสูง และ/หรือผู้ส่งออกที่ใช้แรงงานในประเทศสูงได้รับประโยชน์

ทั้งนี้ แนวคิดดังกล่าวเป็นหนึ่งในกรอบแนวคิด Economic Policy KPI และ Exchange Rate Management KPI ที่คิดขึ้นเพื่อใช้บริหารจัดการนโยบายเศรษฐกิจ และเครื่องมือของผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจ (Policy-maker’s tool) ในการช่วยลดผลกระทบของการตกต่ำของเศรษฐกิจโลกได้ โดยกรอบแนวคิดดังกล่าว รวมถึงการประเมินผลจากกรอบแนวคิดดังกล่าวนั้นมีรายละเอียดดังนี้

กรอบแนวคิด Economic Policy KPI และ Exchange Rate Management KPI

ในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจใด ๆ ความเข้าใจถึงที่มาและขนาดของปัญหาเศรษฐกิจเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อจะนำไปสู่การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ถูกต้องและจัดการกับปัญหาได้ตรงจุด ในกรณีของภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งได้รับผลกระทบหลักจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกนี้ สามารถอธิบายผ่านกรอบแนวคิด Economic Policy KPI ได้ดังนี้

วิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกสินค้าและบริการ (อันได้แก่การท่องเที่ยวเป็นหลัก)โดยจากแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พบว่าในปี 2552 มูลค่าการส่งออกและการท่องเที่ยว (ทั้งปริมาณและ/หรือราคาในรูปดอลลาร์สหรัฐ) จะลดลงประมาณร้อยละ 20 ของรายได้ส่งออกปี 2551 หรือ

มูลค่าการส่งออกปี 2552 (USD) ที่ลดลง = ร้อยละ 20 * มูลค่าการส่งออกปี 2551 (USD)

= 20% * $177.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

= $35.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ หากเมื่อคิดเป็นรูปเงินบาท โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย ณ ปี 2551 ที่ 33.4 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จะ

ได้มูลค่าการส่งออกปี 2552 (THB) ที่ลดลง = 33.4 * มูลค่าการส่งออกปี 2551 (USD)

= (฿33.4/$)* $35.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

= ฿1.186 ล้านล้านบาท (หรือประมาณ1.2 ล้านล้านบาท)

มูลค่าการส่งออกที่หายไป 1.2 ล้านล้านบาทนั้น หากทางการ (ที่รวมทั้งกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารเฉพาะกิจในการกำกับดูแลของรัฐหรือ Special Financial Institution: SFIs) ทำการประสานนโยบาย และใช้เครื่องมือเศรษฐกิจที่มีอยู่ทั้งหมดในการเข้ารับมือกับปัญหาดังกล่าวแล้วนั้น จะทำให้ช่วยทำให้เงินที่หายไป 1.2 ล้านล้านบาทนั้นกลับคืนมาในระดับเดิมได้ โดยสามารถแบ่งได้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน 3 เครื่องมือ อันได้แก่

(1) เครื่องมือทางการคลัง โดยการผ่านงบกลางปีและการเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้า (ซึ่งจะเป็นเครื่องมือทางการคลังแบบผ่อนคลายอัตโนมัติ หรือ Automatic Stabilizer) ซึ่งจะทำให้มีรายได้เข้าสู่เศรษฐกิจเป็นจำนวน 4 แสนล้านบาท

(2) เครื่องมือทางอัตราแลกเปลี่ยน ผ่านการปรับลดอัตราแลกเปลี่ยนให้อ่อนค่าลง จากค่าเฉลี่ยประมาณ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปี 2551 ให้เฉลี่ยประมาณ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปี 2552 ซึ่งจะทำให้รายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการเป็นรูปเงินบาทเพิ่มขึ้นประมาณ 4 แสนล้านบาท และ

(3) เครื่องมือทางด้านนโยบายสินเชื่อ โดยการบริหารจัดการให้ธนาคารพาณิชย์และ SFIs ปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจและเอกชนเป็นจำนวน 4 แสนล้านบาท

หากทางการสามารถผลักดันเครื่องมือนโยบายทั้ง 3 ดังที่ตั้งเป้าไว้แล้วนั้น น่าจะมีส่วนช่วยชดเชยรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการที่ลดลงได้

กรอบแนวคิด Exchange Rate Management KPI

ในส่วนของ Exchange Rate Management KPI นั้น อาจกล่าวได้ว่า หากไม่มีการบริหารจัดการค่าเงินบาท การส่งออกในปี 2552 จะหดตัวลงประมาณร้อยละ 20 จาก 177.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 142.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาทจะหายไปประมาณ 1,186 หรือประมาณ 1,200 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากมีการบริหารจัดการค่าเงินให้อ่อนค่าลง จาก 33.4 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (กรณีฐานหรือ Base Case) เป็น 36.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (กรณีเชิงนโยบาย หรือ Policy Case) จะทำให้รายได้เป็นเงินบาท (หรือส่วนต่างระหว่าง Policy Case และ Base Case) เพิ่มขึ้นเป็น 5,120 พันล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นจากกรณีฐานที่ 4.27 แสนล้านบาท(หรือประมาณ 4 แสนล้านบาท) (ตารางที่ 4)

          Item                                  Value
                           USD (Bil)       ER (dif) THB/USD        THB (Bil)
       Export G&S             177.8              33.4                 5,938
       Export G&S             142.2              33.0                 4,693
2009 (Est.20% short)
       Dif (Est.-Act.)        -35.6              33.4                -1,186
       Export G&S 2009 (Pol.) 142.2              36.0                 5,120
       Dif (Pol.-Est.)            0              36.0                  +427
ตารางที่ 4 กรอบแนวคิด Exchange Rate Management KPI

ทั้งนี้ หากพิจารณาในรายไตรมาส โดยปรับให้ค่าเงินอ่อนค่าประมาณ 0.50 บาทต่อไตรมาส จากประมาณ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ ต้นปี 2552 เป็น 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นไตรมาส 4 (หรือทำให้อ่อนค่าไตรมาสละ 50 สตางค์ต่อดอลลาร์สหรัฐ) จะทำให้ค่าเฉลี่ยของค่าเงินบาทในปี 2552 (Policy Case) อยู่ที่ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนั้น หากตั้งสมมุติฐานว่าในปี 2552 มูลค่าการส่งออกเป็นรูปเงินดอลลาร์สหรัฐจะอยู่ที่ 35.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อไตรมาส (ซึ่งทั้งปีจะได้ 142.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐตามแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาค) จะทำให้มูลค่าส่งออกทั้งปี 2552 เพิ่มขึ้นมากกว่า 427 พันล้านบาทจากกรณีฐานตามที่กล่าวข้างต้น (ตารางที่ 5)

          Item                               Value
                       USD (Bil)       ER (dif) THB/USD        THB (Bil)
          Dif Q1          35.6          2.5 (35.5-33)            88.9
          Dif Q2          35.6          3.0 (36-33)             107.0
          Dif Q3          35.6          3.5 (36.5-33)           124.0
          Dif Q4          35.6          4.0 (37-33)             142.0
          Total (Dif.)   142.2          3.0                      +427
ตารางที่ 5 กรอบแนวคิด Exchange Rate Management KPI รายไตรมาส
หมายเหตุ:  1 มูลค่าการส่งออกรูปดอลลาร์สหรัฐรายไตรมาส (ได้จากแบบจำลอง)

2 ส่วนต่างของค่าเงินบาทที่ได้จากการทำนโยบาย (Policy Case) กับค่าเงินบาทเฉลี่ย ณ ปี 2551 (ที่ประมาณ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) (Base Case)

3 รายได้มูลค่าการส่งออกเป็นรูปเงินบาทที่เพิ่มมากขึ้นจากกรณีฐานหากทำตามนโยบายดังกล่าว

การเปรียบเทียบผลงานของทางการ กับกรอบแนวคิด Exchange Rate Management KPI

ไตรมาสที่ 1

หากพิจารณาผลงานของทางการในการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน พบว่าในไตรมาส 1 ค่าเงินบาทเฉลี่ย(Actual Case) อยู่ที่ 35.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่ากว่าค่าเงินบาทนโยบาย (Policy Case) ที่ 35.5 เล็กน้อย (ซึ่งทำให้ผลต่างระหว่างค่าเงินบาทเฉลี่ยในไตรมาส 1 ปี 2552 กับค่าเงินบาทเฉลี่ยปี 2550 อยู่ที่ 2.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ต่ำกว่าผลต่างที่ได้จากเชิงนโยบายที่อยู่ที่ 2.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ)

ในขณะที่การส่งออกอยู่ที่ 33.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่ำกว่าประมาณการเล็กน้อย ทำให้ในไตรมาส 1 มูลค่าการส่งออกจริงในรูปเงินบาทสูงกว่ากรณีฐาน 77.7 พันล้านบาท ต่ำกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 88.9 พันล้านบาทเล็กน้อย ถือว่าได้ เกรด B+ ใน Exchange Rate Management KPI (ตารางที่ 6)

          Item                                  Value
                        USD (Bil)        ER (dif) THB/USD        THB (Bil)
          Dif Q1          35.6               2.5 (35.5-33)          88.9
          Dif Q1 (Act.)   33.8               2.3 (35.3-33)          77.7 (B+)
          Dif Q2          35.6               3.0 (36-33)            107.0
          Dif Q3          35.6               3.5 (36.5-33)          124.0
          Dif Q4          35.6               4.0 (37-33)            142.0
          Total          142.2               3.0                    +427
ตารางที่ 6 การเปรียบเทียบผลงานทางการผ่านกรอบแนวคิด Exchange Rate Management KPI ไตรมาสที่ 1

ไตรมาสที่ 2

สำหรับผลงานทางการในการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน พบว่าในไตรมาสที่ 2 ค่าเงินบาทอยู่ที่ 34.7 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งกว่านโยบายที่ 36.0 ค่อนข้างมาก ในขณะที่การส่งออกอยู่ที่ 34.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่ำกว่าประมาณการเล็กน้อย ทำให้ในไตรมาส 2 มูลค่าการส่งออกจริงในรูปเงินบาทสูงกว่ากรณีฐาน 58.5 พันล้านบาท ต่ำกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 107.0 พันล้านบาทค่อนข้างมาก ถือว่าได้เกรด C- ใน Exchange Rate Management KPI (ตารางที่ 7)

          Item                                  Value
                          USD (Bil)       ER (dif) THB/USD        THB (Bil)
          Dif (Pol.-Est.)     0                  36.0                +427
          Dif Q1             35.6           2.5 (35.5-33)            88.9
          Dif Q1 (Act.)      33.8           2.3 (35.3-33)            77.7 (B+)
          Dif Q2             35.6           3.0 (36-33)             107.0
          Dif Q2 (Act.)      34.4           1.7 (34.7-33)            58.5 (C-)
          Dif Q3             35.6           3.5 (36.5-33)           124.0
          Dif Q4             35.6           4.0 (37-33)             142.0
          Total             142.2           3.0                      +427
ตารางที่ 7 การเปรียบเทียบผลงานทางการผ่านกรอบแนวคิด Exchange Rate Management KPI ไตรมาสที่ 2

คาดการณ์ไตรมาสที่ 3 และ 4 และคาดการณ์ทั้งปี 2552

ทั้งนี้ หากคาดการณ์ผลงานทางการในการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน โดยกำหนดให้ค่าเงินบาทอยู่ที่ 34.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาส 3-4 ในขณะที่การส่งออกอยู่ที่ 35.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่ากับที่ประมาณการ ซึ่งจะทำให้มูลค่าการส่งออกจริงในรูปเงินบาทในไตรมาส 3-4 สูงกว่ากรณีฐานเพียง 35.6 พันล้านบาท ต่ำกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 124.0 และ 142.0 พันล้านบาทค่อนข้างมาก ถือว่าได้เกรด F ใน Exchange Rate Management KPI ซึ่งทำให้ทั้งปี 2552ได้รายได้เป็นรูปเงินบาทเพิ่มขึ้นเพียง 207.4 พันล้านบาท ซึ่งถือว่าได้เกรด C- ใน Exchange Rate Management KPI (ตารางที่ 8)

           Item                                  Value
                             USD (Bil)       ER (dif) THB/USD        THB (Bil)
          Dif (Pol.-Est.)       0                 36.0                 +427
          Dif Q1               35.6             2.5 (35.5-33)          88.9
          Dif Q1 (Act.)        33.8             2.3 (35.3-33)          77.7 (B+)
          Dif Q2               35.6             3.0 (36-33)           107.0
          Dif Q2 (Act.)        34.4             1.7 (34.7-33)          58.5 (C-)
          Dif Q3               35.6             3.5 (36.5-33)         124.0
          Dif Q3 (Proj.)       35.6             1.0 (34.0-33)          35.6 (F)
          Dif Q4               35.6             4.0 (37-33)           142.0
          Dif Q4 (Proj.)       35.6             1.0 (34.0-33)          35.6 (F)
          Total (Pol.)        142.2             3.0                    +427
          Total (Proj.)       139.4             1.5 (34.5-33)          +207.4 (C-)
ตารางที่ 8 การคาดการณ์ผลงานทางการผ่านกรอบแนวคิด Exchange Rate Management KPI ทั้งปี 2552

สรุปและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

บทความนี้มีจุดประสงค์หลักเพื่อประเมินประสิทธิภาพของการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) โดยใช้กรอบแนวคิดหลักตาม Economic Policy KPI กล่าวคือหากต้องการให้เศรษฐกิจมีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยการรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการที่หายไปเป็นจำนวน 1.2 ล้านล้านบาทนั้น ทั้ง 3 นโยบายเศรษฐกิจหลักอันได้แก่ นโยบายการเพิ่มรายจ่ายภาครัฐ นโยบายการเร่งขยายสินเชื่อ และนโยบายการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน จะต้องทำงานสอดประสานกัน โดยภาครัฐจะต้องเบิกจ่ายเพิ่มขึ้น ภาคธนาคารเร่งขยายสินเชื่อขึ้น ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนต้องมีการบริหารจัดการเพื่อให้รายได้จากการส่งออกเป็นรูปเงินบาทเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 4 แสนล้านบาทในแต่ละภาค

ทั้งนี้ จากการพิจารณาการบริหารจัดการค่าเงินตามกรอบแนวคิด Exchange Rate Management KPI หรือการใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลงเพื่อเพิ่มรายได้ของสินค้าและบริการส่งออกในรูปเงินบาท พบว่าการบริหารจัดการค่าเงินในไตรมาสที่ 1 ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ โดยค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 35.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงใกล้กับค่าเงินนโยบายที่ 35.5 บาท ทำให้รายได้จากการส่งออกรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น 77.7 พันล้านบาทจากกรณีฐาน ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 88.9 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 2 ค่าเงินบาทเฉลี่ยที่ 34.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่ากว่าค่าเงินนโยบายที่อยู่ที่ 36.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเป็นอย่างมาก ทำให้รายได้จากการส่งออกรูปเงินบาทเพิ่มขึ้นเพียง 58.5 พันล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายยที่ 107.0 พันล้านบาทมาก

ตามการคาดการณ์ของ สศค. หากค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐยังคงอยู่ที่ 34.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปจนถึงสิ้นปี 2552 จะทำให้ได้รายได้เพิ่มขึ้นเพียง 35.6 พันล้านบาทในสองไตรมาสหลังเท่านั้น ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 124.0 และ 142.0 พันล้านบาทเป็นอันมาก และจะทำให้รายได้จากการส่งออกเป็นรูปเงินบาทของทั้งปี 2552 เพิ่มขึ้นเพียง 207.4 พันล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 427 พันล้านบาทเป็นอันมาก

ในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยนนั้น สศค. เห็นว่า ยังคงมีช่องทางที่จะบริหารจัดการค่าเงินเพื่อเพิ่มรายได้จากการส่งออกในรูปเงินบาท อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออก โดยเฉพาะผู้ส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร รวมถึงผู้ส่งออกสินค้าที่ใช้แรงงานในการผลิตสูง ซึ่งมักเป็นธุรกิจขนาดกลางและเล็ก อันจะมีส่วนช่วยทำให้ภาคธุรกิจไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ