Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 ต.ค. 2552
Summary:
1. พาณิชย์เผย ก.ย. ส่งออกหดตัว -8.5 ต่อปี
2. คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.25
3. โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ แนะภาคอุตสาหกรรมควรปรับตัวรับเศรษฐกิจโลกในอนาคต
Highlight:
1. พาณิชย์เผย ก.ย. ส่งออกหดตัว -8.5 ต่อปี
- ก.พาณิชย์แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศเดือน ก.ย. 52 ว่า การส่งออกมีมูลค่า 14,905 ล้านดอลลาร์ หดตัว -8.5 ต่อปี จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 12,925 ล้านดอลลาร์ หดตัว -17.9 ต่อปี ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 1,980 ล้านดอลลาร์ สำหรับการส่งออกทั้งปีนี้คาดว่าจะติดลบราวร้อยละ 10 - 13 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ใช้ได้ ท่ามกลางการสนับสนุนด้านนโยบายต่างๆ จากรัฐบาลในการช่วยเหลือผู้ส่งออก และคาดว่าการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จะสามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้
- สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกที่หดตัวชะลอลงมากนั้น เหตุผลหลักมาจากเศรษฐกิจคู่ค้าที่เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศจีนที่ขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อปี ทั้งนี้ สินค้าที่ส่งออกได้ดีในเดือนนี้ ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง และเคมีภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่มีแนวโน้มดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกทองคำมูลค่า 1,012.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 163.2 ต่อปี ซึ่งหากไม่นับรวมทองคำแล้ว การส่งออกไทยในเดือน ก.ย. 52 จะหดตัวร้อยละ -12.7 ต่อปี ทั้งนี้ สศค. คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 52 จะหดตัวอยู่ในช่วงร้อยละ (-16.2) - (-18.2) ต่อปี (ประมาณการ ณ ก.ย. 52)
2. คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.25
- คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย มีมติคงอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ไว้ที่ร้อยละ 1.25 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ต่อไป นับเป็นการคงดอกเบี้ยครั้งที่ 4 ติดต่อกัน ตรงตามที่นักวิเคราะห์คาดไว้ โดย กนง.กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบัน ยังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสมที่จะเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นการฟื้นตัวแบบต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนั้น ยังต้องพึ่งพาการกระตุ้นจากภาครัฐควบคู่กันไป เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงอยู่ ขณะที่แรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อในขณะนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/52 มีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ล่าสุดมูลค่าการส่งออกเดือน ก.ย.52 หดตัวเพียงร้อยละ 8 ต่อปี น้อยที่สุดในรอบ 9 เดือน สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไป ทั้งนี้ คาดว่า ธ.พาณิชย์จะเริ่มทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยตั้งแต่ช่วงปลายปี 52 ถึงต้นปี 53 เป็นต้นไป เนื่องจากความต้องการสินเชื่อในไตรมาส 4/52 ที่จะเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากผู้ส่งออกที่เร่งผลิตสินค้าเพื่อสร้างสต๊อกรองรับกับช่วงเทศกาลปีใหม่ และภาคการท่องเที่ยวที่จะเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว
3. โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ แนะภาคอุตสาหกรรมควรปรับตัวรับเศรษฐกิจโลกในอนาคต
- นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมควรปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกในช่วง 10 ปีข้างหน้า เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมยังเป็นสาขาสำคัญในการรองรับการจ้างงาน พร้อมทั้งย้ำว่าไทยต้องทบทวนนโยบายที่พึงพาการส่งออกจากตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ ซึ่งกำลังมีปัญหาเรื้อรังที่ไม่อาจแก้ไขได้ในระยะเวลาอย่างน้อย 1-2 ปีข้างหน้า ดังนั้น ไทยอาจต้องมองตลาดอื่นๆ เพื่อเป็นตลาดรองรับสินค้า รวมถึงมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
- สศค. วิเคราะห์ว่า ในปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกในอนาคต เนื่องจากสถานการณ์การค้าโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะเกี่ยวกับกฎระเบียบการค้าเสรี (FTA) และมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barrier) ที่เกี่ยวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง คาดว่าการค้าระหว่างประเทศจะพึ่งพาการส่งออกจากตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ ลดลง และจะมีการค้าขายกับกลุ่มประเทศเกิดใหม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจีน และอินเดีย ซึ่งมีจำนวนประชากรสูง และคาดว่าจะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นมากในอนาคต
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th