รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 26 ตุลาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 26, 2009 11:42 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 26 ต.ค. 2552

Summary:

1. ธปท.รอคลังอนุมัติไมโครไฟแนนซ์

2. จีน-ญี่ปุ่น ร่วมลงขันพัฒนาอาเซียน 1.53 ล้านล้านบาท

3. ค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าสร้างความกังวลกับประเทศคู่แข่ง

Highlight:
1. ธปท.รอคลังอนุมัติไมโครไฟแนนซ์
  • รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เผยถึงความคืบหน้าแผนการให้บริการทางการเงินกับคนระดับรากหญ้า หรือไมโครไฟแนนซ์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 2 หรือมาสเตอร์แพลน 2 (ระหว่างปี 2552-2556) ว่าหากดำเนินการได้จริงถือเป็นการลดปัญหาของหนี้นอกระบบได้ในระดับหนึ่งเพราะจะทำให้กลุ่มประชาชนระดับรากหญ้าเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นและไม่ต้องเสียอัตราดอกเบี้ยแพงให้กับเจ้าหนี้นอกระบบ ซึ่งในขณะที่ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดซึ่งหากเห็นชอบสามารถดำเนินการได้ทันที
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การพัฒนาระบบการให้สินเชื่อรายย่อยมีความจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของภาคประชาชน ทั้งนี้ รัฐบาลมีโครงการ Fast Track เพื่อช่วยเร่งการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 7 แห่ง วงเงินสินเชื่อปี 52 มีประมาณ 927,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่ประชาชนฐานรากและผู้ประกอบการ SMEs ในภาคการเกษตร ท่องเที่ยว ส่งออก และอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ ธ.ออมสินและธ.ก.ส.ได้ตั้งเป้าหมายให้สินเชื่อจำนวน 32,000 ล้านบาท โดยได้มีการให้สินเชื่อแก่กลุ่มประชาชนระดับรากหญ้าผ่านธ.ออมสินและธ.ก.ส. แล้วจำนวน 307,506 ราย คิดเป็นจำนวน 12,970 ล้านบาท
2. จีน-ญี่ปุ่น ร่วมลงขันพัฒนาอาเซียน 1.53 ล้านล้านบาท
  • ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เปิดเผยว่า จีนกับญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนในกองทุนความร่วมมือระหว่งกันโดยจีนให้การสนับสนุนความร่วมมือการลงทุนอาเซียน-จีนและจีน-อาเซียน มูลค่ารวมกว่า 8.5 แสนล้านบาท เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโครงสร้างพิ้นฐานด้านโทรคมนาคมเครือข่าย สำหรับญี่ปุ่นจะให้ความช่วยเหลือให้แกประเทศกำลังพัฒนาในเอเซีย ดังนั้น ทั้งจีนและญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนเงินทุนแก่อาเซียนรวมกว่า 1.53 ล้านล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ประเทศจีนและญี่ปุ่นที่เข้ามาให้การสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือให้กับประเทศในแถบอาเซียน และประเทศกำลังพัฒนาภายใต้กรอบ ASEAN+3 นั้น เป็นการเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค เพื่อลดช่องว่างการพัฒนาของประเทศต่างๆ โดยจำเป็นต้องมีการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมทางถนน ทางอากาศ และทางทะเล รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่งในระยะยาว ซึ่งจะทำให้ทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การให้ความช่วยเหลือดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการบริโภคและการลงทุน ทำให้การจ้างงานภายในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มสูงขึ้น
3. ค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าสร้างความกังวลกับประเทศคู่แข่ง
  • ในช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐที่ได้อ่อนค่าได้สร้างความกังวลให้กับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียในประเด็นทิศทางของค่าเงินหยวนของจีนที่อ่อนค่าลงเช่นกัน เนื่องจากประเทศในภูมิภาคเอเชียต้องแข่งขันในการส่งออกสินค้ากับประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางต่างๆ ในเอเชียจำเป็นต้องแทรกแซงค่าเงินเพื่อรักษาค่าเงินของประเทศเทียบสกุลเงินดอลล่าร์ ทำให้ทุนสำรองเพิ่มขึ้นมาก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทเทียบกับเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นร้อยละ 3.75 จากช่วงต้นปี 52 และเมื่อเทียบเป็นค่าเงิน NEER พบว่า ค่าเงินบาทได้แข็งค่าเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทยที่ประมาณร้อยละ 1.1 จากช่วงต้นปี ซึ่งสะท้อนการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของประเทศในด้านราคา ทั้งนี้ หลายฝ่ายเห็นว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจการเงินโลกในอนาคตอาจจำเป็นต้องทำให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียมีการแข็งค่ามากขึ้น และลดการพึ่งพาการส่งออก (Export-oriented Growth) ของภูมิภาคเอเชียที่มากเกินไป

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ