รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 19 - 22 ตุลาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 26, 2009 11:51 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week

ผลการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาลในปีงบประมาณ 52 มีจำนวน 1.408 ล้านล้านบาท คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -8.9 ต่อปี และต่ำกว่าที่ประมาณการรายได้ตามเอกสารงบประมาณจำนวน 1.96 แสนล้านบาทเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ผลการจัดเก็บรายได้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมว่ารายได้ของรัฐบาลจะต่ำ กว่าประมาณการรายได้ถึง 2.8 แสนล้านบาท สำหรับในปีงบประมาณ 53 กระทรวงการคลังประมาณการรายได้จัดเก็บสุทธิ 1.35 ล้านล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมาย จากปัจจัยเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นในปัจจุบัน

ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน ก.ย. 52 หดตัวที่ร้อยละ-9.6 ต่อปี หดตัวในอัตราชะลอลงมากจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -15.2 ต่อปี โดยได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกมีสัญาณการฟื้นตัวมากขึ้น ส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้ามาผลิตเพื่อการส่งออกมากขึ้น จึงทำให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งการจัดเก็บบนฐานการบริโภคในประเทศและบนฐานของการนำเข้าปรับตัวดีขึ้นตาม

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ก.ย. 52 หดตัวลงที่ร้อยละ -5.1 ต่อปี ส่งผลให้ไตรมาสที่ 3 ของปี 52 หดตัวร้อยละ -6.6 ต่อปี โดยถือว่าเป็นการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ที่หดตัวร้อยละ -34.1 ต่อปี ซึ่งสะท้อนถึงทิศทางการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้างที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ นโยบายรัฐบาลที่ลดอัตราภาษีสำหรับธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีผลต่อเนื่องถึงเดือน มี.ค.53 เพื่อเป็นการกระตุ้นการลงทุนและกำลังซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค

มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปดอลลาร์สหรัฐ เดือน ก.ย. 52 หดตัวที่ร้อยละ -8.5 ต่อปี หดตัวในอัตราที่ชะลอลงมากจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -18.4 ต่อปี โดยเป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าหมวดสำคัญที่ปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่หดตัวร้อยละ -5.3 และ -10.9 ต่อปี หดตัวลดลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -11.6 และ -11.2 ต่อปีตามลำดับ นอกจากนี้ การส่งออกเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และโครงก่อสร้างที่ทำด้วยเหล็กได้เพิ่มขึ้นด้วย สำหรับราคาสินค้าส่งออกหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.6 ต่อปี และปริมาณการส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ -8.0 ต่อปี ในส่วนของมูลค่านำเข้าสินค้ารวมในรูปดอลลาร์สหรัฐ เดือน ก.ย. 52 หดตัวร้อยละ -17.9 ต่อปี หดตัวในอัตราชะลอลงมากจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -32.8 ต่อปี จากการฟื้นตัวของการนำเข้าสินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวเพียงร้อยละ -8.2 และ -4.9 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่การนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงและยานพาหนะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 2.1 และ 2.0 ต่อปี ทั้งนี้ดุลการค้าเดือนก.ย. 52 เกินดุล 2.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

การประชุม กนง. เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 52 มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี จากความเห็นของ กนง.ที่ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสมที่จะเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจากการประเมินพบว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่แรงกดดันของเศรษฐกิจต่อภาวะเงินเฟ้อขณะนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ

Economic Indicators: Next Week

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ก.ย. 52 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -1.0 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวในอัตราที่ชะลอลงมากจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -8.6 ต่อปี เนื่องจากปัจจัยบวกจากการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น ตามมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือน ก.ย.52 ที่หดตัวเพียงร้อยละ -5.7 ต่อปี ดีขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -15.9 ต่อปี

Foreign Exchange Review

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าเมื่อเทียบกับค่าเงินส่วนใหญ่ยกเว้นค่าเงินยูโร ปอนด์ และบาท

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินหลักหลายสกุลในภูมิภาคเนื่องจากมีการเข้าถือครองสินทรัพย์สกุลดอลลาร์สหรัฐซึ่งถูกมองว่ามีความปลอดภัยมากกว่า (Safe haven) เนื่องจากมีตัวเลขทางเศรษฐกิจที่บ่งชี้ถึงความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น อาทิ (1) การประกาศผลประกอบการของธนาคารอเมริกา (Bank of America) ในไตรมาสที่ 3 ที่ขาดทุน (2) ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่จัดทำโดย University of Michigan ประจำเดือน ต.ค. ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 69.4 จุดจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 73.5 จุด (3) ตัวเลขยอดขายบ้าน (Housing starts) ในเดือน ก.ย. ที่อยู่ที่ 590,000 หลัง ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 587,000 หลังแต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับที่น้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้มากที่ 610,000 หลัง ในขณะเดียวกันการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลดลงไปมากในช่วงที่ผ่านได้ส่งผลให้ตลาดมองว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอาจปรับตัวลดลงไปมากกว่าปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริงจึงมีการเริ่มถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐมากขึ้นและส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นตามลำดับ

ค่าเงินยูโรในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นตามแรงความต้องการที่จะลงทุนในสินทรัพย์ในรูปสกุลยูโรประกอบกับตลาดมองว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้ม ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก่อน FED ซึ่งคาดว่าจะให้ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยที่สูงกว่าในอนาคตอันใกล้นี้จึงได้นำเงินลงทุนออกจากสกุลดอลลาร์สหรัฐมาลงทุนในรูปยูโรมากขึ้นและส่งผลให้ค่าเงินยุโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นที่ร้อยละ 0.36 นับจากช่วงสัปดาห์ก่อนสวนทางกับค่าเงินในภูมิภาคสกุลอื่นๆที่อ่อนค่าลง ในขณะที่หากพิจารณาเทียบกับช่วงต้นเดือน ต.ค. พบว่าเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินภูมิภาคสกุลอื่นๆ

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นที่ร้อยละ 0.36 เทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าตามแรงไหลเข้าของเงินทุนสู่ตลาดหลักทรัพย์ของนักลงทุนในสัปดาห์นี้หลังจากที่คลายความกังวลต่อข่าวลือในเชิงลบที่ไม่มีมูลความจริงในสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยปริมาณซื้อของต่างชาติสุทธิในสัปดาห์นี้เท่ากับ 900 ล้านบาท เนื่องจากเป็นการปรับการถือครองหลังจากที่มีการเทขายออกไปในสัปดาห์ก่อนหน้า ในขณะเดียวกันปัจจัยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ที่ร้อยละ 1.25 ต่อปีและการเกินดุลการค้าอย่างต่อเนื่องของไทยนั้นได้ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเช่นกัน

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 12 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐปอนด์สเตอร์ลิงค์ ยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลีดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 22 ต.ค. 52 แข็งค่าขึ้นจากค่าเงิน ณ วันที่ 1 ม.ค. 52 ที่ร้อยละ 1.04 ละแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 0.53

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน (ร้อยละ 4.3) หยวน (ร้อยละ 4.1) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 4.0) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 4.0) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 2.5) เปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 2.4) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 1.4) ดอลลาร์สิงคโปร์(ร้อยละ 0.6) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับรูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ -9.7) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ -8.6) ยูโร (ร้อย -3.1) และวอนเกาหลี (ร้อยละ -3.0) ตามลำดับ

Foreign Exchange and Reserves

ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 16 ต.ค.52 ทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิ (Net Reserve) อยู่ที่ระดับ 156.69 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นสุทธิ 1.82 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้า โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำ นวน 2.07 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นการลดลงของ Forward Obligation จำนวน -0.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาท เพื่อดูแลเสถียรภาพค่าเงินไม่ให้แข็งค่าขึ้นมากนัก ในสภาวะที่มีปริมาณเงินที่ไหลเข้าผ่านดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง เห็นได้จากการเกินดุลการค้าตามระบบกรมศุลกากรในเดือน ก.ย.52 ที่ 2.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับ คาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นจากการที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยมีการขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 17.0 ต่อปี ทั้งนี้ การบริหารจัดการค่าเงินของธปท.ในสัปดาห์ที่ผ่านมาทำให้ค่าเงินบาท อ่อนค่าลงจาก ณ วันที่ 9 ต.ค.52 ที่ระดับ 33.28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 33.47 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในสัปดาห์นี้ (16 ต.ค.52)

Major Trading Partners’ Economies: This Week

ยอดบ้านใหม่เริ่มสร้าง (Housing Starts) ของสหรัฐฯ เดือน ก.ย.52 อยู่ที่ 590,000 หลัง หรือคิดเป็นร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ปรับตัวดีขึ้นจากเดือน ส.ค.ที่ขยายตัวร้อยละ -1.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ตัวเลขปรับปรุง) โดยปัจจัยหลักมาจากการขยายตัวของการก่อสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับครอบครัวเดี่ยว ในขณะที่ใบขออนุญาตก่อสร้าง (Building Permits) ของสหรัฐฯ เดือนก.ย.52 อยู่ที่573,000 หลัง หดตัวที่ร้อยละ -1.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่ง ปรับตัวลดลงจากเดือน ส.ค. 52 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สะท้อนว่าสัญญาณการฟื้นตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ยังไม่ชัดเจนและยังต้องการการกระตุ้นอุปสงค์จากมาตรการของภาครัฐ

การส่งออกสินค้าของญี่ปุ่นในเดือน ก.ย. 52 หดตัวลงร้อยละ-30.7 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -36.0 ต่อปีในขณะที่การนำเข้าสินค้าหดตัวร้อยละ -36.9 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -41.3 ต่อปีเช่นกัน ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลที่ 520.6 พันล้านเยน ทั้งนี้ การส่งออกของญี่ปุ่นที่หดตัวชะลอลงเป็นผลจากอุปสงค์ของสินค้าอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นจากประเทศจีนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน

GDP ของจีนไตรมาส 3 ปี 52 ขยายตัวร้อยละ 8.9 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในปีนี้ สะท้อนว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนชัดเจนมากขึ้น โดยการขยายตัวเพิ่มขึ้นของ GDP เป็นผลจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ประกอบกับนโยบายการขยายสินเชื่อที่ช่วยให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวขึ้น ทำให้ผู้กำหนดนโยบายของจีนเริ่มกังวลต่อภาวะฟองสบู่ทางเศรษฐกิจในอนาคตและเริ่มคำนึงถึงการชะลอการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังลงทั้งนี้ การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีน ทำให้เศรษฐกิจจีนในปี 52 มีโอกาสที่จะขยายตัวประมาณร้อยละ 8 ต่อปี

ผลผลิตอุตสาหกรรมของจีนเดือน ก.ย. 52 ขยายตัวร้อยละ 13.9 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.3 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 และเป็นการขยายตัวสูงสุดในปี 52 โดยได้รับอานิสงค์จากผลผลิตยานยนต์ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 78.7ต่อปี และผลิตภัณฑ์เหล็กที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 31.6 ต่อปี ทั้งนี้รถยนต์ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติรายใหญ่ในจีนเปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์ในจีนเดือน ก.ย. 52 อยู่ที่ 1.5 แสนคัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในประวัติศาสตร์

การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในเขตเมืองของจีนช่วง 9 เดือนแรกของปี 52 ขยายตัวร้อยละ 33.3 ต่อปี อันเป็นผลจากโครงการลงทุนใหม่ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในด้านการคมนาคมขนส่งระบบรางและการลงทุนในเหมืองแร่ สะท้อนว่าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนมูลค่า 586 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ลงไปสู่ภาคการก่อสร้างโดยเฉพาะการสร้างถนนและโรงไฟฟ้า ส่งผลให้การลงทุนในภาคก่อสร้างขยายตัวเพิ่มขึ้น

อัตราเงินเฟ้อของจีนเดือน ก.ย. 52 อยู่ที่ร้อยละ -0.8 หดตัวน้อยกว่าเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ -1.2 และเป็นการหดตัวที่รุนแรงน้อยสุดนับตั้งแต่ที่อัตราเงินเฟ้อของจีนเริ่มติดลบในเดือน ก.พ. 52 อันเป็นผลจากราคาสินค้าในหมวดอาหาร หมวดสุรายาสูบและหมวดยารักษาโรคที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาเครื่องนุ่งห่ม การขนส่งสื่อสาร และที่พักอาศัยที่หดตัวในอัตราที่ชะลอลง ซึ่งสะท้อนว่าผู้บริโภคจีนเริ่มจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น และสะท้อนว่าเศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น

ตัวเลขการส่งออกไม่รวมน้ำมันของประเทศสิงคโปร์ในเดือน ก.ย.52 หดตัวเท่ากับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -7.2 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าเพิ่มขึ้นจากเดือน ส.ค. 52 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.2 โดยสินค้าที่ส่งออกส่วนใหญ่ยังคงเป็นสินค้าประเภทเวชภัณฑ์ ทั้งนี้ การที่ธนาคารกลางสิงคโปร์เข้าไปแทรกแซงค่าเงินนั้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคการส่งออกของประเทศในช่วงที่ผ่านมา

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ