รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 21 ตุลาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 21, 2009 11:45 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 ต.ค. 2552

Summary:

1. ครม.อนุมัติโครงการพร้อมลงทุนอีก 1.5 แสนล้านบาท

2. ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้า (NYMEX) ปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบปีทะลุระดับ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

3. บราซิลกำหนดภาษีสำหรับการลงทุนทางอ้อม (Portfolio Investment) ในอัตราร้อยละ 2 เพื่อปกป้องค่าเงินเรียล ส่งผลให้ตลาดหุ้นบราซิลและค่าเงินเรียลปรับลดลง

Highlight:
1. ครม.อนุมัติโครงการพร้อมลงทุนอีก 1.5 แสนล้านบาท
  • ครม.อนุมัติโครงการพร้อมลงทุนอีก 1.5 แสนล้าน ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้กำหนดวงเงินกู้เพื่อใช้ลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาทภายใต้วงเงินปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง โดยการอนุมัติวงเงินลงทุนในวันนี้ เพื่อจะนำไปใช้ในโครงการเร่งด่วน ได้แก่ การประกันรายได้เกษตรกร 40,000 ล้านบาท จัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 33,000 ล้านบาท โครงการด้านความมั่นคง 3,000 ล้านบาท และสมทบกองทุนหมู่บ้านอีก 20,000 ล้านบาท เป็นต้น โดยคาดว่า จะสามารถเบิกจ่ายเม็ดเงินจำนวน 3.5 แสนล้านบาท ได้ภายในปี 2553
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หากสามารถเบิกจ่ายแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งได้ตามคาดจะไม่เพียงส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจากกรณีฐานที่ร้อยละ 3.1 เป็นร้อยละ 4.1 แต่จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในภาพรวม โดยเฉพาะเศรษฐกิจรากหญ้าซึ่งเป็นสัดส่วนประชากรส่วนใหญ่ของประเทศด้วย
2. ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้า (NYMEX) ปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบปีทะลุระดับ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
  • ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้า (NYMEX) ปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบปี โดยปรับตัวผ่านทะลุระดับเพดาน 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลวานนี้ ก่อนปรับตัวลงมาเล็กน้อยอยู่ในช่วง 79.20 — 79.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยนักวิเคราะห์กล่าวว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวสูงขึ้นมาจากการประกาศตัวเลขผลประกอบการของธนาคารและบริษัทต่างๆ ในประเทศสหรัฐฯในสัปดาห์ที่แล้วซึ่งล้วนแล้วแต่ประกาศผลกำไรที่มากกว่าที่ตลาดคาดไว้ ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจที่สะท้อนจากผลประกอบการบริษัทต่างๆ ในสหรัฐฯนั้นเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้เนื่องจากเป็นผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการภาคการเงินในประเทศต่างๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงในปัจจุบันคือปัญหาเงินเฟ้อ เพราะการดูดซับสภาพคล่องคืนของธนาคารกลางต่างๆ เป็นไปได้ยากโดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารกลางสหรัฐที่ต้องดูดซับผ่านการออกพันธบัตรจากรัฐบาลซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหาเพดานหนี้ (Debt Ceiling) ในระดับสูง นอกจากนี้ ระบบเศรษฐกิจโลกซึ่งในปัจจุบันได้รับผลจากเศรษฐกิจสหรัฐฯค่อนข้างมากนั้นอาจเผชิญกับความเสี่ยงในเรื่องของฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดทุนอีกครั้ง หากระดับของราคาสินทรัพย์ในตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่มีการควบคุมและดูแลกิจกรรมในตลาดอย่างใกล้ชิด
3. บราซิลกำหนดภาษีสำหรับการลงทุนทางอ้อม (Portfolio Investment) ในอัตราร้อยละ 2 เพื่อปกป้องค่าเงินเรียล ส่งผลให้ตลาดหุ้นบราซิลและค่าเงินเรียลปรับลดลง
  • บราซิลกำหนดภาษีสำหรับการลงทุนทางอ้อม (Portfolio Investment) ในอัตราร้อยละ 2 เพื่อป้องกันค่าเงินเรียลไม่ให้แข็งค่าขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยในปีที่ผ่านมาค่าเงินเรียลได้แข็งค่าขึ้นสูงถึงร้อยละ 23 ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวส่งผลให้ตลาดหุ้นบราซิลและค่าเงินเรียลปรับตัวลดลงอย่างมาก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปัจจุบันที่ค่าเงินของสหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ยังคงไม่ฟื้นตัวเต็มที่ หลายๆ ประเทศอาจมีการดำเนินนโยบายแทรกแซงค่าเงินของตนเองในทำนองเดียวกับรัฐบาลบราซิล เพื่อไม่ให้เสียเปรียบความสามารถในการแข่งขันทางการค้า

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ